Inspirational stories (TH), Uncategorized @th

Active Learning เมื่อรูปแบบการสอนไม่หยุดอยู่กับที่

ม.ค. 26,2023

ปัจจุบันการศึกษาของไทยได้ปรับเปลี่ยนและปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับคำว่าศักยภาพ(Competency) มากขึ้น โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถที่จะช่วยให้ผู้เรียนปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา รวมไปถึงความก้าวหน้าของวิทยาการและเทคโนโลยีในสังคมยุคปัจจุบัน ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนแบบเดิมที่เน้นท่องจำ และวัดผลการเรียนรู้จากความจำนั้น ไม่ใช่วิธีการที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอีกต่อไป โจทย์สำคัญสำหรับครูผู้สอนทุกท่านคือการสร้างกิจกรรมการเรียนรู้หรือกลวิธีการสอนที่ให้ผู้เรียนมีศักยภาพอันเป็นทีต้องการและตอบสนองต่อโลกยุคปัจจุบัน ซึ่งการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning จะเน้นการมีส่วนร่วมของผู้เรียน มีกิจกรรมเป็นสื่อกลางเพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียนให้มีความกระตือรือร้นผ่านการลงมือปฏิบัติเพื่อเกิดการเรียนรู้ในระดับบุคคลและกลุ่ม โดยครูผู้สอนจะปรับบทบาทมาเป็นผู้กระตุ้น แนะนำ และคอยอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนมากกว่าการสอนในรูปแบบการสื่อสารทางเดียวแล้วให้ผู้เรียนปฏิบัติตาม

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมกับมูลนิธิแคทเธอร์พิลลาร์ จัดกิจกรรมการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Teacher Professional Development) เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้สำหรับครูวิทยาศาสตร์หัวข้อไฟฟ้า พร้อมด้วยกิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (Professional Learning Community: PLC) เพื่อให้คุณครูที่เข้าร่วมอบรมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์โดยการทดลองเปิดชั้นเรียนด้วยการสอนหัวข้อไฟฟ้า พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ โดยมีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active Learning

คุณครู ณหทัย มีบุญ (ครูนิวยอน) โรงเรียนบ้านสามแยกน้ำเป็น จังหวัดระยอง หนึ่งในคุณครูผู้เข้าร่วมอบรม ได้แบ่งปันประสบการณ์การสอนในอดีตว่า “เมื่อก่อนเคยเรียนมาแบบที่ครูเน้นสอนแต่เนื้อหาอย่างเดียว ในปัจจุบันวิธีการสอนแบบนี้ใช้กับเด็กในยุคนี้ไม่ได้แล้ว ถ้าเราพูดบรรยายเนื้อหาเพียงอย่างเดียว เด็กนักเรียนจะเริ่มแสดงพฤติกรรมเบื่อ และไม่สนใจ ครูผู้สอนจึงต้องหากระบวนการแนวทางกระตุ้นเด็กอยู่เป็นระยะ ๆ” คุณครูณหทัยได้เล่าเสริมในรูปแบบการสอนของตัวเองว่ามักจะให้เล่นเกมส์ก่อน แล้วค่อยอธิบายหรือบอกคำตอบภายหลัง โดยเมื่อถามถึงความกังวลใจถึงการวัดผลและเนื้อหาแต่ละบทเรียน คุณครูณหทัยเล่าว่า “ส่วนตัวแล้วไม่ได้มีความกังวลเรื่องเนื้อหาว่าจะสอนได้ครบหมดตามบทเรียนหรือไม่ ครูจะเน้นสอนโดยใช้คีย์เวิร์ดของแต่ละบทมากกว่า โดยเราจะวางแผนการสอนล่วงหน้า ว่าเด็กนักเรียนต้องเข้าใจและได้ความรู้เรื่องอะไรกลับไป รวมไปถึงพยายามหยิบเรื่องเล่นเข้ามาเสริมเพื่อให้เกิดความสนุกเพลิดเพลินในบทเรียน”

ประโยน์ที่ได้จากการอบรม

ครูณหทัยเล่าประสบการณ์จากที่ได้อบรมกับคีนันฯ ว่า “การอบรมของคีนันฯ เปิดโอกาสให้ครูผู้เข้าร่วมมีบทบาทเสมือนเป็นนักเรียนในห้องเรียน ข้อดีคือทำให้เกิดการสะท้อนภาพการสอน และตระหนักถึงเนื้อหาที่จะนำไปสอนในชั้นเรียนมากยิ่งขึ้น ว่าจะนำสิ่งที่ได้จากการอบรมไปปรับใช้กับนักเรียนในชั้นเรียนได้อย่างไร ในส่วนเนื้อหาบทเรียนไฟฟ้า 1 และ ไฟฟ้า 2 ครูณหทัยให้มุมมองเพิ่มเติมว่า “เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์มาก เพราะเมื่อก่อนเราจะรู้สึกว่าไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ยากและไกลตัวมาก แต่ทางคีนันฯ ทำให้สิ่งที่เราคิดว่ายากเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เช่น มีกิจกรรมให้ดูอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ชำรุดแล้ว เพื่อจะสืบเสาะว่าภายในอุปกรณ์มีส่วนประกอบอะไรบ้าง หลังจากจบอบรม มีโอกาสได้ลองนำกิจกรรมนี้ไปประยุกต์ใช้กับเด็กนักเรียนในห้อง ปรากฎว่าเด็กชอบมาก ตื่นเต้นกับกิจกรรม และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ชัดมาก”

