Education, Uncategorized @th

เมื่อโลกปรับ ห้องเรียนเปลี่ยน การเรียนรู้ต้องเปิด

ม.ค. 26,2023

การเรียนรู้ในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนไปด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา การเรียนการสอนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ดูเหมือนเป็นเรื่องที่ควรจะทำได้อย่างราบรื่น แต่ในความเป็นจริงเมื่อเราต้องเว้นระยะห่าง โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการเปิดการเรียนการสอนตามปกติได้ตลอดทั้งเทอม ยิ่งในโรงเรียนระดับประถมศึกษาความพร้อมในการเรียนการสอนจึงน้อยมาก นักเรียนบางคนยังมีปัญหาในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต บางคนไม่มีมือถือ หรือต้องใช้มือถือของผู้ปกครอง  รูปแบบในการเรียนการสอนจึงต้องปรับรูปแบบ มีทั้ง ON-AIR ONLINE  ON–DEMAND และ ON-HAND ตามความพร้อม  จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทุกฝ่ายจะต้องเร่งรีบจัดการให้ทันกับสถานการณ์ ไม่เช่นนั้นแล้วนักเรียนที่หลุดไปจากการเรียนจะขาดความรู้พื้นฐานสำคัญที่จะต่อยอดความรู้ในระดับที่สูงขึ้น จะมีนักเรียนบางคนถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังเพราะด้วยความไม่พร้อม ความแตกต่างในการเรียนรู้ของนักเรียนจะมีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดเป็นปัญหาที่ไม่รู้สาเหตุว่าเกิดจากความสนใจของเด็กที่ลดลง หรือระบบการเรียนรู้ที่ไม่ตอบโจทย์กันแน่

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้ร่วมมือกับโบอิ้งส่งต่อโครงการ โบอิ้ง ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยีเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับห้องเรียนของคุณครูผ่านกิจกรรมและความรู้ในการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน โดยโครงการฯ มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถให้กับครู ผ่านการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวทางในการสนับสนุนการทำงานของครู ให้กับผู้บริหารสถานศึกษาผ่านการอบรมที่เข้มข้น

คุณครูธนวุฒิ มากเจริญ โรงเรียนสาริกา จ.นครนายก หนึ่งในคุณครูที่เข้าร่วมโครงการมาอย่างต่อเนื่องและใช้โครงงานในการช่วยจัดการเรียนการสอนในช่วงโควิดเล่าว่า “ตั้งแต่โควิด-19 เข้ามาในช่วงแรกการเรียนออนไลน์ทำได้ยาก เพราะปัญหาอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ของนักเรียนที่มีจำกัด การสอนแบบโครงงานจึงเป็นรูปแบบหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการเรียนการการสอนในช่วงโควิด แต่จำเป็นต้องปรับเนื้อหากิจกรรมและอุปกรณ์ในการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับความพร้อมของนักเรียน ในส่วนเนื้อหากิจกรรมจะต้องออกแบบเป็นอย่างดี ร้อยเรียงเนื้อหาให้เป็นขั้นตอน และมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน  โดยจะสื่อสารกับนักเรียนในรูปแบบ VDO Clip ส่งให้นักเรียนผ่าน Line กลุ่มและมีใบงานประกอบ   ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการทำโครงงานครูจำเป็นต้องส่งอุปกรณ์ให้นักเรียนด้วยเพื่อควบคุมให้สามารถดำเนินกิจกรรมได้ตามที่ได้

สู่การเรียนรู่แห่งศตวรรษที่ 21 ด้วยการสอนแบบโครงการ

 


คุณครูธนวุฒิ ยังกล่าวต่อว่า “หลังจากเข้าร่วมโครงการกับโบอิ้ง ทำให้เราเข้าใจการสอนแบบโครงงานมากขึ้น แต่ก่อนสอนตามหนังสือเรียนเนื้อหาจะเยอะมาก  จะเป็นการท่องจำทำให้เด็กมีมุมมองต่อวิชาวิทยาศาตร์ว่าเป็นวิชาที่ยาก พอปีแรกได้เข้าร่วมกับโครงการได้นำเอาโครงงานมาใช้ทำให้ครูเองเปิดมุมมองไม่ยึดติดกับหนังสือเรียน มีการออกแบบกิจกรรมที่เชื่อมโยงตัวชี้วัด ให้นักเรียนได้ลงมือทำกิจกรรม สร้างความท้าทายที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ให้กับนักเรียน และได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูในการพัฒนาโครงงานให้พร้อมสำหรับนักเรียน  โดยพอนำไปใช้กับนักเรียนก็ได้ผลดี นักเรียนให้ความสนใจและตั้งใจทำกิจกรรมมากขึ้น จะสามารถเล่าสิ่งที่ทำไปแล้วได้ดี สามารถสรุปเป็นองค์ความรู้ของตัวเองได้จะต่างจากเรียนแค่ในหนังสือ  ตอนนี้ได้เปลี่ยนให้นักเรียนตั้งหน้าตั้งตารออยากเรียนวิชาวิทยาศาสตร์  ว่าวันนี้ครูจะพาทำกิจกรรมอะไร เกิดแรงบันดาลใจหลายอย่างในชั้นเรียน”

