การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี ที่ต้องการทักษะเฉพาะ (Hard skills) และทักษะที่จำเป็น (Soft skills) ส่งผลให้บทบาทของครูเปลี่ยนไป การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมที่ครูเป็นผู้ป้อนข้อมูลความรู้เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ อีกทั้งความเหลื่อมหล้ำทางการศึกษาที่เห็นได้อย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงโควิด-19 ที่นักเรียนมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีนำไปสู่การสูญเสียโอกาสในการเรียนรู้ (Learning loss) ดังนั้นโจทย์สำคัญต่อการพัฒนาระบบการศึกษาจากนี้คือการเร่งเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นให้ตอบสนองต่อโลกในศตวรรษที่ 21 อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมมือกับบริษัท ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ไทยแลนด์ ภายใต้โครงการ 100Seed: Light up ด้วยแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) โดยการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษา ผ่านกิจกรรมการอบรมครูเชิงปฎิบัติการยกระดับการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ในรูปแบบ Active Math ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเสริมทักษะครูผู้เข้าร่วมอบรมในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์เชื่อมโยงรูปธรรมสู่นามธรรม (Concrete to Abstract) เพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจในบทเรียนอย่างมีระบบ และกิจกรรมการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Professional Learning Community) และให้คำปรึกษาโดยผู้เชื่ยวชาญต่อยอดสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างยั่งยืน
ครูสหรัฐ ปูอุตรี โรงเรียนบ้านหนองถ้ำ จ.อ่างทอง คือหนึ่งในคุณครูคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เข้าร่วมอบรมกับทางโครงการ 100Seed: Light Up ได้แบ่งปันมุมมองว่า “คณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่แทบจะอยู่ในทุกสาขาวิชาเพื่อใช้ตัวเลขแปลผลหรืออธิบายสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีหลักการ ซึ่งวิชาคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมต้นนอกจากจะมีความสำคัญเนื่องจากอยู่ในการศึกษาระดับขั้นพื้นฐาน แล้วยังมีความสำคัญสำหรับผู้เรียนที่จะสามารถใช้เชื่อมโยงหรือต่อยอดไปยังสาขาวิชาที่สูงขึ้น หรือในด้านวิชาชีพที่ตนสนใจ”
อุปสรรคในการสอนคณิตศาสตร์
ครูสหรัฐได้เล่าว่า “เนื่องจากคณิตศาสตร์ในระดับมัธยมต้นมีความยากซับซ้อนด้วยเนื้อหาที่มีความเป็นนามธรรมมากขึ้น ดังนั้นครูจะเน้นให้เด็กเห็นเป็นรูปธรรมก่อนจากสื่อการสอน แล้วเชื่อมโยงไปสู่นามธรรมเพื่อให้เด็กเกิดความเข้าใจในบทเรียน ปัญหาที่พบคือ ครูเองอาจจะยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะนำมาสอนหรือจัดกิจกรรม ด้วยสื่อการสอน เทคนิคการสอน หรือเทคโนโลยีที่ยังไม่คุ้นเคย อีกทั้งวิธีในการกระตุ้นให้เด็กสนใจและมีส่วนร่วมในชั้นเรียนก็ยังเกิดขึ้นได้ไม่มากเท่าที่ควร
“ในขณะเดียวกันโอกาสของครูในการพัฒนาการสอนคณิตศาสตร์มักจะมีไม่เยอะเท่าไรนัก ถึงแม้หลักสูตรในการเปิดอบรมมีค่อนข้างเยอะ แต่ในส่วนของคณิตศาสตร์จะมีค่อนข้างน้อย หายาก เนื่องจากหลักสูตรฝึกอบรมมีให้เลือกไม่เยอะ และรับจำนวนจำกัด หรือบางครั้งไม่ตรงกับความสนใจหรือไม่สัมพันธ์กับการนำไปใช้การสอนคณิตศาสตร์ในชั้นเรียน จึงต้องรอหลักสูตรที่เน้นการสอนคณิตศาสตร์โดยตรง”
