ข่าวการฝึกอบรมครูต้นแบบ
ในวันที่ 3 – 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและฝึกอบรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม (Ministry of Education and Training: MOET) จัดกการอบรมเชิงปฏิบัติการให้กับครูต้นแบบในประเทศเวียดนาม หลักสูตรการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project Based Learning: E-PBL) 101, 102 และโครงการการจัดการเรียนรู้โดยใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน (Technology Enhanced Learning: TEL)
- อัพเดทสถานะและนโยบายด้านสะเต็มศึกษาในภาคการศึกษา พ.ศ. 2564 – 2565
- ชี้แจงบริบทการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาโดยใช้โครงการเป็นฐานคุณภาพสูงจากตัวอย่างระดับสากล
- มอบองค์ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการและออกแบบเนื้อหาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรม เพื่อใช้ในการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา
- ยกตัวอย่างโครงการสะเต็มศึกษาที่จะนำไปใช้และดัดแปลงเพื่อการฝึกอบรมครูต้นแบบและการสอนในสถานศึกษา
ครูต้นแบบทั้ง 11 ท่าน พร้อมผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการรับรองด้านการศึกษาจากหน่วยงานด้านการศึกษาของรัฐ มหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษาในประเทศเวียดนาม เข้าร่วมโครงการฯ โดยหน่วยงาน MOET คัดเลือกตัวแทนกลุ่มนี้มาเพื่อความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบสะเต็มศึกษา นักการศึกษาบางส่วนยังเคยมีส่วนร่วมเชิงลึกตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มที่ระบบสะเต็มศึกษาเข้ามาในประเทศอีกด้วย
การฝึกอบรมระยะเวลา 2 วัน ประกอบด้วย โครงการสะเต็มศึกษา 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการแพร่ระบาดและโครงการสำรวจระยะไกล
โครงการการแพร่ระบาดพูดถึงกลไกการแพร่กระจายและวิธีหยุดยั้งเชื้อไวรัส ซึ่งมีประสิทธิภาพและเหมาะกับสถานการณ์โควิดในปัจจุบัน ครูต้นแบบทั้ง 11 ท่าน ได้เข้าร่วมการฝึกอบรมในรูปแบบออนไลน์ เพื่อสอดรับกับนโยบายรักษาระยะห่างของรัฐ
นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จะได้เรียนเรื่องพื้นฐาน ก่อนจะลงลึกในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ครูต้นแบบจึงสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้จากการฝึกอบรมไปปรับใช้กับหลักสูตรของโรงเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเนื้อหายังสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนสนุกไปกับการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา ซึ่งหัวข้อมักจะเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ปัจจุบันและกิจวัตรในชีวิตจริง โครงการฯ ยังมุ่งสร้างนิสัยเชิงวิศวกรรมให้ผู้เรียนนำไปแก้ปัญหาได้จริงอีกด้วย
โครงการสำรวจระยะไกล เป็นการรวบรวมข้อมูลทางไกล ทั้งสหวิชาการไปจนถึงวิชาเฉพาะทางในมหาวิทยาลัยในประเทศเวียดนาม ในขณะเดียวกัน โครงการยังแบ่งปันองค์ความรู้บางส่วนให้กับนักเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับแสงที่สอนในชั้นมัธยมศึกษปีที่ 1) การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาในชั้นเรียนจะช่วยให้ครูสามารถสาธิตวิธีการนำความรู้ไปใช้จริง ซึ่งเด็ก ๆ สามารถนำไปต่อยอดในสายงานและค่อย ๆ ตกตะกอนเป็นนิสัยที่สนใจประเด็นการพัฒนาสังคม ผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติของมูลนิธิคีนันฯ มีโอกาสแบ่งปันวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้แก่ครูต้นแบบ เพื่อให้พวกเขาสานต่อระบบสะเต็มศึกษา โดยใช้วิธีการเรียนรู้ที่มีโครงงานเป็นฐาน ผ่านทั้ง 2 โครงการข้างต้น
หลังจบการฝึกอบรมทั้งสองวัน เราได้เห็นผลตอบรับเชิงบวกจากครูต้นแบบ ที่ได้มีโอกาสปรับใช้สะเต็มศึกษาในชั้นเรียน พวกเขายังร่วมแบ่งปันความเห็นเกี่ยวกับสะเต็มศึกษาและการนำระบบการเรียนรู้นี้ไปปรับใช้ในชั้นเรียนอีกด้วย
ดร. Son จากแผนกศึกษาธิการและฝึกอบรมประจำกรุงฮานอย (Hanoi Department of Education and Training: DoET) ร่วมแบ่งปันความเห็น “พวกเราก็พอคุ้นเคยกับสิ่งที่โครงการสอนอยู่แล้ว แต่วิธีการจากผู้เชี่ยวชาญเข้าถึงง่ายกว่ามาก ซึ่งกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ผมอยากใช้พลังและความกระตือรือร้นแบบเดียวกันตอนร่วมงานกับครูท่านอื่น การกลั่นข้อมูลความรู้ที่ละเอียดมาก ๆ ถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่จากการฝึกอบรมใน 2-3 วันมานี้ ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้วิธีการใหม่ ๆ ในการทำงานได้ และบรรดาคุณครูยังมีโอกาสนำสะเต็มศึกษาไปใช้ในห้องเรียน ได้ผิดพลาด แบบเดียวกับที่นักเรียนจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาด พวกเราควรตระหนักได้ว่า อะไรที่ควรพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ต่อไป หากไม่มีคำแนะนำในใจ เราก็แค่เสาะหาต่อไป เพื่อพัฒนาระบบสะเต็มศึกษาในชั้นเรียน”
ระหว่างการหารือเพื่อพัฒนาแผน ดร. Chinh จากหน่วยงาน MOET ยังกล่าวเสริมอีกว่า “การใช้สะเต็มศึกษาในชั้นเรียนควรจะง่าย เพื่อกระตุ้นให้ครูนำไปใช้กันเยอะขึ้น เหตุผลที่ผมเสนอเช่นนี้ เนื่องจากคณะปรับแก้แบบเรียน (Textbook Revising Board) เป็นฝ่ายตัดสินใจว่านักเรียนจะได้เรียนเนื้อหาวิชาแบบไหน ดร. Mai Sy Tuan เองก็เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาวิทยาศาสตร์ หากครูสอนตามแบบเรียน นักเรียนก็ควรได้รับความรู้และยกระดับความสามารถได้ อย่างน้อย ๆ ในตอนนี้ เราก็ไม่ควรหันไปขอให้ครูผันตัวเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพื่อระบุความสามารถของเด็ก ๆ ในชั้นเรียน เพราะจะเป็นการเพิ่มงานและภาระให้กับตัวครูเอง เราต้องการให้ครูทำงานได้อย่างคล่องตัวและจดจ่อกับสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องหมั่นพัฒนาทักษะการสอนไปพร้อมกันด้วย สำหรับผมแล้ว ทั้งหมดนี้คือการพลิกโฉมสู่สะเต็มศึกษา”