Strong leaders stories (TH), Uncategorized @th

“ใจเดียวกัน”

ม.ค. 26,2023

Strong leaders

เรื่องราวของกลุ่มคนจากหลากหลายอาชีพ อาทิ ช่างเย็บผ้า แม่ครัว รับจ้างทั่วไป และนักเรียน ที่ต่างก็มีเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ อิสรภาพทางการเงิน

คุณประภาศรี จันทร์เล็ก ผู้นำชุมชนของสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงชุมชนฟ้าใหม่ (กทม.) เปิดสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายที่เธอจดบันทึกไว้ พร้อมเล่าเรื่องราวการใช้จ่ายเงินของเธอในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ณ วันที่ 5 สิงหาคม คุณประภาศรี ได้จดบันทึกรายได้จากการรับจ้างเย็บผ้าเป็นจำนวน 300 บาท ในสมุดบัญชีของเธอ ส่วนช่องรายจ่ายของทั้งเดือนนั้น พบว่ามีเพียงรายการเดียวที่ถูกทำเครื่องหมายไว้ในช่อง รายจ่ายที่ไม่จำเป็น นั่นก็คือ “เสื้อผ้าของลูก”

“ฉันรู้สึกภูมิใจกับตัวเองมาก” คุณประภาศรีพูดด้วยดวงตาเป็นประกาย

กว่าหลายเดือนที่ผ่านมา สตรีวัย 56 ปีผู้นี้ ทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมในการพาสมาชิกทีมอีกจำนวน 4 คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันคว้าชัยชนะในการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเงินของโครงการ “พัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน” ซึ่งดำเนินโครงการฯ โดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย (คีนัน)

คุณประภาศรี เริ่มต้นเล่าเรื่องราวกว่าทีมของเธอจะได้รับรางวัลในวันนี้ว่า “ฉันต้องออกจากโรงเรียนหลังจากจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4” แม้ว่าเธอทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัวตั้งแต่อายุยังน้อย แต่เธอก็เป็นหนึ่งในแรงงานไทยจำนวนมากที่ได้รับแค่ค่าแรงขั้นต่ำและมีรายได้ที่ไม่แน่นอน ทำให้ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่มีความมั่นคงในอาชีพและชีวิต รวมทั้งประสบกับปัญหารายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ทำให้ครอบครัวของคุณประภาศรีต้องเผชิญกับภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวมาโดยตลอด

“ตลอดชีวิตของฉัน ไม่เคยมีเงินออมเลย บางครั้งฉันไม่สามารถจ่ายค่าน้ำค่าไฟเดือนละ 1,000 บาทได้ด้วยซ้ำ ทำให้ฉันต้องไปพึ่งพาเงินกู้นอกระบบ” และจากเหตุการณ์นี้เอง คุณประภาศรีต้องพบเจอกับเจ้าหนี้นอกระบบที่มาดักรอหน้าประตูบ้านทุกวันเพื่อทวงหนี้

“ถ้าพูดถึงงานในโรงงานที่ฉันทำ แม้ว่าฉันจะมีฝีมือและทักษะในการเย็บผ้าที่เก่งมาก แต่ฉันก็ไม่สามารถที่จะได้รับค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้เลย” แม้ว่าคุณประภาศรีจะไม่สามารถหาวิธีที่จะเพิ่มรายได้ของเธอได้ง่ายนัก แต่อย่างน้อยเธอก็สามารถเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการเงินของเธอเองได้ ซึ่งช่วยให้ความเครียดต่าง ๆ ในชีวิตของเธอลดลงบ้าง เธอกล่าวต่อว่า “ฉันเชื่อว่า ความรู้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น”

