Community, Uncategorized @th

รวมพลังสร้างความเท่าเทียมและเปิดรับความหลากหลายในภาคธุรกิจไทย เนื่องในวันสตรีสากล

ม.ค. 26,2023

businesswoman thai

วันที่ 8 มีนาคมของทุกปีถือเป็น “วันสตรีสากล” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้คนได้รำลึกและร่วมเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง พร้อมกับสนับสนุนคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับความเหลื่อมล้ำทางเพศและเรียกร้องความครอบคลุมทางสังคม (Social Inclusion)

เนื่องในวันสุดพิเศษนี้ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียขอร่วมแบ่งปัน 6 ประเด็นสำคัญจากรายงานการประเมินความต้องการจำเป็นภายใต้โครงการ ‘Promoting Economic Empowerment of Women at Work in Asia ‐ WeEmpowerAsia in Thailand’  ที่คีนันฯได้ร่วมดำเนินงานร่วมกับองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ดังนี้

  1. ทัศนคติและบรรทัดฐานทางเพศอาจกระทบต่อความสำเร็จและความก้าวหน้าในสายอาชีพ

หลายคนอาจมองว่าคุณสมบัติ ลักษณะนิสัย หรือบทบาทในการทำงานบางอย่างมีความเชื่อมโยงกับเพศใดเพศหนึ่ง ซึ่งความเชื่อมโยงเหล่านี้มักให้ผลประโยชน์กับเพศชายมากกว่าเพศหญิง ตัวอย่างเช่น ผู้ชายมักถูกมองว่ามีภาวะผู้นำมากกว่าผู้หญิง และทัศนคติเช่นนี้อาจนำไปสู่ความเอนเอียงโดยไม่รู้ตัวซึ่งทำให้ผู้ชายได้รับตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้บริหารมากกว่าผู้หญิง นอกจากนี้สังคมโดยรวมยังกดดันให้ผู้หญิงแบกรับความรับผิดชอบในครัวเรือน อย่างการเลี้ยงดูบุตรและงานบ้านสารพัด ซึ่งอาจทำให้ผู้ชายได้เปรียบผู้หญิงในการสมัครงานและการเลื่อนตำแหน่ง เนื่องจากคนมักมองว่าผู้ชายสามารถทุ่มเทเวลาให้กับการทำงานได้มากกว่า ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพบางประเภทมักมีภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับเพศใดเพศหนึ่งเป็นพิเศษ ทำให้เกิดความคาดหวังหรือความเข้าใจผิด ๆ ว่าอาชีพใดเป็นอาชีพของผู้ชายและอาชีพใดเป็นอาชีพของผู้หญิง อีกทั้งมีไม่กี่คนที่จะเลือกเรียนและทำงานในสายอาชีพที่มีภาพลักษณ์เชื่อมโยงกับอีกเพศ ด้วยเหตุนี้ในตลาดงานที่ผลตอบแทนสูง อย่างไอทีและวิศวกรรม จึงยังมีแต่ผู้ชายเดินกันขวักไขว่ไปหมด

  1. อุปสรรคในการสร้างเครือข่าย

การคุยธุรกิจอาจไม่จบแค่ในห้องประชุม และการพิจารณามอบตำแหน่งงานอาจไม่ได้มองแค่ผลประเมินการปฏิบัติงานเพียงอย่างเดียว ในหลาย ๆ อาชีพ การสร้างเครือข่ายคนรู้จักนับว่าเป็นกุญแจสู่ความก้าวหน้า ทว่าบทบาททางสังคมกลับเข้ามาขัดแข้งขัดขาผู้หญิงหลายคนอยู่ไม่น้อย ยิ่งคนที่มีลูกก็ยิ่งชวดโอกาสพบปะคนนอกเวลางานหรือร่วมงานสังสรรค์ในช่วงค่ำได้ง่าย แถมสถานที่นัดพบจำพวกซิการ์บาร์หรือสถานบันเทิงบางแห่ง ก็มักมีบรรยากาศที่ชวนให้ผู้หญิงรู้สึกแปลกแยกมากกว่าผู้ชาย นอกจากนั้นแล้ว ผู้หญิงหลายคนยังกังวลเรื่องการคุกคามทางเพศขณะร่วมวงกับผู้ชาย ด้วยปัจจัยที่กล่าวมานี้ ทำให้ผู้ชายมักจะมีโอกาสสร้างเครือข่ายมากกว่าผู้หญิงนั่นเอง

