Blog (TH), Uncategorized @th

เหลียวมองคุณภาพชีวิต

ม.ค. 26,2023

ฮือฮากันมาบ้างแล้วในอดีตเมื่อประเทศภูฏานได้ประกาศใช้ ความสุขมวลรวมประชาชาติ  (Gross National Happiness-GNH)    เป็นตัวกำหนดการดำเนินนโยบายภายใต้กรอบความคิดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีและความทันสมัย  ระหว่างความมั่นคงทางเศรษฐกิจกับความเข้มแข็งของสังคมอันเกิดจากความพึงพอใจในคุณค่าแท้ของการบริโภคนั้นๆ  โดยประเพณีดั้งเดิมแล้วประเทศส่วนใหญ่ในโลกเน้นการวัดผลเป็นตัวเงินผ่านผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (Gross Nation Product) หมายถึง มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการขั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตหรือใช้บริการภายในประเทศในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่คำนึงว่าผลผลิตนั้นจะผลิตขึ้นมาด้วยทรัพยากรของชาติใด

ในกรณีของประเทศภูฏานที่สร้างความแตกต่างในการสร้างนโยบายในการพัฒนาประเทศอิงตามความสุขของประชาชน โดยชี้ให้เห็นว่าความเจริญทางเศรษฐกิจและการบริโภคแต่เพียงอย่างเดียว มิได้เป็นตัวบ่งชี้ถึงการเจริญก้าวหน้าและการพัฒนาของประเทศเสมอไป เมื่อประชาชนมีความกินดีอยู่ดีจนถึงระดับหนึ่งแล้ว ความสุขก็ไม่จำเป็นที่จะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้อีกต่อไป (เข้าทำนองมีเงินก็ใช่ว่าจะมีความสุขเสมอไป)และนี่คือจุดสำคัญที่ทำให้มุมมองการพัฒนาคุณภาพชีวิตเปลี่ยนไป

แนวคิดคุณภาพชีวิต (Quality of Life : QOL) เป็นแนวคิดที่นิยมใช้กันทั่วโลก มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาทางสังคมแบบยั่งยืน ในประเทศไทยนั้นท่านอาจารย์ดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้ให้ทัศนะคุณภาพชีวิตของคน โดยเริ่มตั้งแต่การอยู่ในครรภ์ของมารดา ไปจนถึงการมีชีวิตตามความเหมาะสมกับอัตภาพ เน้นด้านความเสมอภาคของคนที่จะได้รับบริการสังคมจากรัฐ สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วนิยมใช้แนวคิดมาตรฐานคุณภาพชีวิตกับการพัฒนาแบบยั่งยืนเข้าด้วยกัน โดยเลือกใช้เฉพาะตัวชี้วัดที่สำคัญ ๆ เท่านั้น ไม่นิยมใช้ตัวชี้วัดที่มีจำนวนมาก โดยที่ประเทศอังกฤษก็จะดูที่ 3 ตัวชี้วัดหลักคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

นักวิชาการต่างประเทศหลายท่านที่แสดงความชื่นชมรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลในประเทศเล็กๆอย่างภูฏาน หรือประเทศในกลุ่มยุโรปที่หันมาให้ความสนใจในเรื่องคุณภาพชีวิต ความสุขของประชาชน ร่วมกับการพัฒนาในเชิงเศรษฐกิจในแบบดั้งเดิม แต่ก็ยังคงมีคำถามว่าจะวัด ความสุขอย่างไร เพราะความสุขนั้นเป็นเรื่องความคิดเห็นส่วนบุคคล บางท่านอาจใช้คำว่า Subjective หรือ อัตวิสัย ซึ่งถ้าวัดแต่ความสุขโดยดูเป็นความรื่นเริง ดีใจ ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็คงไม่เพียงพอในการชี้วัด เพราะการจะมีความสุขนั้นขึ้นอยู่กับบริบทแวดล้อมอื่นๆ ทางด้านสังคมด้วย Dr. Martin Seigman นักจิตวิทยาชาวอเมริกา ได้ศึกษาร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย Cambridge โดยทำการศึกษากับกลุ่มประเทศในแถบยุโรบเรื่องของความสุข เพราะต้องการค้นหาว่า อะไรคือความสุข ตัวชี้วัดความสุข และการทำให้เกิดความสุขนั้นทำได้อย่างไร ในทัศนะของชาวตะวันตก Dr. Seigman ไม่เชื่อว่าความสุข วัดได้แค่จากเรายิ้ม หัวเราะ เฮฮา หากแต่ตั้งคำถามที่ว่า ทำไมพ่อแม่ที่เหนื่อยยากลำบากในการเลี้ยงลูกจึงมีความสุข ทำไมคนที่เป็นอาสาสมัครทำงานในพื้นที่ทุรกันดานแต่กลับมีความสุข แล้วความสุขคืออะไร ต้องอยู่สบายจึงมีความสุขจริงหรือไม่ จากการศึกษาครั้งนี้พบว่าความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความรื่นเริงของปัจเจกบุคคลเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของคนๆนั้นกับผู้อื่น และความรู้สึกที่เขาเหล่านั้นจะสามารถประสบความสำเร็จเกี่ยวกับด้านใดด้านหนึ่ง และความสำเร็จนั้นมีคุณค่ากับผู้อื่น การค้นพบเหล่านี้ดูเรียบง่าย หากแต่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไรนั้นคงต้องไปทำการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการและถอดบทเรียนกันอีกครั้งหนึ่ง

คุณภาพชีวิตจึงไม่ใช่แค่การมองว่าวันนี้เรามีทรัพย์สิน สิ่งของ ทรัพย์สฤงคารมา แต่ยังหมายถึงความคุ้มค่า และความพึงพอใจตามสภาพที่ตนเองเป็นอยู่ และที่สังคมได้รับผลกระทบ ในวาระที่เป็นช่วงต้อนรับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในช่วงปีใหม่นี้ จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีที่เราจะคืนความสุขให้ตัวเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมรอบข้าง ด้วยการเหลียวมองคุณภาพชีวิตที่ไม่ใช่แค่พลุดอกไม้ไฟ และงานเลี้ยงใหญ่โต แต่การทำอะไรเพื่อคนอื่นๆ และร่วมสร้างความสุขร่วมกันในสังคมประเทศไทย

พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ผู้จัดการฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

Share this article

Latest.

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

People at Kenan: ดร.วิชัย ลิมปิติกรานนท์

เศรษฐกิจไทยจะก้าวหน้าและพ