Sustainable business TH, Uncategorized @th

มูลนิธิซิตี้จับมือคีนันและพอช. เดินหน้าต่อยอด“ชุมชนสมาร์ทมันนี่” จัดประกวดการนำเสนอโครงการทางด้านการเงินชุมชน มุ่งเน้นให้สมาชิกชุมชนมีเงินออม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน

ม.ค. 26,2023

Citi news 

มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดกิจกรรม “การนำเสนอโครงการทางด้านการเงินชุมชน” ภายใต้ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน ปีที่ 3” โดยมีผู้นำชุมชนเข้าร่วมนำเสนอกิจกรรมโครงการฯ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความรู้เรื่องการเงินส่วนบุคคลให้แก่สมาชิกชุมชน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือก 20 โครงการฯ ที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมโครงการฯ ด้านการเงินต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบโดยผู้นำและสมาชิกชุมชนให้เหมาะสมกับบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละชุมชน รวมทั้งสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินของแต่ละชุมชนได้อย่างแท้จริง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนในระยะยาว

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย ตัวแทนมูลนิธิซิตี้ เปิดเผยว่า มูลนิธิซิตี้ยังคงเดินหน้าสานต่อ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน ปีที่ 3” ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และพอช. อย่างต่อเนื่อง ผ่านแนวคิดโมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนลึกถึงระดับครอบครัว และยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน โดยวัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ ในปีนี้ คือ การมุ่งเน้นสร้างทักษะให้ผู้นำชุมชนเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่สมาชิกในชุมชน และต่อยอดความรู้ให้สามารถเขียนข้อเสนอโครงการและบริหารโครงการด้านการเงินที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนได้ ดังนั้น มูลนิธิซิตี้จึงร่วมมือกับคีนันจัดกิจกรรมการประกวดโครงการทางด้านการเงินชุมชนขึ้น โดยให้ผู้นำชุมชนมีโอกาสได้นำเสนอแนวคิดและที่มาที่ไปของโครงการฯ รวมทั้งวัตถุประสงค์ แผนการดำเนินกิจกรรม ตัวชี้วัด และผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการฯ ซึ่งจะมี 20 โครงการฯ ที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดกิจกรรมโครงการฯ ที่เหมาะสมกับบริบทของแต่ละชุมชนในครั้งนี้

นางสาววันวิสาข์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับ พอช. และคีนัน ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการในการพิจารณาและคัดเลือกโครงการฯ ที่มีความโดดเด่นจำนวน 20 โครงการฯ ที่จะได้รับงบประมาณสนับสนุน 30,000 บาทต่อโครงการฯ เพื่อจัดทำโครงการฯ ให้เกิดขึ้นจริงในชุมชน หลังจากนั้น คณะกรรมการจะทำการคัดเลือก 5 โครงการฯ ต้นแบบ ซึ่งจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพิ่มเติมอีกจำนวน 60,000 บาทต่อโครงการฯ เพื่อนำไปใช้ในการขยายผลไปสู่สมาชิกเพิ่มเติมในชุมชน ทั้งนี้ ระหว่างการดำเนินโครงการฯ เจ้าหน้าที่จากคีนันและพอช. จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาทางการเงินต่าง ๆ กับชุมชนอย่างใกล้ชิด

สำหรับการประกวดฯ ในรอบแรกที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ไฮไลท์สำคัญของกิจกรรม คือ การนำเสนอโครงการฯ ของผู้นำชุมชนในจังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากกว่า 20 สหกรณ์ เกี่ยวกับแผนการดำเนินกิจกรรมทางด้านการเงินต่าง ๆ อาทิ การสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากการรวมกลุ่มกันของสมาชิกชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชนและพัฒนาด้านการตลาด เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจชุมชนมีความเติบโตต่อเนื่อง การให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น การส่งเสริมเรื่องการออมเงินภายในชุนชน และการติดตามผลกับสมาชิกชุมชนของผู้นำชุมชน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางด้านการเงินที่ดีของทั้งผู้นำชุมชนที่เป็นแบบอย่างและสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ อันจะส่งผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนต่อไป
 

ทั้งนี้ ปัญหาหลักทางด้านการเงินของชุมชนที่ค้นพบ คือ การขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการทางการเงิน ทำให้สมาชิกชุมชนประสบกับปัญหารายจ่ายสูงกว่ารายรับ และมีภาระหนี้สิน ซึ่งทำให้กิจกรรมโครงการฯ ที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับแต่ละชุมชนสามารถช่วยสมาชิกชุมชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารการเงินส่วนบุคคลมากขึ้น และสามารถจัดการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการกลุ่มที่ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งจะพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งและก่อให้เกิดความมั่นคงทางการเงินอย่างเป็นรูปธรรม

ความตั้งใจจากชุมชนเพื่อร่วมสร้างคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้นและยั่งยืน

