ข่าวสารโครงการ Chevron Enjoy Science
จากซ้าย: ดร.พิเชฎษ์ จับจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท
เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด นายศิวาโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็ม ภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็มระดับจังหวัด
โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ได้จัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็มระดับจังหวัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่นเป็นจังหวัดแรก เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2558 เพื่อให้คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้ร่วมประชุมกำหนดแผนงานเพื่อขับเคลื่อนสะเต็มศึกษาในระดับจังหวัดในประเด็นต่างๆ เช่น แผนกลยุทธ์ในระดับจังหวัด การสนับสนุนการพัฒนาครูวิทยากร การพัฒนาอย่างยั่งยืนของศูนย์สะเต็มศึกษาระดับภูมิภาค เป็นต้น
ทั้งนี้ จ. ขอนแก่นถือเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษา การเงิน การปกครองและการขนส่งของภูมิภาค และเป็นจังหวัดนำร่องของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ร่วมกับ จ.สมุทรปราการและ จ.สงขลา ที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์สะเต็มศึกษา 3 แห่งในปีแรกของโครงการฯ เพื่อพัฒนาวิชาชีพครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หลักสูตรการเรียนการสอนและเครือข่ายโรงเรียนแม่ข่ายให้มีความยั่งยืน โดยแต่ละจังหวัดจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนเป็นของตัวเองเพื่อดูแลเรื่องการบริหารและดำเนินการ
สำหรับ จ.ขอนแก่น สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จะทำหน้าที่เป็นศูนย์สะเต็มศึกษา (STEM Hub) ในระดับภูมิภาคให้กับทางโครงการฯ เพื่อเป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานพัฒนาการเรียนการสอนด้านสะเต็มศึกษาให้กับทั้ง 123 โรงเรียนในจังหวัดขอนแก่นที่เข้าร่วมโครงการฯ
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า “จ. ขอนแก่นถือเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญต่อการเป็นส่วนเชื่อมของ East-West Economic Corridor ด้วยเหตุนี้ขอนแก่นจำเป็นต้องมีบุคลากรรองรับการเจริญเติบโตด้านต่างๆ ใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยการที่ได้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาทำหน้าที่ในส่วนของศูนย์สะเต็มศึกษาจะสามารถช่วยเชื่อมโยงโครงการฯ กับภาคส่วนต่างๆเพื่อความยั่งยืนในการดำเนินงานได้”
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและการถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีความยินดีที่ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เพราะถือเป็นหนึ่งในภารกิจของมหาวิทยาลัยในการสนับสนุนและบริการวิชาการและถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม โดย มข. ถือเป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของประเทศ มีองค์ความรู้และความพร้อมทางด้านบุคลากรและเครื่องมือ การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ นอกจากที่ มข.จะสามารถเป็นตัวเชื่อมกับภาคส่วนต่างๆแล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่เรามีอยู่มาช่วยสนับสนุนโครงการฯ ได้ในอนาคต”
ด้าน ดร. พิเชฎษ์ จับจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงความสำคัญของความร่วมมือในระยะยาวว่า “โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ เปรียบเหมือนโครงการนำร่องที่ สพฐ. สามารถตกผลึกองค์ความรู้เพื่อใช้ต่อยอดทั่วประเทศได้ เช่น การตั้งศูนย์บริหารจัดการและกระจายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์สำหรับโรงเรียนขยายโอกาส”
นายศิวาโรจน์ มุ่งหมายผล รองผู้ว่าราชการ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า “การมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็ม นอกจากจะช่วยพัฒนาการศึกษาสะเต็มในจังหวัดขอนแก่นแล้ว ยังจะสร้างประโยชน์ไปสู่ประชาชนในท้องถิ่น โดยจะช่วยสนับสนุนให้จังหวัดขอนแก่นสามารถก้าวไปเป็นจังหวัดที่มีความน่าสนใจในด้านการการค้าและการลงทุน และดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาสะเต็มจะมีอีกครั้งในช่วงต้นปี 2559 ที่ จ.ขอนแก่น”
