ท่ามกลางสภาวะทางสังคมเปลี่ยนแปลงและจำนวนผู้สูงในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ที่ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อดูแลผู้สูงอายุจึงมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก แต่การดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพจะไม่สามารถทำได้เลย ถ้าอาสาสมัครเหล่านี้ขาดองค์ความรู้และไม่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น
คุณวาสนา ตาดทอง รับหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นผู้มีส่วนร่วมสำคัญในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุในชุมชน อย่างไรก็ตามการขาดองค์ความรู้ที่ทันสมัยต่อสถานการณ์ปัจจุบัน รวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นก็ส่งผลให้การทำงานของอาสาสมัครแต่ละคนต่างก็พบเจออุปสรรคอยู่บ้าง
ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2559 เมื่อคีนันฯ และมูลนิธิไฟเซอร์ ริเริ่มโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข” ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัย ให้มีกายฟิต จิตดี มีออม เหล่าอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชนก็ได้รับการฝึกอบรม รวมถึงจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ทำให้คุณวาสนาได้มีโอกาสนำความรู้ที่ได้รับมาเพื่อไปช่วยเหลือผู้สูงวัยในชุมชนได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
คุณวาสนาเล่าว่า ตัวอย่างงานที่คุณวาสนาภาคภูมิใจคือ กรณีของคุณยายท่านหนึ่งที่มีอายุ 93 ปี และต้องอาศัยอยู่ในบ้านเพียงลำพัง คุณยายท่านนี้ดำรงชีวิตด้วยเงินจากรัฐบาลเพียงจำนวน 1,400 บาทต่อเดือน หรือเพียง 47 บาทต่อวัน คุณวาสนาจึงได้เข้ามาช่วยเหลือโดยการติดต่อกับโรงพยาบาลท้องถิ่น และหน่วยงานส่งเสริมสุขภาพของตำบลเพื่อให้คุณยาย ได้รับการดูแลสุขภาพที่ถูกวิธีและไม่ถูกทอดทิ้งให้อยู่โดดเดี่ยว
“ตอนนี้คุณยายสุขภาพดีขึ้น เรารู้สึกภูมิใจ ที่ได้ดูแลและช่วยให้คุณยายมีชีวิตที่ดีขึ้น” คุณวาสนากล่าวด้วยน้ำเสียงที่มีความสุข”
การมีกลุ่มอาสาสมัครฯ เข้าช่วยเหลือชุมชนถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้กับกลุ่มผู้สูงวัยได้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่อบอุ่นและมีความสุข นอกจากนี้กลุ่มอาสาสมัครฯ ยังได้ช่วยจัดงานสังสรรค์ในชุมชนอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อรวบรวมสมาชิกในชุมชนตั้งแต่เด็กไปจนถึงรุ่นกลุ่มผู้สูงวัยให้ได้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ก่อให้เกิดเป็นมิตรภาพอันดีและได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในชุมชน
คุณวาสนาทำงานด้วยความทุ่มเท เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับชุมชนด้วยการทำงานที่มีความมุ่งมั่น และความหวังที่ต้องการเห็นกลุ่มผู้สูงวัยเหล่านี้ ให้ไม่ถูกทอดทิ้งเพียงลำพังอีกต่อไป.
ท่านสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มเติม ได้ที่ www.kenan-asia.org/nextgen-aging