Citi news 1

นางอามีด๊ะห์ เล็มเละห์ (กลาง) ผู้นำชุมชนจากสหกรณ์เคหสถานมหาดไทย จำกัด หนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมประกวดโครงการฯ ร่วมกับ นางสมศรี เย็นนาน และนายสังวาลย์  ศิริจันทร์ กล่าวว่า สหกรณ์จะมุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้กับสมาชิกในชุมชนอย่างทั่วถึง เนื่องจากสมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ทำงานเป็นรายวัน จึงทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน ซึ่งแผนงานที่นำเสนอต่อคณะกรรมการในการประกวดครั้งนี้ คือ การรวบรวมสมาชิกภายในสหกรณ์ที่อยากมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอาชีพเสริม ให้มาทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มกับทางสหกรณ์ โดยกิจกรรมโครงการฯ คือ การจัดตั้งร้านค้าสหกรณ์ขึ้นภายในชุมชน เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่สมาชิกชุมชน ซึ่งจะผลิตสินค้า 2 ประเภท คือ น้ำพริกชุมชน ได้แก่ น้ำพริกเผาและน้ำพริกตาแดง และน้ำยาล้างจาน ซึ่งเป็นสินค้าที่คนส่วนมากในชุมชนบริโภคอยู่เป็นประจำ โดยสหกรณ์จะแบ่งส่วนที่เป็นกำไรให้กับสมาชิกชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ในรูปแบบเงินจากการขายสินค้าได้ และสินค้าในร้านค้าสหกรณ์เพื่อนำไปใช้บริโภคในครัวเรือน นอกจากนี้ สมาชิกชุมชนยังสามารถนำสินค้าที่ตนมีมาแลกเปลี่ยนกับสินค้าในร้านค้าสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายและหมุนเวียนเงินให้อยู่ภายในสหกรณ์ โดยสมาชิกไม่ต้องนำเงินไปจับจ่ายใช้สอยกับร้านค้าภายนอกเกินปริมาณที่จำเป็นได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย

Citi news 2

ด้านนายสมจิตร แก้วพร้อม (ขวาสุด) ผู้นำชุมชนจากสหกรณ์เคหสถานชุมชนสร้างตนเองเมืองหลักหก จำกัด เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่เข้าร่วมประกวดโครงการฯ ร่วมกับ นายทวีพร จั่นนาค และนางสาวรัตนาภรณ์ เทียนทอง กล่าวเสริมว่า แผนการพัฒนาชุมชนของสหกรณ์ คือ การสร้างรายได้ให้เกิดกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและผู้สูงอายุที่ต้องการมีรายได้พิเศษ เนื่องจากสมาชิกชุมชนจำนวนมากมีรายได้น้อยจากที่หัวหน้าครอบครัวทำงานคนเดียว จึงทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในครอบครัว โดยสมาชิกสหกรณ์มีความเชี่ยวชาญในการทำริบบิ้นให้เป็นช่อดอกไม้และทำพวงมาลัยเป็นหลัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์และเป็นงานฝีมือ ทำให้สหกรณ์มองเห็นโอกาสในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านการประชาสัมพันธ์ของกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาในชุมชน ไปยังสถานศึกษาในช่วงโอกาสหรือพิธีสำคัญ และต่อยอดสินค้าโดยเพิ่มมูลค่าให้มากยึ่งขึ้น ด้วยการตกแต่งตามเทศกาลสำคัญต่าง ๆ รวมทั้ง การจัดหาบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามก่อนส่งมอบให้กับลูกค้า นอกจากนี้ สหกรณ์ยังต้องการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าเพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดที่ได้ไปสำรวจข้อมูลมาเบื้องต้น ทั้งนี้ สหกรณ์จะแบ่งกำไรจากการจำหน่ายสินค้าตามสัดส่วนการผลิตอย่างยุติธรรม และมีกิจกรรมอบรมการทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมโครงการฯ พร้อมกับติดตามผลการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนของสมาชิกอย่างใกล้ชิด ด้วยความมุ่งหวังที่อยากเห็นชุมชนมีสถานะทางการเงินที่ดีขึ้น และอยู่ด้วยกันด้วยความรักและความสามัคคี ระหว่างเยาวชนและผู้สูงอายุในชุมชน

โครงการด้านการเงินชุมชน  กับผลลัพธ์การพัฒนาที่จับต้องได้จริง

ด้าน มร.ริชาร์ด เบิร์นฮาร์ด กรรมการอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย กล่าวว่า ในฐานะที่คีนันเป็นผู้บริหารโครงการฯ และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการฯ และเพื่อให้เกิดความสำเร็จตามวัตุประสงค์ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของเจ้าหน้าที่คีนันซึ่งจะทำหน้าที่ในการแนะนำ ช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่ผู้นำและสมาชิกชุมชนตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง และจะมีการจัดกิจกรรมให้คณะทำงานของแต่ละสหกรณ์ได้มาพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ และความคืบหน้าในการบริหารโครงการฯ ทุกเดือน พร้อมด้วยความร่วมมือจาก พอช. และมูลนิธิซิตี้ ในการร่วมกันเป็นพี่เลี้ยงให้กับทั้ง 20 โครงการฯ เพื่อมุ่งหวังอยากเห็นโมเดล “ชุมชนสมาร์ทมันนี่” สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชนให้ดีขึ้น และสามารถพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและปัญหาความยากจน และช่วยให้สมาชิกชุมชนได้มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและยั่งยืน มร.ริชาร์ด กล่าวปิดท้าย

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