โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส หรือเสียเปรียบในการเข้าถึงการศึกษา นักเรียนหลายคนขาดแคลนทั้งทุนทรัพย์และทรัพยากร ครูผู้สอนจึงต้องเผชิญกับอุปสรรคที่ท้าทายอย่างยิ่งในการยกระดับการศึกษา
ครูดีธนา แย้มวงษ์ ครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 กล่าวว่า “ครูเคยสอนโรงเรียนในกรุงเทพ เด็กเมืองจะมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรมากกว่า นักเรียนหลายคนมักมีพื้นมาก่อนเข้าชั้นเรียน สามารถนำโจทย์นอกห้องมาซักถามครูผู้สอนได้ทันที กลับกันในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์แห่งนี้ นักเรียนหลายคนขาดพื้นฐาน บางคนไม่ได้เข้าเรียนตามเกณฑ์อายุที่กระทรวงกำหนด ความท้าทายจึงกลายเป็นว่า ครูจะทำอย่างไรเพื่อให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหา”
“คณิตศาสตร์เป็นเรื่องธรรมดาอยู่แล้ว ไม่ว่าโจทย์นั้นจะยากหรือง่าย นักเรียนมักจะปฏิเสธทันที ครูจึงต้องคิดหาวิธีให้นักเรียนเห็นแล้วไม่เดินหนี แต่อยากจะเข้ามาเรียนรู้ ต้องหาสื่อจากข้างนอกมาดึงความสนใจ รวมถึงกลวิธีที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจเรื่องที่สอน นับว่าท้าทายกว่าการสอนเด็กกรุงเทพมาก เพราะนักเรียนขาดทรัพยากรพื้นฐานที่จำเป็น”
ในยุคที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ยิ่งเพิ่มความท้าทายให้แก่ครูในโรงเรียนสำหรับเด็กด้อยโอกาส โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรถึงจะสามารถทำให้นักเรียนก้าวทันโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว คุณครูดีธนามีความเห็นว่าวิชาคณิตศาสตร์กับสื่อโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องที่สามารถประยุกต์เข้าด้วยกันได้ เมื่อมีโอกาสได้มาเจอโครงการ “We think Digital” คุณครูจึงตัดสินใจเข้าร่วมทันที ซึ่งโครงการนี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้ร่วมมือกับบริษัท เฟซบุ๊ก จัดขึ้นเพื่อพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้แก่ครูไทย และต่อยอดสู่การศึกษาไทยที่มีคุณภาพ
“ปกติครูจะทำกิจกรรมในชั้นเรียนอยู่แล้ว แต่ไม่เป็นกิจจะลักษณะ หรือมีแบบแผนชัดเจนนัก โครงการได้เข้ามาช่วยเสริมจุดนี้อย่างมาก ทำให้ครูมีแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น และยังสามารถดึงดูดความสนใจของนักเรียนได้อีกด้วย”
การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในโรงเรียนถือว่าป็นเรื่องใหม่อย่างยิ่งทั้งกับครูและนักเรียน ครูดีธนายังกล่าวเสริมอีกว่า “ครูเคยวางแผนจะทำ Google Classroom มาก่อน แต่การจะทำห้องเรียนออนไลน์ได้นั้น นักเรียนทุกคนต้องมี Gmail ครูจึงถือโอกาสนี้ ประสานงานกับครูวิชาคอมพิวเตอร์อีกคนที่เข้าร่วมโครงการ นำเนื้อหาที่วิทยากรนำเสนอมาปรับใช้ เช่น เรื่องการตั้งรหัส ความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ต รวมถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์”
นอกจากการสื่อดิจิทัลแล้ว คุณครูดีธนายังนำเนื้อหาเกี่ยวกับ E-PBL มาปรับใช้ในการเรียนการสอนอีกด้วย เดิมทีนักเรียนส่วนใหญ่จะนึกภาพไม่ออกว่าจะนำคณิตศาสตร์ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร ทำให้นักเรียนไม่อาจตระหนักถึงความสำคัญของสาระวิชา แต่เมื่อครูเปิดโอกาสให้ลองค้นคว้าด้วยตัวเอง รวมถึงนำเนื้อหาองค์รวมมาสร้างโปรเจค ๆ หนึ่ง ผลสัมฤทธิ์ที่ออกมานับว่าน่าพึงพอใจอย่างยิ่ง ทักษะ 4C ที่สอนในระบบของ E-PBL (การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร)
“ในช่วงแรกที่นำกิจกรรมมาประยุกต์ใช้กับนักเรียนในชั้น ส่วนใหญ่จะส่ายหน้าหนีกันหมด แต่พอครูลองมอบหัวข้อให้นักเรียนไปสืบค้นด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้เจอคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวันจริง ๆ เด็ก ๆ จึงเปิดใจกับวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น และมองว่าวิชาเลขไม่ใช่เรื่องที่จับต้องไม่ได้แบบแต่ก่อน เช่น การใช้เลขยกกำลังในการคำนวณดอกเบี้ยเงินกู้ การทบต้นทบดอกทุนกยศ. นักเรียนรู้สึกสนุกและชื่นชอบการเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น เพราะได้ฝึกวิเคราะห์จากเรื่องใกล้ตัว และเห็นภาพรวมว่าคณิตศาสตร์สามารถนำไปใช้ควบคู่กับทักษะอื่น ๆ ได้อย่างกว้างขวาง” ครูดีธนา กล่าวปิดท้าย