ครูณหทัยได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการเรียนแบบมีอุปกรณ์ไฟฟ้าประกอบการสอนกับแบบบรรยายตามบทเรียนเอาไว้ว่า “ปฏิกริยาความสนใจของเด็กต่างกัน เพราะการสอนแบบบรรยายจะมีแค่หนังสือและสมุด ครูบรรยายปากเปล่า ทำให้เป็นเรื่องยากที่เด็กจะเห็นภาพและเข้าใจในสิ่งที่เราสอน แต่เมื่อนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาประกอบการสอน บรรยากาศดีขึ้นกว่าเก่า เด็กสนใจเรียนมากขึ้น เพราะเขาได้ลงมือปฏิบัติจริง” ครูณหทัยได้เล่าเสริมเมื่อนำรูปแบบกลวิธีการสอนไปใช้ร่วมในบทเรียนว่า “การใช้กลวิธีการสอนต่าง ๆ ในห้องเรียน ทำให้บรรยากาศห้องเรียนดีขึ้น เด็กอยากเรียน อีกทั้งยังมีความสนใจมากขึ้น ตัวเด็กเองมองว่าสอนแบบนี้สนุก เขาเข้าใจในสิ่งที่เราสอน และเด็ก ๆ เองได้ใช้ทักษะด้านอื่นที่นอกเหนือจากบทเรียนด้วย เช่น การช่วยกันประกอบวงจรตามที่กำหนดให้ ซึ่งเด็ก ๆ ช่วยกันทำภายในกลุ่ม และช่วยกันสอนเพื่อนกลุ่มข้าง ๆ กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่เด็กนักเรียนที่ได้เรียนรู้กิจกรรมตามที่คุณครูได้วางแผนไว้ แต่ครูเองก็ได้เรียนรู้ทักษะและความสนใจของนักเรียนในมิติอื่น ๆ ไปพร้อมกัน”

กิจกรรมชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ (PLC)

ครูณหทัยแบ่งปันมุมมองประสบการณ์ PLC กับคีนันฯ ว่า “จากเดิมเราไม่เคยมองตัวเองตอนสอนหนังสือ PLC มาช่วยสะท้อนให้เราเห็นถึงสถานการณ์ในชั้นเรียนที่เกิดขึ้น ที่มีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ต้องปรับปรุง ทำให้รู้ว่าต้องพัฒนาการสอนจุดไหน ซึ่งดีกว่าแค่สอนเสร็จแล้วปล่อยจบไป แล้วเราก็ไม่รู้ว่าต้องพัฒนาการสอนของเราอย่างไร และการทำ PLC ใช้เวลาเพียงเล็กน้อยในการปรึกษา แลกเปลี่ยน แนะนำ เพื่อพัฒนาการสอนต่อไป” ครูณหทัยยกตัวอย่างเสริมว่า “อย่างครูเองก็นำข้อเสนอแนะในเรื่องช่วงเวลาการแจกและเก็บอุปกรณ์ไปปรับใช้ เพราะเมื่อสอนเสร็จครูต้องใช้อุปกรณ์ชุดเดิมสอนต่อในคาบเรียนถัดไป ในอีกประเด็นที่วิทยากรจากคีนันฯ ได้แนะนำคือเรื่องการอธิบายบทเรียน “ในกิจกรรมมีให้เล่นเกมส์ ซึ่งเกมส์เหล่านั้นมักอธิบายเนื้อหาในตัวของมันเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องอธิบายซ้ำอีก ครูเลยลองปรับใช้ในคาบเรียนถัดไปผลคือเด็กผ่าน นั่นแสดงว่าเด็กสามารถเข้าใจผ่านเกมส์ได้เลย”

ก่อนจบการสนทนา ครูณหทัยได้ฝากเคล็ดลับสั้น ๆ ถึงครูวิทยาศาสตร์ทุกคนว่า “ครูแต่ละคนสอนเนื้อหาเหมือน ๆ กัน แต่ต่างกันที่เทคนิคการสอน ซึ่งการสอนที่ดีไม่ใช่สอนแค่เนื้อหาที่ตรงกับในหนังสืออย่างเดียว แต่คือการที่จะทำอย่างไรที่จะให้เด็กอยากเรียนรู้ต่อไปเรื่อย ๆ ดังนั้น เทคนิคหรือกลวิธีการสอนจะเป็นเครื่องมือเสริมสำคัญที่ช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้ให้กับเด็ก” ซึ่งแน่นอนว่าหากสามารถทำได้อย่างที่ครูนิวยอนทิ้งท้ายไว้ การศึกษาไทยก็จะมีรูปแบบการสอนที่หลากหลายมากขึ้น ครูผู้สอนเองก็จะรู้สึกสนุกและท้าทายไปกับการค้นหารูปแบบการสอนใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับนักเรียนของตนเอง

Share this article

Latest.

ต่อยอดอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเห็

สะเต็มศึกษา การเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับผู้หญิง

การศึกษาของเวียดนามพัฒนาข

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