Education, Uncategorized @th

เสริมสร้างทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสารในห้องเรียนวิทย์

ม.ค. 26,2023

4 C's learning strategyโลกของเราหมุนเร็วกว่าที่เคย นำไปสู่การก่อตัวของการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) ซึ่งชี้ให้เห็นแล้วว่า โรคระบาดและการเติบโตของเทคโนโลยีกำลังพลิกโฉมการทำงานของผู้คน การอาศัยทักษะพื้นฐานเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอในโลกปัจจุบันหรืออนาคตอีกต่อไป สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum; WEF) ประมาณการว่า ภายในปี ค.ศ. 2025 ลูกจ้างถึง 50% อาจต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร อันเป็น 2 ทักษะจาก 4C ที่สำคัญในการทำงานและการดำเนินชีวิต อันได้แก่ การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ความร่วมมือ (Collaboration) ทักษะการสื่อสาร (Communication)

การคิดวิเคราะห์เป็นทักษะสำคัญในที่ทำงาน เพราะจะช่วยให้ลูกจ้างสามารถแก้ปัญหา และพัฒนากระบวนการต่าง ๆ เพื่อยกระดับศักยภาพการทำงานให้สูงขึ้นได้ ยกตัวอย่างเช่น เวลามีข่าวพาร์ทเนอร์ที่อาจกระทบธุรกิจของเรา การรู้จักคิดวิเคราะห์จะช่วยอำนวยขั้นตอนการระดมสมองและหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับธุรกิจได้ ซึ่งทักษะนี้สามารถใช้ได้กับกิจวัตรทั่วไปได้เช่นกัน เช่น การกรองข่าวปลอมจากโซเชียลมีเดียหรือมิจฉาชีพ ซึ่งคนที่มีทักษะการคิดวิเคราะห์มีแนวโน้มที่จะถูกหลอกน้อยกว่าคนที่ขาดทักษะนี้

ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่ทรงพลัง และสามารถกระตุ้นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อื่น ๆ ตามมาได้ รวมถึงการคิดวิเคราะห์ด้วยเช่นกัน นอกจากการพูดแล้ว การรับฟังและสังเกตการณ์ก็สำคัญ เพราะหากลูกจ้างสื่อสารได้ไม่ดี โครงการก็อาจไม่ประสบความสำเร็จ เพราะเป้าหมายของงานไม่ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอย่างชัดเจน

การคิดวิเคราะห์และทักษะการสื่อสาร ผ่าน Claim-Evidence-Reasoning (CER) 

โรงเรียนคือสถานที่แรก ๆ ที่นักเรียนจะได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร จึงนำไปสู่ความท้าทายในหลาย ๆ โรงเรียนที่ต้องปลูกฝังทักษะเหล่านี้ผ่านการเรียนการสอนแบบเดิม ๆ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียทำงานเพื่อสร้างทักษะให้แก่นักเรียนทั่วประเทศไทยมายาวนาน เราสนับสนุนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based Science) ให้ครูวิทยาศาสตร์จากโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งหนึ่งในเทคนิคการสอนที่ส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสารได้ คือ ข้อกล่าวอ้าง-หลักฐาน-การให้เหตุผล หรือ Claim-Evidence-Reasoning (CER) อันเป็นการสอนที่ออกแบบมาเพื่อให้นักเรียนได้คิดและเขียนตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ถามคำตอบคำ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อนักเรียนตั้งข้อกล่าวอ้างหรือคำตอบขึ้นมา พกวเขาก็ต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนประเด็นดังกล่าว ตามด้วยการเชื่อมโยงบนหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

ข้อกล่าวอ้าง (Claim) ข้อสรุปคำตอบของคำถาม
หลักฐาน (Evidence) ชุดข้อมูลที่มาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างหรือคำตอบ (เช่น ตาราง แผนผัง แผนภูมิ และการสังเกต)
การให้เหตุผล (Reasoning) คำอธิบายที่มารองรับว่าทำไมข้อเท็จจริง (หลักฐาน) จึงมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้าง

ตัวอย่างห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ตามแบบ CER

ยกตัวอย่างจากปัญหาเรื่องความหนาแน่นของของเหลว จากด้านล่างคือรูปของเหลว 3 ชนิด ที่แบ่งชั้นกันอย่างชัดเจน คุณคิดว่าของเหลวใดมีความหนาแน่นมากที่สุด?

Claim-Evidence-Reasoning CER

หลายคนมักจะตอบแค่ว่าน้ำเชื่อม แต่หากมองในแง่ของการเรียนรู้ นี่ยังไม่ใช่คำตอบที่ครบถ้วน เพราะการตอบคำถามโต้ง ๆ ออกมาเพียงอย่างเดียวอาจทำให้นักเรียนไม่ได้ฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสาร จากตารางด้านล่างคือตัวอย่างคำตอบที่ได้มาจากการเรียนรู้แบบ CER

ข้อกล่าวอ้าง (Claim) น้ำเชื่อมมีความหนาแน่นมากที่สุด
หลักฐาน (Evidence) เพราะจากการสังเกตการณ์จะเห็นว่าน้ำเชื่อมอยู่ล่างสุด ใต้น้ำและน้ำมัน
การให้เหตุผล (Reasoning) ไม่ว่าจะเป็นของแข็งหรือของเหลว ของที่มีความหนาแน่นมากที่สุดมักจะจมอยู่ใต้ของที่มีความหนาแน่นน้อยกว่า

CER สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้เช่นกัน โดยหนึ่งในครูที่เข้าร่วมการอบรมของมูลนิธิคีนันฯ ได้นำรูปแบบการสอนนี้ไปปรับใช้เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้แก่นักเรียน เธอถามนักเรียนว่าเราควรฉีดวัคซีนหรือไม่ แล้วปล่อยให้นักเรียนได้ค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต แล้วค่อยกลับมาให้คำตอบโดยใช้วิธีการ CER การเรียนการสอนรูปแบบนี้ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของนักเรียนเป็นอย่างมาก เพราะพวกเขาต้องพิจารณาหลาย ๆ ประเด็น พร้อมกับยกข้อสนับสนุนและเหตุผลมารองรับ ก่อนที่จะตอบคำถามหรือแแชร์ไอเดียในห้องเรียน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ จึงทำให้นักเรียนได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และการสื่อสารได้นั่นเอง

CER เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ แนวการเรียนการสอนที่มูลนิธิคีนันฯ นำมาอบรมเพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้แก่คนรุ่นใหม่ พร้อมกับทักษะอื่น ๆ ที่จำเป็นเพื่อบรรลุวิชาชีพที่ต้องการและศักยภาพที่สูงขึ้น

เขียนโดย  ฐิติรัต สุรทิณฑ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการศึกษา มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