ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่ประชาชนและสังคม
เรื่องราวของคุณกนกวรรณสะท้อนภาพชีวิตคนเมืองกรุงส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี เธอเกิดที่จังหวัดกาฬสินธุ์ แล้วย้ายภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพื่อทำงานในกรุงเทพฯ กับสามี โดยเธอเองทำงานเป็นแม่บ้าน ส่วนสามีขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แม้ว่าจะมีรายได้แต่รายจ่ายฟุ่มเฟือยของครอบครัวทำให้เกิดหนี้สินและไม่มีเงินออม ทั้งคู่ต้องยืมเงินจากแม่ของเธอซึ่งเป็นชาวนาและรับจ้างตัดเย็บในจังหวัดกาฬสินธุ์มาผ่อนชำระหนี้
นอกจากนี้ ทางคีนันได้น้อมนำแนวพระราชดำริ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาผสมผสานกับหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล โดยเชื่อมโยงกับความหมายเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งประกอบด้วยคุณสมบัติ 3 ประการ ได้แก่
– ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยหรือไม่มากเกินไปจนเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น โดยผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะได้เรียนรู้วิธีการใช้จ่ายแต่พอดี เพื่อให้มีเงินออมทุกเดือน
– ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาอย่างรอบคอบถึงเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องและผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยผู้ร่วมโครงการนี้จะได้เข้าใจถึงความแตกต่างระหว่างความต้องการกับความจำเป็น และมองเห็นถึงค่าใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายของตนเอง ทำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินในอนาคตได้ เป็นต้น
– ภูมิคุ้มกัน หมายถึง การเตรียมพร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยโครงการนี้จะเน้นย้ถึงความสำคัญของเงินออมสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในอนาคต
ตลอดเวลา 8 ปี (พ.ศ. 2551-2558) คีนันและมูลนิธิซิตี้ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมกลุ่มผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงที่ขาดความมั่นคงในด้านอาชีพ ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มผู้ต้องขังหญิง กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานกลางคืน และกลุ่มผู้หญิงจากชุมชนแออัด รวม 3,022 คน เพื่อให้พวกเธอเข้าใจถึงสถานการณ์หนี้สินของตนเองและสามารถตั้งเป้าหมายทางการเงิน อันนำไปสู่ความพอเพียงในการดำเนินชีวิตและความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจในระดับครอบครัวของผู้เข้าร่วมอบรมต่อไป
“ดำเนินชีวิตให้เรียบง่ายโดยปฎิบัติตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”
หลังเข้าร่วมการอบรม คุณกนกวรรณเริ่มนำทักษะทางการเงินที่ได้รับมาปรับใช้ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชีวิตของเธอ โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายชีวิตว่าจะคืนเงินที่ขอยืมจากแม่มาเพื่อจ่ายหนี้ให้หมด จากนั้นเธอเริ่มทำบัญชีครัวเรือน ทำให้เธอสามารถแยกประเภทค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและไม่จำเป็นได้ เธอสามารถตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออก และเปลี่ยนค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมาเป็นเงินออม ท้ายที่สุดครอบครัวของเธอก็เริ่มมีเงินเก็บ และค่อยๆ ห่างไกลจากการเป็นหนี้
คุณกนกวรรณได้ค้นพบเคล็ดลับง่ายๆ ในการสร้างความมั่นคงทางการเงิน คือ เก็บออมทีละน้อยโดยลดพฤติกรรมฟุ่มเฟือยลง ปัจจุบันเธอได้แบ่งปันเคล็บลับในการออมให้กับเพื่อนๆ เพื่อนบ้าน และสมาชิกคนอื่นๆ ในชุมชน เธอสนับสนุนให้ทุกคนออมเท่าที่แต่ละคนจะออมได้ ซึ่งเงินออมจำนวนน้อยนิดในวันนี้จะเติบโตขึ้นเป็นเงินก้อนโตในอนาคตได้ ถ้ามีการออมอย่างต่อเนื่อง การเข้าฝึกอบรม ไม่เพียงแต่ทำให้คุณกนกวรรณมีทักษะและแนวทางในการบริหารจัดการเงินที่ดีเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปยังครอบครัวให้มีความมั่นคงทางการเงิน
ปัจจุบันและอนาคต
ณ ปัจจุบัน คุณกนกวรรณในวัย 26 ปี ยังคงปฎิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและนำทักษะการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่ได้เรียนรู้จากโครงการ “ผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้” มาใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้ครอบครัวเธอมีเงินออมประมาณ 25,000 บาทแล้ว ซึ่งเธอตั้งใจเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของลูกสาววัยสี่ขวบ ยิ่งไปกว่านั้นเธอสามารถผ่อนชำระหนี้รถมอเตอร์ไซต์ทั้ง 2 คันจนหมด ซึ่งนับเป็นการลงทุนเพื่อหารายได้เพิ่มเติมมาสู่ครอบครัว
คุณกนกวรรณตั้งเป้าหมายชีวิตที่จะเก็บเงินเพิ่มสักก้อนเพื่อเป็นทุน และในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ เธอและครอบครัวจะย้ายกลับไปอยู่ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อดูแลคุณแม่ และจะประกอบอาชีพปลูกข้าว โดยจะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตตลอดไป