นายสาธิต วรรณพบ หรือครูโจ ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนตะกั่วป่าเสนานุกูล จ.พังงา เป็นหนึ่งในครูที่ได้เข้าร่วมอบรมกับโครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ มาตั้งแต่โครงการเริ่มก่อตั้ง ปัจจุบัน ครูโจเป็นครูผู้นำของโครงการฯ และได้เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาครูกับโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ว่าครูจะต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่ครูไม่ใช่มีหน้าที่แค่เพียงสอนเท่านั้น แต่ต้องสร้างให้เด็กมีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 กระตุ้น และสร้างแรงจูงใจให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ใฝ่รู้แบบคิดวิเคราะห์ และแก้ปัญหาเป็น
หนึ่งในกิจกรรมพัฒนาครูที่ครูโจได้เข้าร่วมเมื่อเร็วๆ นี้ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ซึ่งครูโจได้สะท้อนถึงผลลัพธ์ที่ได้จากการอบรมว่า “แม้ว่าผมจะเข้าร่วมกับโครงการฯ และเป็นครูวิทยากรของโครงการฯ มาโดยตลอด แต่ยังพบปัญหาในการสอน เพราะครูคนเดียวคงไม่สามารถมองเห็นห้องเรียนได้อย่างรอบด้าน ทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ในทุกจุด ปัญหาหนึ่งที่ผมต้องการหาคำตอบเป็นพิเศษคือ เด็กไม่สามารถเขียนรายงานสรุปจากสิ่งที่ได้พบจากการทดลองผ่านการสอนในห้องเรียนได้ ซึ่งยังคงเป็นความท้าทายที่ยังคงเผชิญอยู่”
ณ เวลานั้น ได้มีกิจกรรม PLC ของโครงการฯ เข้ามาพอดี ครูโจจึงใช้โอกาสนั้นได้เปิดห้องเรียนและเชิญครูพี่เลี้ยงทางวิชาการและทีมวางแผนการสอนจากโครงการฯ ให้เข้ามาร่วมสังเกตชั้นเรียนและวิธีการสอนเพื่อขอคำแนะนำว่าการสอนจะต้องมีการปรับปรุงในจุดไหนเพื่อให้นักเรียนเข้าใจบทเรียนพร้อมสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นรายงานได้
“การสังเกตชั้นเรียนแบบ PLC เพื่อสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพภายใต้โครงการฯ นั้น มีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจน ในห้องจะมีครูผู้สอนและครูผู้วางแผนการสอน ครูผู้สังเกต และผู้เชี่ยวชาญ ที่จะนั่งตามโต๊ะนักเรียนและจุดที่สำคัญเพื่อช่วยกันสังเกต จดบันทึกคำถามของครูและปฏิกิริยาโต้ตอบของเด็กต่อครูระหว่างทำกิจกรรมในกลุ่มอย่างละเอียด ภายหลังจากจบการสังเกตชั้นเรียน ผู้ร่วมสังเกตทุกคนจะนำผลการบันทึกนั้นไปสะท้อนให้แก่ผู้สอนโดยวิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสะท้อนจะมุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนเป็นสำคัญ ไม่ได้มุ่งเป้าไปที่ครูโดยตรง ซึ่งการสะท้อนจะมีกระบวนการที่เป็นรูปธรรมและมีหัวข้อแนะนำในการสะท้อนเพื่อก่อให้เกิดการปรับปรุงชั้นเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ”
ครูโจทิ้งท้ายถึงสิ่งที่จะทำให้กระบวนการ PLC สัมฤทธิ์ผลไว้ว่า “ครูต้องเชื่อมั่นในกระบวนการสะท้อนที่ชัดเจน และเปิดใจรับฟังถึงการสะท้อนในการสอนของตนเอง อีกทั้งรูปแบบและหัวข้อในการสะท้อนที่สร้างสรรค์นั้น จะทำให้กระบวนการ PLC แสดงผลลัพธ์ที่ดี และช่วยครูขจัดปัญหาต่างๆ ได้จากคำแนะนำโดยครูท่านอื่นๆ ผู้เชี่ยวชาญ และทีมวางแผนการสอนจากโครงการฯ แม้ว่าจะแก้ไขไม่ได้เร็วนักหลังจากที่มีการเปลี่ยนแผนและวิธีการสอน เพราะการปรับเปลี่ยนต้องอาศัยเวลา เพื่อให้ทั้งครูและเด็กหากระบวนการสร้างความเข้าใจต่อบทเรียนไปด้วยกันอย่างเหมาะสม”
ปัจจุบัน มีครูที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม PLC ไปแล้วกว่า 2,760 คน จาก 569 โรงเรียนทั่วประเทศ โดยในปีนี้โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ตั้งเป้าให้ครูจำนวนมากกว่า 1,200 คน ได้เข้าถึงการเรียนรู้ในกิจกรรม PLC เพื่อเป็นการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง และส่งเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ชุมชนการเรียนรู้ในภาคการศึกษาไทยต่อไป