กิจกรรมล่าสุด
พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อจัดตั้งศูนย์อาชีวศึกษาระดับภูมิภาคประจำภาคเหนือ
กิจกรรมการอบรมนักเรียนผู้ช่วยครู (Student Lab Assistants)
“นักเรียนผู้ช่วยครู” จะเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญยิ่งที่จะทำหน้าที่ช่วยครูผู้สอนในการเตรียมอุปกรณ์ก่อนการสอน และจัดเก็บและบำรุงรักษาอุปกรณ์ในห้องเก็บอุปกรณ์เมื่อเรียนเสร็จ นอกจากนี้ นักเรียนผู้ช่วยยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เพื่อนร่วมชั้นมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนแบบแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning) การอบรมนอกจากจะจัดขึ้นให้แก่นักเรียนจากโรงเรียนแม่ข่ายในจังหวัดสมุทรปราการแล้ว ในอนาคตยังจะจัดขึ้นในจังหวัดสงขลาและขอนแก่นอีกด้วย
การอบรมดูงานการจัดการความปลอดภัยสำหรับผู้บริหาร
การฝึกอบรมสะเต็มระดับจังหวัด
การประชุมวางแผนการจัดการเรียนรู้
ข่าวสารสะเต็มศึกษา
กรณีศึกษาสำหรับประเทศไทย เรื่องนโยบายสะเต็มศึกษาของสหภาพยุโรป
สะเต็มศึกษาที่มีคุณภาพนอกจากจะเป็นฐานสำหรับการสร้างนวัตกรรมของประเทศแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กๆ เกิดความสนใจใฝ่รู้ และสนุกไปกับวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันของพวกเขา และนำพาพวกเขาให้เข้าสู่เส้นทางในการทำงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสะเต็ม
เพื่อสร้างความเข้าใจด้านตลาดแรงงานที่เกี่ยวข้องกับทักษะด้านสะเต็มให้ดียิ่งขึ้น ตลอดจนวิธีการต่างๆ ในการส่งเสริมสะเต็มศึกษา สำนักงานนโยบายภายในของรัฐสภายุโรปได้จัดทำงานศึกษาชื่อ “Encouraging STEM Studies for Labor Market” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการในการเพิ่มจำนวนแรงงานที่มีทักษะด้านสะเต็ม ซึ่งสอดคล้องกับกับความต้องการพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศไทย
โดยงานศึกษาชิ้นนี้สะท้อนว่างานด้านสะเต็มกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ ในหลายๆ อุตสาหกรรมและความเชี่ยวชาญทั้งในสหภาพยุโรป และทั่วโลก (คาดการณ์ว่าในระหว่างปี 2556-2568 จะมีความต้องการงานด้านสะเต็มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8 เปรียบเทียบกับความต้องการแรงงานด้านอื่นๆ ซึ่งมีเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น) ในขณะเดียวกันจำนวนแรงงานด้านสะเต็มในปัจจุบันกลับกำลังเข้าสู่ช่วงวัยเกษียณ แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้มีการเพิ่มงานด้านสะเต็มประมาณ 7 ล้านตำแหน่งในปี 2568
ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้านสะเต็ม แต่ทว่าการจ้างงานกลับอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แม้กระทั่งในช่วงวิกฤตการณ์การเงินโลก จำนวนนักเรียนที่เลือกศึกษาด้านสะเต็มกลับมีจำนวนน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับมัธยมศึกษา ยิ่งไปกว่านั้นโปรแกรมด้านสะเต็มสำหรับผู้หญิงยังมีจำนวนจำกัดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตรงกับข้อมูลของประเทศไทย จากการสำรวจของธนาคารโลกและสำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่พบว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดกำลังคนด้านสะเต็มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้งานศึกษาของรัฐสภายุโรปหลายข้อตรงกับสถานการณ์ของประเทศไทย เช่นในส่วนของนโยบายการศึกษาที่แบ่งได้ออกเป็น 3 แนวทางคือ 1. การพัฒนาหลักสูตรและกลวิธีการสอน 2. การพัฒนาวิชาชีพครู 3. การส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ให้เข้าถึงสะเต็มศึกษา ซึ่งการผสมผสานทั้งสามแนวทางโดยปรับสัดส่วนให้สมดุลย์กัน จะช่วยส่งเสริมสะเต็มศึกษาให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
งานศึกษานี้ยังได้แนะนำถึงความจำเป็นของการทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและโรงงาน (ภาคอุตสาหกรรม) ต่อการดำเนินนโยบายใน 3 แนวทาง ซึ่งความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและโรงงานจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทั้งสามแนวทางได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทางด้านการส่งเสริมอาชีพ พร้อมๆ ไปกับการสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนมีความสนใจต่อสะเต็มศึกษามากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและโรงงาน (ภาคอุตสาหกรรม) ยังมีน้อยมาก