คุณครูธนวุฒิ ได้เข้าร่วมโครงการต่อเนื่องในปีที่ 2 ยังกล่าวต่อว่า “ในปีที่ 2 ที่เข้าร่วมกับโครงการมีความประทับใจในการติดตามและดูแลคุณครูอย่างใกล้ชิด โดยคอยให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่องทั้งในช่วงอบรมและติดตามทำกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู (Professional Learning Community:  PLC) โดยในปีที่ 2 หลักสูตรเข้มข้นขึ้น  มีเนื้อหาในการปรับปรุงโครงงานให้ดีขึ้น ได้หลักการและแนวคิดเชิงลึกขึ้น การออกแบบกิจกรรมจะละเอียดและเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น ยิ่งเมื่อนำมาใช้ในช่วงสถานการณ์โควิดทำให้ง่ายสำหรับครูในการนำไปใช้ และยังถือว่าได้เครื่องมือในการสอนออนไลน์ด้วยไปในตัวอีกด้วย”

จากจุดเล็ก ๆ สู่การเปลี่ยนแปลงการศึกษา

“สิ่งที่ภาคภูมิใจหลังจากได้เข้าร่วมโครงการ คือเมื่อได้ออกแบบกิจกรรมที่แปลกใหม่นอกเหนือบทเรียนที่เกิดผลดีกับนักเรียนก็ได้มีการแชร์ประสบการณ์กับเพื่อนครูคนอื่นในโรงเรียน ถือได้ว่าเป็นการสร้างจุดเปลี่ยนแปลงให้เกิดในโรงเรียน จากการเรียนการสอนตามหนังสือปรับเปลี่ยนมาเป็นการจัดการการเรียนรู้ ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ ค้นหาคำตอบ ผ่านการออกแบบบทเรียนที่ดีร่วมกันทั้งครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ซึ่งมุมมองจากครูแต่ละวิชาที่จะช่วยเติมเต็มให้โครงงานน่าสนใจมากขึ้น ถือได้ว่าเป็นบรรยากาศที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและมีครูที่ช่วยกันดูแลเด็กได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งเป็นการลดภาระงานของนักเรียนที่ครูจะสั่งงานแยกกันในแต่ละวิชาอีกด้วย ทางโรงเรียนเห็นผลงานจึงได้มีการขยายผลไปยังวิชาอื่น ๆ โดยมีการวางแผนร่วมกันในกิจกรรม PLC ของโรงเรียนร่วมกับกลุ่มการงานอาชีพ ขยายผลเป็นโครงงานอาชีพ ก็จะเป็นการทำงานร่วมกันทั้งโรงเรียนโดยเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ นี้”คุณครูธนวุฒิเล่าด้วยความภาคภูมิใจ

“เราเปลี่ยนวิถีชีวิตไปหลายอย่างในช่วงโควิด มองย้อนกลับมายังห้องเรียน เราก็ยังต้องสอนและทำบทบาทหน้าที่ครูให้ดีที่สุด  แต่เราก็ไม่สามารถทำตามแบบวิธีเดิม ๆ ได้  สิ่งหนึ่งที่ยากที่สุดในการเริ่มต้นคือ ครูกล้าเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิธีสอน และเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่มากมายเพื่อปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์   ทดลองทำแบบเดียวกับเด็กเพื่อที่จะได้ลงมือทำหลาย ๆ รอบและปรับปรุงชิ้นงานให้ดีขึ้น พร้อมเรียนรู้จากงานที่ไม่สำเร็จ สิ่งนี้ทำให้เราจะกล้าเปลี่ยนแปลงมากขึ้นเพราะรู้ว่าจะไม่ได้สมบูรณ์แบบตั้งแต่ครั้งแรก  ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ เป็นเรื่องที่ไม่เคยง่าย การสนับสนุนจากโรงเรียน ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการและเพื่อนครูก็มีส่วนสำคัญ โดยให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นศูนย์กลาง หากโรงเรียนเห็นปัญหาและมุ่งมั่นที่จะจัดการให้เกิดผล นักเรียนก็จะไม่ถูกทอดทิ้ง ครูก็จะไม่โดดเดี่ยวท่ามกลางวิกฤตที่เรายังต้องเรียนรู้และอยู่กับมัน”  คุณครูธนวุฒิกล่าวทิ้งท้าย

Share this article

Latest.

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