ครูสหรัฐได้กล่าวเสริมถึงผลกระทบในช่วงโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมาว่า “นอกจากเด็กจะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่น้อย หรือไม่เท่ากันในแต่ละครัวเรือนแล้ว การตอบสนองต่อการเรียนรู้ลดลง ถึงแม้เด็กจะตอบว่าเข้าใจ แต่เราก็ยังมั่นใจได้ไม่มากพอว่านักเรียนเข้าใจได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า สิ่งที่วางแผนรับมือคือ เราก็จะต้องติดตามเด็กเป็นระยะผ่านใบงาน หรือกิจกรรมย่อยที่ได้มอบหมายเพื่อตรวจสอบความเข้าใจของเด็ก”
การเปลี่ยนแปลงห้องเรียนคณิตศาสตร์สู่ ห้องเรียน Active Math
คุณครูสหรัฐได้กล่าวถึงความประทับใจที่ได้เข้าร่วมอบรม “อย่างแรกคือการทำงานอย่างเป็นระบบของทีมฝึกอบรม ในขณะเดียวกันประเด็นสำคัญที่ได้จากการอบรมและนำไปปรับใช้คือการพัฒนาแผนการสอน เพราะ เป็นกรอบแนวทางให้ครูได้ส่งเสริมให้เด็กฝึกสรุปการเรียนรู้ พร้อมคำถามจากผู้สอนในคาบเรียน ในขณะเดียวกัน แผนการสอนยังสนับสนุนให้เด็กได้ทบทวนบทเรียนในคาบเรียนถัดไปเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่เนื้อหาหลักของคาบเรียน”
นอกจากนี้ครูสหรัฐได้เสริมว่า “เดิมครูเองจะมีคำตอบเพียงถูกและผิดเท่านั้น แต่พอเราไม่จำกัดกรอบความคิดให้เด็กและตั้งคำถามเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้นำเสนอแนวทางคำตอบให้เราจะเห็นคำตอบที่น่าสนใจอย่างอื่นที่หลากหลายมากขึ้น จึงทำให้เด็กมีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากขึ้น และบรรยากาศในชั้นเรียนก็สนุกยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันครูเองก็ได้ใช้กระบวนการการเชื่อมโยง และสรุป เพื่อให้ได้ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของคาบเรียนนั้นๆด้วยเช่นกัน ในส่วนของกิจกรรมการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ (PLC mentoring) ได้เปิดโอกาสกับครูสหรัฐในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ แนวคิดจากเพื่อนครูคณิตศาสตร์ท่านอื่น และผู้เชี่ยวขาญเพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนของตนเองมากยิ่งขึ้น”
มุมมองที่เปลี่ยนไปในการจัดการเรียนการสอนคณิตศาสตร์แบบ Active Math
ครูสหรัฐแบ่งปันมุมมองหลังจากที่ได้นำ Active Math ไปใช้ว่า “จากเดิมคณิตศาสตร์จะเน้นที่การประเมินความรู้ แต่ Active Math กระตุ้นให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติมากขึ้น จึงเปิดโอกาสให้ครูสามารถวัดผลนักเรียนในด้านทักษะที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันที่จำเป็นอื่นได้ ซึ่งเราจะให้ความสำคัญกับทักษะการเชื่อมโยง การสื่อสาร เพราะเนื้อหาคณิตศาสตร์โดยบริบทจะค่อนข้างยาก แต่หากเด็กสามารถสื่อสารออกมาได้จะสามารถนำไปประยุกต์เชื่อมโยงใช้กับเขาในชีวิตประจำวันได้อย่างแน่นอน”
“ในช่วงโควิดถึงแม้จะยังไม่ได้ใช้ Active Math ได้อย่างเต็มรูปแบบ แต่โดยกระบวนการที่ได้นำไปปรับใช้ Online กับนักเรียนเราเห็นถึงความแตกต่างได้อย่างชัดว่าเด็กมีส่วนร่วม โต้ตอบ และสนุกในการค้นหาคำตอบมากขึ้นเมื่อเทียบกับชั้นเรียนปกติ โดยสิ่งที่ประทับใจคือเด็ก ๆ สามารถสรุป และเชื่อมโยงบทเรียนได้ดีกว่าที่ผ่านมา ทำให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ในแต่ละคาบเรียน”
ครูสหรัฐกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “จากเดิมเราจะเป็นคนป้อนข้อมูล ความรู้ หาแนวทางเพื่อให้นักเรียนมีองค์ความรู้ แต่ในการสอนแบบ Active math เราจะเหมือน ‘โค้ช’ ที่คอยแนะนำและประคับประคองให้เด็ก ๆ ได้สร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ดังนั้นทักษะสำคัญที่คุณครูจะต้องมีคือการเป็นผู้รับฟังที่ดีต่อความคิดเห็นของนักเรียนที่หลากหลาย”