งานศึกษาชิ้นนี้ยังได้ระบุอีกด้วยว่า ในขณะที่มีความพยายามที่จะผลักดันสะเต็มศึกษาและการเพิ่มโอกาสทางอาชีพ แต่การทำงานร่วมกันระหว่างโรงเรียนและภาคอุตสาหกรรมกลับไม่ได้รับความใส่ใจ โดยนโยบายส่วนใหญ่มุ่งไปที่เรื่องการพัฒนาการศึกษามากกว่าเรื่องของตลาดแรงงานและมาตราฐานอุตสาหกรรม
งานศึกษาชิ้นนี้ได้สรุปถึงปัญหาสำคัญของนโยบายสะเต็มศึกษาคือ การไม่มีกรอบการทำงานด้านการประเมินผลนโยบายด้านสะเต็มศึกษาระดับประเทศและการปฏิรูปนโยบาย เพราะการปราศจากทิศทางการทำงานของผู้เกี่ยวข้องทำให้ไม่สามารถยกระดับระบบการศึกษาของประเทศได้
ทั้งนี้โครงการ ได้พยายามพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันและนวัตกรรมของประเทศไทย ด้วยการยกระดับสะเต็มศึกษาและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพทั่วประเทศ โดยที่ผ่านมาโครงการฯ ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วหลายเรื่อง เช่นเรื่องการก่อตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ เพื่อเชื่อมโยงโรงงานและโรงเรียนเข้าด้วยกัน และการพัฒนากรอบการทำงานของผู้เกี่ยวข้องต่อการดำเนินนโยบายด้านการศึกษา เมื่อประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปี 2558 นี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะนำบทเรียนจากประเทศอื่นๆ มาปรับใช้เพื่อยกระดับระบบการศึกษาของประเทศ
แหล่งที่มา: Encouraging STEM Studies for the Labour Market
ขอแนะนำ ดร.อารา บาแซม ผู้อำนวยการโครงการ
ร่วมพัฒนาผู้นำในอนาคตของประเทศไทย
ก่อนที่จะร่วมงานกับ Chevron Enjoy Science ดร.อารา เคยดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายวิจัยและโครงการริเริ่ม ของมหาวิทยาลัยอริโซน่า สเตท (Arizona State University) สหรัฐอเมริกา มานานกว่า 5 ปี โดยดูแลโครงการวิจัยที่มีงบประมาณมากกว่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ เขายังได้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะทำงานให้กับโครงการขององค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ในประเทศอินเดีย เป็นเวลากว่า 3 ปี ทั้งยังมีประสบการณ์ในฐานะผู้แทนด้านเทคนิกและเจ้าหน้าที่ดูแลกิจการสาธารณะให้กับ USAID อีกด้วย ดร.อารา สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยทัฟท์ (Tufts University) ปริญญาโทเกียรตินิยมสาขาศาสนศึกษา และปริญญาเอกสาขาจริยศาสตร์ประยุกต์จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
ประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมาทำให้คุณมีความพร้อมในการนำโครงการ Chevron Enjoy Science ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร?
การทำงานที่มหาวิทยาลัย อริโซน่า สเตท ทำให้ผมมีความพร้อมต่อความท้าทายใหม่ๆที่น่าตื่นเต้นในประเทศไทย นี่คือหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้ผมเข้าร่วมโครงการ Chevron Enjoy Science ผมอยามมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์และขยายโครงการ พร้อมแบ่งปันสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มา โครงการล่าสุดที่ผมดูแลเป็นข้อตกลงความร่วมมือโครงการแรก ระหว่างกระทรวงพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ USAID และมหาวิทยาลัย อริโซน่า สเตท เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูระบบการศึกษาสาธารณะของประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุด โครงการดังกล่าวมุ่งสร้างเสริมศักยภาพของชุดเครื่องมือสำหรับนักการศึกษา โดยเน้นที่การเรียนรู้แบบสร้างสรรค์และการสอนแบบมีปฏิสัมพันธ์ รวมถึงพัฒนาวิธีการสอนในวิชาเฉพาะ ได้แก่ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวรรณคดี สำหรับโครงการ Chevron Enjoy Science มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือ เพื่อสนับสนุนนักการศึกษาของไทยทั่วประเทศ
บทเรียนในการปฏิรูปการศึกษาที่คุณได้มาจากการทำงานให้กับมหาวิทยาลัยอริโซน่า สเตท มีอะไรบ้าง?
