Students, Uncategorized @th

โครงการอบรมเยาวชนสู่การเป็นผู้ประกอบการดิจิทัล ทีมรองชนะเลิศ

ม.ค. 26,2023

นอกจากศึกษาเล่าเรียนแล้ว ดาด้า, อิ๊งค์ และมิ้นท์ ทีมแชมพู Jelbear จากวิทยาลัยเทคนิคมีนบุรี ยังต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือครอบครัว และจ่ายค่าเทอม เมื่อถูกถามว่าเหนื่อยไหม “หนูชินกับมันแล้ว” “นี่คือสิ่งที่หนูต้องรับผิดชอบ” คือคำตอบซ้ำๆ ที่เราได้รับ

เช่นเดียวกันกับลูกเกด ทีมแบรนด์ U-Patcha จากวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร ที่ตัดสินใจทำงานลานเบียร์เพราะว่าได้ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง รายได้จากส่วนนี้เธอจะนำไปช่วยคุณพ่อที่ต้องดูแลน้องอีกสองคน ทุกวันหลังเลิกเรียน เธอจะสวมใส่ถุงน่องพร้อมส่งรอยยิ้มให้กับลูกค้าอย่างสดใส แต่น้อยคนนักที่จะได้รู้ว่าเธอกำลังเจ็บปวดทั้งกายและใจ จากอาการป่วยผิดปกติของต่อมน้ำเหลือง

เด็กนักเรียนทั้งสี่คนนี้เป็นกรณีตัวอย่างของเด็กที่ด้อยโอกาส ที่ต้องเผชิญกับความไม่เท่าเทียมในสังคม การระบาดของโควิด-19 นั้นยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก เนื่องจากการจ้างงานเด็กจบใหม่ ผู้ด้อยโอกาส รวมไปถึงนักเรียนอาชีวะนั้นมีการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

มูลนิธิซิตี้ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว เราเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการส่งเสริมนักเรียนในสายอาชีวศึกษา เพื่อให้พวกเขาได้เพิ่มพูลความรู้ ฝึกฝนทักษะ และกลายเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจ โครงการ ‘Micro and SME Academy for Digital Youth’ จึงจัดขึ้น โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนระดับอาชีวศึกษามีทักษะที่จำเป็นในการเป็นผู้ประกอบการในยุคดิจิทัล และสามารถใช้ความรู้ที่ได้รับเพื่อวางแผนอาชีพในอนาคต

ด้วยการสนับสนุนจากเหล่าอาจารย์และมูลนิธิคีนันฯ นักเรียนทั้งสี่คนนี้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 และอันดับ 2 จากการแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจโดยในงานนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการกว่า 500 คน โดยทุกคนได้ร่วมกิจกรรมเวิร์คชอป ที่ให้ความรู้ด้านดิจิทัล ทักษะทางธุรกิจ และเคล็ดลับการขาย พวกเขาได้สร้างแผนธุรกิจที่เป็นที่น่าประทับใจต่อเหล่ากรรมการ จนได้รับเงินทุนเพื่อไปต่อยอดธุรกิจ

หลังจากพิธีประกาศรางวัล รองชนะเลิศอันดับหนึ่งอย่างทีมแชมพู Jelbear ได้กล่าวว่า “จะนำเงินทุนนี้ไปใช้ในการพัฒนาสินค้าต่อในฐานะผลิตภัณฑ์ OTOP” และยังกล่าวอีกว่า “สิ่งนี้จะสามารถช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชน” ในขณะเดียวกันรองชนะเลิศอันดับสองอย่างทีมแบรนด์ U-Patcha กล่าวว่า “ในระยะแรกเงินทุนนี้จะถูกนำไปใช้ในการขอคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาโลชั่น หลังจากนั้นค่อยใช้ในแง่ของธุรกิจต่อไป”

สามสัปดาห์ต่อมา ลูกเกดจากทีมแบรนด์ U-Pacha ได้เข้าปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างเป็นสินค้าต้นแบบ และเธอได้ทดลองใช้ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นสภาพผิวของเธอดีก็ขึ้นอย่างเห็นได้ชัด วันนี้เธอไม่ต้องพึ่งการใส่ถุงน่องอีกต่อไป ทำให้เธอมีรอยยิ้มที่มั่นใจมากขึ้นอีกด้วย

ในทางกลับกันทีมแชมพู Jelbear เผชิญหน้ากับอุปสรรคในระหว่างกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่นั่นก็ไม่สามารถขัดขวางความตั้งใจที่จะเป็นผู้ประกอบการของพวกเธอได้ จึงได้ลองหันไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่อย่าง สบู่ออร์แกนิค ความแน่วแน่ในการทำธุรกิจที่มีนั้น ยังผลักดันให้พวกเธอนำทักษะดิจิทัลที่ได้มาใหม่ไปปรับใช้กับสิ่งอื่นอีกด้วย มิ้นท์ได้เริ่มธุรกิจขายเสื้อผ้าเป็นของตัวเอง โดยใช้วิธีการไลฟ์ขายบน Facebook ในขณะที่อิ๊งค์นำความรู้ Facebook Chatbot มาปรับใช้ในระบบบริหารลูกค้าของธุรกิจครอบครัว

พวกเธอไม่เพียงแค่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเวิร์คชอปต่างๆ ได้เรียนรู้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สนุก และยังได้รับความรู้มากมายเพื่อนำไปใช้ในการเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง แต่ยังได้โอกาสในการเชื่อมความสัมพันธ์กับครอบครัวอีกครั้ง ตอนนี้ลูกเกดทำงานใกล้ชิดกับพ่อของเธอเพื่อสร้างแบรนด์ U-Patcha ในขณะเดียวกันดาด้าก็ใช้เวลากับคุณย่ามากขึ้น เพราะพวกเธอไลฟ์บน Facebook ด้วยกัน

นี่เป็นเพียงนักเรียนสี่คนจากนักเรียนอาชีวศึกษามากกว่า 500 คน ที่ได้รับการพัฒนาทักษะในด้านอาชีพและสังคมผ่านโครงการ ‘Micro and SME Academy for Digital Youth’ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ของโครงการนี้เกินความคาดหมาย ที่เราเห็นได้จากการเติบโตของผู้เข้าร่วมโครงการและชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