คุณประภาศรี ได้รับการแนะนำให้เข้าร่วมการอบรมเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลของคีนัน ซึ่งเป็นโครงการฯ ที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิซิตี้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ หลังการอบรม คุณประภาศรีได้นำสมุดบัญชีรายรับ-รายจ่ายกลับบ้านและเริ่มปรับประยุกต์ใช้ความรู้เรื่องทางการเงินที่ได้อบรมมาใช้กับชีวิตของเธอ โดยตั้งใจจดบันทึกรายจ่ายต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมทางการเงินของตนเอง นอกจากนี้ คุณประภาศรียังมีการตั้งเป้าหมายทางการเงินไว้ว่า จะเก็บเงินออมไว้เผื่อฉุกเฉิน โดยจะออมเงินให้ได้อย่างน้อยเดือนละ 800 บาท และหวังว่าในอนาคตจะสามารถเพิ่มเป็นเดือนละ 900 และ 1,000 บาท ซึ่งเธอขยันจดจดบันทึกรายรับและรายจ่ายของเธอในทุก ๆ วัน

“ตอนนี้ฉันมีเงินประมาณ 5,000 บาทในบัญชีเงินออมของฉันแล้วค่ะ และฉันรู้สึกภูมิใจที่ไม่ต้องไปกู้ยืมเงินกับเจ้าหนี้นอกระบบเวลาที่จะต้องใช้เงินอีกแล้ว”

เมื่อคุณประภาศรี ทราบว่าโครงการฯ จะมีการจัดกิจกรรม “ขยันจด ลดฟุ่มเฟือย เพื่ออนาคต” ขึ้น โดยมีรางวัลให้กับทีมที่ชนะกับกิจกรรมนี้ด้วย เธอจึงตัดสินใจชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนที่เธอรู้จักว่ามีใครสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์จากความรู้ที่ได้อบรมทางการเงินอย่างเต็มที่

“ฉันรู้สึกว่า เงินได้หายไปกับสายลมแล้ว”

คุณประภาศรี เดินเคาะประตูตามบ้าน เพื่อชักชวนเพื่อนบ้านเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้ แต่ก็ค้นพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

“สิ่งที่อยากที่สุดก็คือการพูดเชิญชวนให้คนสมัครนี่แหล่ะค่ะ มีสมาชิกชุมชนมากกว่า 3 คนที่ปฏิเสธฉัน พวกเขาบอกว่าไม่คิดว่าจะชนะได้” คุณประภาศรีกล่าวเสริมว่า “บางทีอาจเป็นเพราะระดับการศึกษาของฉันที่ไม่สูง”

แม้ว่าต้องเผชิญคำปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณประภาศรีก็ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ และยังคงพยายามบอกเพื่อนบ้านว่า “ไม่ต้องกังวลถ้าพวกเราไม่มีความรู้เรื่องการวางแผนรายรับรายจ่ายของครัวเรือน เพราะเจ้าหน้าที่ของคีนันใจดีและพร้อมที่จะให้ความรู้และแนะนำพวกเราอยู่แล้ว”

ท้ายที่สุด ด้วยความพยายามของคุณประภาศรี เธอประสบความสำเร็จในการชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนจำนวน 4 คน ที่เปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับทักษะและความรู้เรื่องทางการเงิน รวมทั้งตั้งใจจริงที่จะปรับเปลี่ยนและฝึกฝนพฤติกรรมทางการเงินที่ดี โดยเข้าร่วมกิจกรรมนี้ไปด้วยกัน

คุณศศิธร แก่นอาชา วัย 42 ปี ซึ่งเป็นแม่ครัวให้กับโรงอาหารของมหาวิทยาลัยราชภัฏแห่งหนึ่งกล่าวว่า “อยากเข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะว่ามีรายจ่ายมากกว่ารายรับมาโดยตลอด โดยเฉพาะปัญหาสุขภาพของสามี”

คุญขวัญใจ สายธารจิตต์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงวัย 19 ปี ที่เรียนไปด้วยทำงานไปด้วยเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายระหว่างเรียน กล่าวว่า “ฉันอยากเรียนรู้ว่าเวลาที่เงินเข้ามาแล้ว ทำไมหายไปเร็วจัง” เธอกล่าวพร้อมกับรอยยิ้มเล็ก ๆ

คุณนารี เปรี้ยวหวาน ผู้มีอาชีพรับจ้างทั่วไปในวัย 42 ปี กล่าวว่า “ฉันรู้สึกมาตลอดว่า เงินมักหายไปกับสายลม”

คุณประภาศรีคือผู้เชื่อมกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ด้วยกัน ซึ่งเธอจะคอยติดตามผลความคืบหน้าของสมาชิกในทีมแต่ละคนและคอยให้กำลังใจทุกคนเสมอ