เราต่างทราบกันดีจากข้อมูลการวิจัยว่า ปัจจัยในโรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดคือ ครู ถ้าเราสามารถปรับพฤติกรรมของครูผู้สอนให้เป็นไปในเชิงบวก โดยเพิ่มทักษะการสอนและขยายขีดความสามารถในการดึงให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ จะสามารถสร้างผลกระทบในทางบวกให้กับการเรียนรู้และความสำเร็จของนักเรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า นักเรียนในวันนี้ คือ ผู้นำในอนาคต และเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศต่อไป ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกาหรือประเทศไทย
อุตสาหกรรมที่เติบโตเร็วที่สุด 25 สาขา ต้องใช้ความรู้และความชำนาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่าสะเต็ม (STEM) มากกว่าที่นักเรียนนักศึกษาในปัจจุบันมี การสนับสนุนสะเต็มศึกษาและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET) ให้กับเด็กไทยของโครงการ Chevron Enjoy Science จะช่วยให้ประเทศไทยมีทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและคงความสามารถในการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลก
แนวทางปฏิบัติใดที่ประเทศไทยสามารถนำมาใช้พัฒนาภาคการศึกษาได้?
ความร่วมมือเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างสรรค์ผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว การยกระดับคุณภาพของ STEM และ TVET ในประเทศไทยถือเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือและการลงมือปฏิบัติจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่รัฐบาล ภาคเอกชน นักวิชาการ และอื่นๆ โครงการ Chevron Enjoy Science มีวิสัยทัศน์ที่เป็นหนึ่งเดียวในการปฏิรูปการศึกษา ผ่านการใช้แหล่งทรัพยากรสำคัญ ด้วยทุนสนับสนุนจากเชฟรอน พร้อมกับการสร้างเครือข่ายมืออาชีพที่ทุ่มเทเพื่อสร้างการตอบสนองของหลากหลายภาคส่วนที่ประสานเป็นหนึ่งเดียวเพื่อพัฒนาภาคการศึกษาของประเทศ
ครูในชีวิตของคุณได้สร้างแรงบันดาลใจต่อคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อย่างไร?
ครูเป็นผู้มีความสามารถในการเปลี่ยนชีวิตของนักเรียน ผมมีความชื่นชอบและมีความเข้าใจในโลกแห่งธรรมชาติจากแรงบันดาลใจที่ได้รับจากครูชีววิทยาในสมัยมัธยมปลาย ครูพาผมและเพื่อนออกนอกห้องเรียนเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับโลกความเป็นจริง โดยใช้การเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้ผมมีความเข้าใจเชิงวิทยาศาสตร์ต่อโลกรอบตัว ช่วยให้ผมเปลี่ยนมุมมองและเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น ตัวอย่างเช่น ในช่วงฤดูใบไมร่วง เมื่อใบไม้ที่บ้านเกิดเปลี่ยนสี จากสีเขียวสู่การประสานสีอันเรืองรองของสีแดง เหลือง และส้ม ครูช่วยให้เราเข้าใจถึงกระบวนการที่อยู่เบื้องหลังความงามของธรรมชาติที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้ผมชื่นชอบในโลกแห่งธรรมชาติและรู้จักนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในหลายแง่มุมของชีวิต
ผลประโยชน์ในระยะยาวในการพัฒนาการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของนักเรียนมีอะไรบ้าง แล้วจะส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมอย่างไร?
ผลการศึกษาจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มเติบโตขึ้นมากกว่าสายวิชาชีพที่ไม่เกี่ยวข้องกับสะเต็มถึง 3 เท่า สะเต็มศึกษาจะเป็นสิ่งสำคัญต่อการสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เหตุผลทางเศรษฐกิจไม่ควรเป็นเหตุผลหลักเหตุผลเดียวที่ทำให้สะเต็มมีความสำคัญต่อนักเรียน สำหรับผม สะเต็มจะมีส่วนสำคัญในการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและค้นหาวิธีการแก้ไข สำหรับทีมงานโครงการ Chevron Enjoy Science สะเต็มเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ที่ตื่นเต้นและสนุกสนาน ซึ่งช่วยสนับสนุนให้นักเรียนมีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ไขปัญหา เพื่อเป็นนักเรียนรู้ที่กระตือรือร้นในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม
ทีมงาน Chevron Enjoy Science จะเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านการศึกษาในประเทศไทยอย่างไร?
