เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งหากเราทุกคนสามารถเริ่มต้นออมเงินได้ตั้งแต่อายุยังน้อยและสามารถมีเงินออมที่มั่งคั่งในวัยเกษียณ แต่เราก็ต้องมีระเบียบวินัยอย่างมากที่จะอดทนสะสมเงินทีละเล็กละน้อย เป็นระยะเวลาหลายปี ในด้านสุขภาพก็เช่นเดียวกัน การรู้จักเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่าโภชนการเหมาะสม ควบคู่กับการออกกำลังกายและดูแลสุขภาพในองค์รวม ย่อมทำให้ชีวิตในวัยเกษียณมีคุณภาพและมีความสุข
ความรู้ในการดูแลตนเองอาจฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ แต่หลายๆคนก็ประสบปัญหาในการสร้างให้เกิดเป็นนิสัยเช่นเดียวกับเรื่องราวของคุณผกาวรรณ กองพร เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งคุณผกาวรรณ ก็ได้ยอมรับว่า “การฝึกฝนตนเองนั้นคือเรื่องที่ยากที่สุด”
คุณผกาวรรณ ทำหน้าที่รับผิดชอบการดูแลสุขภาพ รวมถึงให้ความรู้ด้านแพทย์ทางเลือก ให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอเมือง ของจังหวัดอุบลราชธานี โดยคุณผกาวรรณ ต้องทำงานเพื่อช่วยเหลือกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง เช่น ติดยาเสพติด และกลุ่มเด็กที่มีความบกพร่องทางจิต
แม้จะเป็นผู้ให้การช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ แต่บางครั้งคุณผกาวรรณก็กลับลืมนึกถึงสุขภาพของตัวเอง
อย่างไรก็ตามก็เริ่มมีเรื่องราวดีๆเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2560 เมื่อคีนันฯ และมูลนิธิไฟเซอร์ จับมือริเริ่มโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ด้วยความมุ่งหวังที่ต้องการช่วยให้ประชากรกลุ่มสูงวัย และกลุ่มก่อนสูงวัย ได้รับความรู้ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตและการบริหารจัดการเงิน โดยโครงการฯ ได้ทำการคัดเลือกเจ้าหน้าที่ ด้านสาธารณสุข รวมถึงคุณผกาวรรณ เพื่อให้ทำหน้าที่คอยดูแลสุขภาพของคนในชุมชนให้ทั่วถึง และสร้างให้เกิดเป็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวก
เมื่อได้เริ่มฝึกอบรมกับโครงการฯ คุณผกาวรรณ ก็ค่อยๆเริ่มต้นนำความรู้เข้ามาสู่หัวใจของคนในชุมชน และนำมาปรับใช้กับตนเองในทันที ตัวอย่างเช่น คุณผกาวรรณ หมั่นตรวจสอบน้ำหนักของตัวเองเป็นประจำเพื่อให้แน่ใจว่าดัชนีมวลกายของตัวเธอเอง (BMI) ยังคงอยู่ในช่วงที่เป็นผลดีต่อสุขภาพ
ความรู้ที่ได้รับจากโครงการฯ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขเท่านั้น คุณผกาวรรณ และทีมต้องเดินไปพบคนตามหมู่บ้านอีกกว่า 155 หลังคาเรือน เพื่อทยอยอธิบายความรู้ และตรวจดูสุขภาพเบื้องต้นของคนในชุมชน
“ดิฉันใช้ความรู้ทั้งหมดที่ได้รับมาจากคีนันฯ เพื่อมาช่วยเหลือผู้คนในชุมชน เราแนะนำเรื่องโภชนาการ และวิธีการดูแลตนเอง เราจะได้ห่างไกลจากปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะ โรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ”
แม้ว่า คุณผกาวรรณ จะยังไม่มีแผนที่จะเกษียณอายุการทำงานในเร็ววันนี้ แต่คุณผกาวรรณก็รู้ดีว่า ในวัย 52 ปี คุณผกาวรรณ ต้องสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในวันนี้เพื่อให้มีชีวิตมีความสุขและมีสุขภาพดี และที่สำคัญอย่างยิ่งเมื่อเราได้ช่วยเหลือผู้อื่น เราก็จะอยู่ร่วมกันเป็นสังคมที่มีประชากรสูงวัยที่มีคุณภาพ และเป็นสังคมที่มีความสุขร่วมกันอย่างยั่งยืน
ท่านสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มเติม ได้ที่ www.kenan-asia.org/healthy-aging-society.