คุณประภาศรีกล่าวว่า “ทีมเราตั้งชื่อว่า ใจเดียวกัน เพราะเรามีจิตใจและความคิดเหมือนกันและการกระทำแบบเดียวกัน ถ้าเรามีหัวใจที่แตกต่างกันออกไป เราก็คงไปกันคนละทิศคนละทาง ดังนั้น เราทุกคนมีหัวจใจเดียวกัน จึงต่อสู้ด้วยกันเป็นทีม”

“ฉันฝันใหญ่และจะไปให้ถึง”

ที่การอบรมเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล วิทยากรของคีนันสอนขั้นตอนในการวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เริ่มต้นด้วยการตั้งเป้าหมายทางการเงิน ค้นหาแรงบันดาลใจ และวางแผนการลงมือปฏิบัติอย่างมีวินัย

คุณศศิธร มีเป้าหมายที่จะเก็บเงินให้ได้เดือนละ 700 บาท เพื่อไว้ใช้สำหรับเป็นค่ารักษาพยาบาลเพื่อดูแลสุขภาพของสามี

คุณนารี มีเป้าหมายที่จะเก็บเงินไว้สำหรับการศึกษาของลูกเธอ ซึ่งขณะนี้อายุ 15 ปี

คุณขวัญใจ มีเป้าหมายที่จะเก็บเงินออมเพื่อจ่ายค่าเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยและค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตต่าง ๆ เธอพร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันฝันใหญ่และจะไปให้ถึงค่ะ และฉันก็ไม่อยากรบกวนครอบครัวเรื่องเงินอีกแล้ว ฉันอยากจะดูแลรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเองค่ะ”

การอบรมของคีนันนั้นเน้นการเรียนรู้ผ่านการเล่นเกมส์และทำกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ โดยจำลองสถานการณ์ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมอบรมจะพบเจอกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน และการตัดสินใจเลือกระหว่าง การจ่ายบิลค่าน้ำค่าไฟ หรือการจ่ายค่าโทรศัพท์ รวมถึงสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่าง ๆ อันเปรียบเสมือนการจำลองชีวิตจริงของผู้เข้าร่วมอบรมนั่นเอง

หนึ่งในกิจกรรมการอบรม แต่ละกลุ่มจะได้รับเงินมาจำนวนหนึ่งที่ไม่มากนัก และสมาชิกในกลุ่มต้องพูดคุยกันว่า จะจัดสรรเงินเพื่อใช้จ่ายไปกับเรื่องอะไรบ้าง หารือกันว่าค่าใช้จ่ายใดเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่จำเป็น โดยต้องจดบันทึกบัญชีครัวเรือน พร้อมกับระบุว่ารายการค่าใช้จ่ายใดเป็นรายจ่ายฟุ่มเฟือย กิจกรรมนี้จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมตระหนักถึงการใช้จ่ายไปกับสิ่งของไม่จำเป็นต่าง ๆ ทำให้มีการใช้จ่ายน้อยลง รวมถึงเป็นการเน้นย้ำให้รู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี

การอบรมนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า การออมเงินเพียงเล็กน้อยอย่างสม่ำเสมอสามารถเพิ่มพูนจนกลายเป็นเงินก้อนใหญ่ได้ในอนาคต ในขณะเดียวกัน หนี้สินก้อนเล็กก็สามารถกลายเป็นหนี้สินก้อนโตได้เช่นกัน ดังนั้นแล้ว การฝึกฝนและการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างนิสัยทางการเงินที่ดีอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ลดภาระหนี้สินและสร้างเงินออมให้เพิ่มพูนสูงขึ้นเรื่อยๆ

คุณขวัญใจ ซึ่งต้องทำงานเป็นพนักงานขายตั๋ววันละกว่า 9 ชั่วโมง เป็นระยะเวลา 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อส่งเสียตัวเองเรียน ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตอนนี้จะคิดตลอดค่ะว่า อะไรคือสิ่งที่จำเป็น และอะไรคือสิ่งที่เราแค่อยากได้”

“หลักสูตรการอบรมเรื่องการเงิน สำหรับกลุ่มรากหญ้า”

ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสร้างนิสัยใหม่ให้เกิดขึ้นจากบทเรียนที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรม แต่ด้วยสมาชิกทุกคนในทีมที่ให้กำลังใจซึ่งกันละกัน ทำให้ทุกคนเริ่มฝึกฝนวินัยทางการเงินเพื่อก้าวไปสู่การทำให้เป้าหมายทางการเงินของพวกเขาให้สำเร็จได้

คุณประภาศรีใช้เวลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อไปเยี่ยมเยียน ถามไถ่ทุกข์สุข และติดตามผลกับคุณนารี และทุกครั้ง ๆ ก่อนจากกัน เธอก็ไม่เคยลืมที่จะย้ำเตือนให้เพื่อนในทีมจดบันทึกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในสมุดบัญชีอย่างสม่ำเสมอ

คุณประภาศรี ยังส่งข้อความผ่านทางโปรแกรมไลน์ทุกวันไปยังสมาชิกทุกคนในทีม เพื่อย้ำเตือนและติดตามผลการจดบันทึกบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยบางครั้ง เพื่อน ๆ ก็จะส่งรูปภาพตารางบันทึกค่าใช้จ่ายกลับมา ซึ่งเป็นการตอบรับข้อความกันอย่างสนุกสนาน

ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือนในการเข้าร่วมกิจกรรม “ขยันจด ลดฟุ่มเฟือย เพื่ออนาคต สมาชิกทุกคนในทีมต่างก็จดบันทึกรายรับและค่าใช้จ่ายครัวเรือนในสมุดบัญชีอย่างตั้งใจ และปฎิบัติตามเป้าหมายทางการเงินที่ได้ตั้งไว้อย่างมีวินัย ทำให้ทีมได้รับบัตรกำนัลเงินสดไว้สำหรับใช้จ่ายของใช้จำเป็น ซึ่งเป็นรางวัลที่สมาชิกในทีมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินไปในทางที่ดีขึ้น

คุณศศิธร นำบัตรกำนัลเงินสดไปซื้อน้ำตาล น้ำปลา และข้าวของเครื่องใช้ในครัว ส่วนคุณประภาศรีซื้อหม้อหุงข้าวมาใช้ คุณนารีซื้อผงซักฟอกและน้ำปลา ส่วนคุณขวัญใจซื้อของใช้ในบ้านและนมมาเพื่อเตรียมใช้ประกอบอาหารตามจำเป็น

หลังจากการอบรมเสร็จสิ้น คุณนารีเริ่มออมเงินด้วยการเก็บสะสมเหรียญ 5 บาทไว้กองใหญ่ และมีการแยกเงินส่วนหนึ่งออกมาเพื่อเก็บออมก่อนนำไปใช้จ่าย เธอเล่าเพิ่มเติมด้วยน้ำตาคลอว่า “ก่อนหน้านี้ ฉันต้องวิ่งหาเงินกู้ตลอดเมื่อถึงเวลาที่ต้องจ่ายค่าเทอมสำหรับโรงเรียนอาชีวศึกษาของลูก แต่ตอนนี้ ฉันบอกกับลูกว่า เรามีเงินไว้จ่ายค่าเทอมแล้ว เพราะแม่ได้ออมเงินไว้ให้ลูกแล้วนะ”

“เมื่อฉันไปทำงาน ฉันใช้เงินแค่ 70 บาทต่อวัน “คุณขวัญใจกล่าว “ฉันเคยจ่ายค่าชาเขียวสองขวดและขนมขบเคี้ยวรวมกันเป็นเงิน 25 บาท แต่พอฉันลองคำนวณแล้ว ฉันสามารถประหยัดเงินได้หลายร้อยบาทต่อเดือนถ้าฉันตัดรายจ่ายที่ฟุ่มเฟือยเหล่านี้ออกไป”

คุณประภาศรีเล่าตอว่า “ตอนที่เข้าอบรมกับคีนันจำได้ว่า เราควรมีเงินออมสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินไว้ใช้จ่ายประมาณ 3 เดือน หลังจากที่ฉันเก็บเงินส่วนนี้ได้แล้ว เรื่องไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น น้องสะใภ้ของฉันได้จากไป ซึ่งฉันก็สามารถนำเงินออมเผื่อฉุกเฉินก้อนนี้ออกมาใช้เพื่อช่วยเหลืองานศพของน้องสะใภ้และครอบครัวได้”