ทีมงาน Chevron Enjoy Science เป็นกลุ่มคนทำงานมืออาชีพผู้มีความสนใจและทุ่มเทให้กับเป้าหมายในการสร้างระบบการศึกษาที่เป็นเลิศและเป็นธรรมให้กับประเทศไทย ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก ผมขอขอบคุณเชฟรอน พันธมิตร และรัฐบาลไทยในการสนับสนุนโครงการ Chevron Enjoy Science ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะแบ่งปันความตื่นเต้นในเส้นทางการดำเนินโครงการและโอกาสที่เรามีร่วมกัน เพื่อทำบางสิ่งบางอย่างที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียิ่งขึ้นอย่างแท้จริง
ข่าวสารการศึกษาไทย
รัฐบาลปฏิรูปอาชีวะ เรียน ม.ปลายควบ ปวช.ได้วุฒิคู่
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาด้านอาชีวะ โดยประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการผลิตกำลังคน กำหนดค่าตอบแทนตามระดับความสามารถของฝีมือแรงงาน รวมถึงส่งเสริมให้เอกชนมีส่วนร่วมจัดการศึกษาในรูปแบบทวิภาคีมากขึ้น โดยในปี 2558 มีสถานประกอบการให้ความร่วมมือ 10,527 แห่ง เพิ่มขึ้นจากปี 2555 ถึง 2.75 เท่า และมีจำนวนนักเรียนสายอาชีวะเพิ่มขึ้นเป็น 91,448 คน ซึ่งสะท้อนว่ารัฐบาลสามารถกระตุ้นให้นักเรียนและผู้ปกครองให้ความสนใจกับการศึกษาสายอาชีพมากขึ้น
สำหรับปีการศึกษา 2559 สถาบันอาชีวศึกษาจะร่วมกับสถานประกอบการเปิดหลักสูตรเพื่อส่งเสริมความเป็นเลิศเฉพาะทาง โดยนำร่องในสาขาวิชาพาณิชย์นาวี การขนส่งระบบราง ปิโตรเคมี แม่พิมพ์ การผลิตไฟฟ้า ท่องเที่ยวและเทคโนโลยีอาหารปลอดภัย ส่วนในปีการศึกษา 2560 จะเปิดเพิ่มในสาขาปิโตรเลียม ชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และโรงแรม รวมถึงได้ร่วมกับประเทศจีนในการส่งนักศึกษา ปวส. ไปฝึกงานด้านการขนส่งระบบรางเป็นเวลา 1 ปี และเปิดหลักสูตรการขนส่งระบบรางในประเทศไทย เพื่อสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวทิ้งท้ายว่า เป้าหมายในการปฏิรูปอาชีวศึกษาจะมุ่งเน้นไปที่การผลิตนักเรียนอาชีวะให้มีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคปฏิบัติ เป็นฝีมือแรงงาน มีทักษะความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรม และสามารถเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ภายใต้แนวคิด “อาชีวศึกษา ฝีมือชน คนสร้างชาติ”
กิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้น
โครงการมหาวิทยาลัยเด็ก
โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีในการขับเคลื่อนการดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยเด็ก ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โครงการฯ จะจัดกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์ ให้แก่เยาวชนและนักเรียนในเขตจังหวัดกรุงเทพมหานครฯ และจังหวัดใกล้เคียงในวันพฤหัสบดีที่ 14 มกราคม 2559 ณ อาคารมหามกุฏ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุกไปกับกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ที่เหล่าภาคีทั้งหมดกว่า 10 ภาคีได้จัดเตรียมไว้
งานวันเด็กแห่งชาติ
พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์เตรียมร่วมจัดงานวันเด็กแห่งชาติ ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในระหว่างวันที่ 7-9 มกราคม 2559 เพื่อให้เยาวชนเกิดความสนใจในวิทยาศาสตร์และได้รับแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ในอนาคต