  1. การมองข้ามเหตุคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

เหตุคุกคามทางเพศเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานและความก้าวหน้าในอาชีพซึ่งมักไม่ได้รับการรายงานและแก้ไข ในโลกของการทำงาน เหยื่อของการคุกคามมักเงียบเสียง เพราะเหตุผลหลัก ๆ สามประการ ข้อแรกคือ หากเหตุคุกคามทางเพศไม่มีความรุนแรง ตัวผู้เสียหายเองอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย หรือคิดว่านายจ้างคงมองเป็นเรื่องหยุมหยิมและปัดตกไป จึงเลือกที่จะไม่รายงานแม้จะรู้สึกไม่สบายใจกับการคุกคามนั้นก็ตาม ข้อถัดมาคือ ผู้เสียหายอาจกลัวว่าหากรายงานเหตุคุกคามทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ใช้ความรุนแรงก็ตาม จะเป็นอุปสรรคต่อการงานอาชีพได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้กระทำผิดมีตำแหน่งสูงกว่า เพราะฝ่ายนั้นอาจขู่เลิกจ้างหรือลดขั้นเพื่อปิดปากตนและคนที่เข้าข้างได้ ข้อสุดท้ายคือ ผู้เสียหายอาจคิดว่าผู้บังคับใช้กฎหมายคงไม่สามารถเอาผิดและลงโทษผู้กระทำได้ จากจุดนี้จึงสรุปได้ว่าปัญหานี้สมควรได้รับความสนใจจากทั้งภาคเอกชนและภาครัฐบาล

  1. ระดับความไม่เสมอภาคทางเพศแตกต่างกันในแต่ละวงการ

ผลกระทบของอคติทางเพศจะต่างกันออกไปในแต่ละภาคอุตสาหกรรม เพราะทุกสายงานต่างมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง ในรายงานการประเมินความต้องการจำเป็นของคีนันฯ เราได้เจาะลึกไปที่สามอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทางการเงิน (Fintech) ทั้งสามอุตสาหกรรมยังถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ แต่ความเป็นใหญ่นี้อยู่ในระดับที่ต่างกันออกไป อุตสาหกรรมที่ผู้ชายกุมอำนาจน้อยที่สุดเมื่อเทียบกันในสามอุตสาหกรรมคือ ภาคการท่องเที่ยว อาจเป็นเพราะสังคมมองว่างานบริการและงานต้อนรับใกล้เคียงกับภาพลักษณ์ของเพศหญิงมากกว่า ในทางกลับกัน แวดวงเทคโนโลยีทางการเงินมีผู้ชายกุมอำนาจอยู่อย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสัดส่วนของผู้หญิงที่ทำงานในสายเทคโนโลยียังมีอยู่น้อย ตัดภาพมาที่วงการอัญมณีและเครื่องประดับ ในประเทศไทยนั้น ธุรกิจประเภทนี้ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ดังนั้นแนวคิดที่มองว่าผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้าซึ่งฝังรากลึกในโครงสร้างครอบครัวไทย จึงทำให้ผู้บริหารในวงการนี้เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่

  1. ‘เพศ’ เป็นประเด็นคาบเกี่ยวที่ชี้ให้เห็นประเด็นที่ใหญ่กว่าด้านความเสมอภาคและการเปิดรับความแตกต่าง

การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศไม่ได้หมายถึงการส่งเสริมผู้หญิงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เราต้องไม่ลืมว่าผู้ชายเองก็อาจได้รับผลกระทบเชิงลบจากทัศนคติและบรรทัดฐานทางเพศได้เช่นกันหากปฏิบัติตัวแปลกแยกไปจากกรอบของสังคมที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT+ จะต้องมีส่วนร่วมในการเรียกร้องความเท่าเทียมอีกด้วย แม้ว่าสังคมไทยในตอนนี้จะเปิดกว้างมากขึ้น แต่กลุ่มLGBT+ก็ยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิบัติและอุปสรรคอีกนานัปการ ตั้งแต่เรื่องที่อาจประสบในชีวิตประจำวัน เช่น การถูกเรียกด้วยสรรพนามผิด ๆ (Misgendering) และการเลือกใช้ห้องน้ำ ไปจนถึงอุปสรรคด้านความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน (glass ceiling effect) ซึ่งมักจะมีมากกว่าอุปสรรคที่ประสบโดยกลุ่มผู้หญิงที่รักต่างเพศและมีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิดเสียอีก ทั้งนี้เราต้องตระหนักไว้ว่าเพศสภาพเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อสถานะทางสังคม ยังมีปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น รสนิยมทางเพศ ฐานะ ระดับการศึกษา ศาสนา และชาติพันธุ์ ซึ่งเมื่อผนวกกับปัจจัยด้านเพศสภาพแล้ว ก็จะมีผลต่อสถานะทางสังคมที่ต่างกันออกไป หากภาคธุรกิจอยากให้พนักงานมีความสุข ก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับรายละเอียดเหล่านี้ เพื่อที่จะสามารถดูแลและให้โอกาสแก่พนักงานทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม

  1. องค์กรเอกชนกำลังเดินมาถูกทางแล้ว

หลายองค์กรในประเทศไทยมีนโยบายและระเบียบที่ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศอยู่แล้ว เช่น การไม่กำหนดเพศเวลารับสมัครงานเพื่อลดการเลือกปฏิบัติ การฝึกอบรมด้านความหลากหลายทางเพศเพื่อส่งเสริมความหลากหลายในองค์กร การตั้งนโยบายและกระบวนการร้องเรียนเพื่อป้องกันการคุกคามทางเพศ การให้สิทธิลาแก่พนักงานชายเมื่อภรรยาคลอดบุตรเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบบุตรร่วมกันของพ่อแม่ การร่วมลงทุนในกิจการที่ผู้หญิงเป็นเจ้าของเพื่อลดช่องว่างระหว่างเพศในกลุ่มผู้ประกอบการ หรือการจัดกิจกรรมการกุศลที่ช่วยเสริมศักยภาพของสตรีและเด็กผู้หญิง ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจกำลังเดินมาถูกทาง แต่แค่นั้นอาจไม่พอ เพราะลำพังแค่นโยบายและระเบียบในภาคเอกชนไม่อาจขุดลงไปถึงรากแก้วของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเพศในไทยได้ พวกเรายังต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคสื่อเพื่อประสานสังคมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้เข้าด้วยกัน

ในปัจจุบันภาคเอกชนทั่วประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม ซึ่งมิใช่แค่เพื่อผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชิดชูสิ่งที่พึงปฏิบัติอีกด้วย สำหรับบริษัท สมาคมธุรกิจ และสมาคมการค้าที่สนใจเข้าร่วมขบวนการขับเคลื่อนความเสมอภาคระหว่างเพศและการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการอบรมหลักการเสริมพลังสตรี หรือ Women’s Empowerment Principles (WEPs) ได้ที่ weempowerasia.kenan-asia.org/register-th

เกี่ยวกับผู้เขียน คุณดลหทัย สุทัสนมาลี เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาระหว่างประเทศ มีประสบการณ์ทั้งในภาคการศึกษา อุตสาหกรรม และประเด็นความเท่าเทียมและความครอบคลุมทางสังคม คุณดลหทัยเป็นผู้เขียนรายงานประเมินความต้องการจำเป็น ภายใต้โครงการ WeEmpowerAsia ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในการศึกษาของคีนันฯเพื่อสำรวจความต้องการ และอุปสรรคในด้านโอกาสและการมีส่วนร่วมในภาคเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงมิติทางเพศสภาพ หากท่านมีความคิดเห็นเพิ่มเติม หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ WeEmpowerAsia สามารถติดต่อคุณดลหทัยได้ที่ Donhathais@kenan-asia.org

Share this article

Latest.

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