“ในช่วงเริ่มต้นของโครงการฯ เราไม่เข้าใจเรื่องบัญชีครัวเรือนเลย” คุณประภาศรีกล่าว “เมื่อจบการฝึกอบรมครั้งแรก เราเข้าใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ หลังจาก ได้พยายามฝึกจดบันทึกด้วยตนเองเพียงไม่กี่สัปดาห์ ฉันก็รู้สึกว่าโชคดีมากที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการฯ นี้”

นอกจากนี้ คุณประภาศรียังกล่าวเพิ่มเติมว่า “ฉันอยากจะขอขอบคุณโครงการฯ นี้ ที่จัดทำหลักสูตรการอบรมเพื่อคนที่มีพื้นฐานทางการศึกษาน้อยและมีรายได้น้อยอย่างพวกเรา เราอาจจะเป็นกลุ่มคนที่สังคมไม่ได้ให้ความสนใจ แต่พวกคุณก็ได้ให้โอกาสและไม่ทอดทิ้งพวกเรา”

“ระดับการศึกษาไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ แต่ความตั้งใจต่างหากที่สำคัญที่สุด”

เมื่อทีมทราบผลว่า ความพยายามของพวกเขาได้นำพาทุกคนให้กลายเป็นผู้ชนะในกิจกรรม “ขยันจด ลดฟุ่มเฟือย เพื่ออนาคต” ทำให้ในโปรแกรมไลน์กลุ่มของทีมเต็มไปด้วยสติกเกอร์เฉลิมฉลองรูปต่าง ๆ เช่น หมีบราวน์ยิงพลุดีใจ กระต่ายโคนี่ยกนิ้วโป้งแสดงความยอดเยี่ยม สมาชิกทุกคนในทีมต่างส่งสติกเกอร์ยินดีร่วมกันอย่างครื้นเครง

“นี่เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตของฉันเลยที่เป็นผู้ชนะและได้รับรางวัลรางวัลชนะเลิศอันดับหนึ่ง” คุณประภาศรีหัวเราะ “ฉันไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ มาก่อนเลย ครั้งนี้ฉันจึงรู้สึกดีใจและภูมิใจกับทุกคน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เหนือกว่าชัยชนะในครั้งนี้และมีคุณค่ามากกว่าคำชื่นชมและรางวัลสำหรับคุณประภาศรีก็คือ ความมีวินัยและการเสียสละในทุกวัน ๆ เพื่อให้สมาชิกในทีมทุกคนได้สร้างมุมมองใหม่และมีวิถีชีวิตใหม่ให้กับตนเอง

ภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน สมาชิกทุกคนก็ได้บรรลุความตั้งใจในการมีเงินออมเพื่อใช้จ่ายตามความจำเป็นด้านต่าง ๆ อาทิ ค่ารักษาพยาบาลของครอบครัว ค่าเล่าเรียนบุตร รวมถึงเงินช่วยเหลือญาติพี่น้องที่เพิ่งได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัว โดยไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของแหล่งเงินกู้นอกระบบอีกต่อไป อีกสิ่งหนึ่งที่แม้ว่าจะไม่ได้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน แต่รับรู้ได้ว่าพวกเขามีความมั่นใจมากขึ้นที่จะสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตของพวกเขาสามารถสร้างความมั่นคงในชีวิตได้ดียิ่งขึ้น
“ชัยชนะของพวกเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ระดับการศึกษาไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเรียนรู้และการลงมือปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ แต่ความตั้งใจจริงของทุกคนต่างหากคือสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งทุกคน ๆ ก็สามารถได้รับรางวัลที่หนึ่งและเป็นผู้ชนะได้ สามารถสามารถออมเงินได้ และสามารถเรียนรู้ให้เก่งยิ่งขึ้นได้เช่นกัน.” คุณประภาศรีกล่าวปิดท้ายด้วยน้ำเสียงแห่งความภูมิใจ

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