โดยท่าน ปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- ประเทศไทยเราก้าวสู่สังคมสูงวัย ในอัตราเร่งที่เร็วที่สุดในภูมิภาคอาเซียน แม้ว่าสิงคโปร์จะเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่เป็นสังคมสูงวัยก่อนประเทศอื่น ๆ ก็ตาม
- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็นองค์กรหลัก ในการขับเคลื่อนการพัฒนาคนและสังคม เพื่อความอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน
- ซึ่งครอบคลุมมิติการพัฒนาคน พัฒนาชุมชน พัฒนาเมือง และพัฒนาสังคม ให้มีคุณภาพอย่างเต็มศักยภาพ มีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง
- มีการสร้างเครือข่ายทุกภาคส่วน ร่วมพัฒนาสังคม
- มีการพัฒนาองค์ความรู้ ขีดความสามารถ ระบบบริหารจัดการเพื่อพัฒนาสังคม ระบบสวัสดิการ ให้ประชาชนมีหลักประกันและมีความมั่นคงในชีวิต
- ภารกิจเรื่องผู้สูงอายุ เป็นเรื่องใหญ่และเร่งด่วนในระดับภูมิภาคอาเซียน และส่งผลกระทบต่อสังคมทุกมิติ
- ไม่ว่าจะเป็นมิติทางเศรษฐกิจ – การจ้างงาน ลักษณะงานที่เปลี่ยนไป เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในงาน ความพร้อมทางการเงิน
- มิติทางสังคมและชุมชน – การดำเนินชีวิตภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของสังคม โครงสร้างสังคมที่เปลี่ยนไป
- มิติทางสุขภาวะ – สุขภาพกาย สุขภาพจิต ซึ่ง พม.โพล ระบุผลสำรวจล่าสุด
- พบผู้สูงอายุร้อยละ 35.04 ถูกทำร้ายจิตใจ
- ร้อยละ 30.98 ถูกทอดทิ้ง
- และร้อยละ 23.5 ถูกทำร้ายร่างกาย
- ที่น่าตกใจผู้กระทำความรุนแรง ส่วนใหญ่ร้อยละ 52 เป็นบุคคลใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัว
- และสอดคล้องกับข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- ระบุสถิติผู้สูงอายุไทยที่ฆ่าตัวตายปี 2560 มี 801 ราย คิดเป็นร้อยละ 20.3 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด
- สาเหตุมาจากความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เจ็บป่วยเรื้อรัง และโรคซึมเศร้า
- นอกจากนั้น มิติทางสภาพแวดล้อม – การจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อทุกคน หรือ Universal design / Friendly design ก็เป็นเรื่องมีบทบาทสำคัญยิ่ง
- มิติทางการศึกษา การพัฒนาทักษะ – ให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงในมิติต่าง ๆ
- สถานการณ์ทั้งมวลนี้ ส่งผลให้มีการคลอดมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ใน 6 ความยั่งยืน (Sustainable) 4 การเปลี่ยนแปลง (Change)
- ซึ่งผ่านความเห็นชอบเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2561
- กำหนดให้ พม.เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข รวม 6 กระทรวง
- 6 ความยั่งยืน หรือ 6S ประกอบด้วย
- S1 การสร้างระบบคุ้มครองและสวัสดิการผู้สูงอายุ
- S2 ส่งเสริมการมีงานทำและมีรายได้ของผู้สูงอายุ
- S3 ระบบสุขภาพเพื่อรองรับสังคมสูงอายุ
- S4 ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนและบ้านให้ปลอดภัยกับผู้สูงอายุ
- S5 ธนาคารเวลาสำหรับการดูแลผู้สูงอายุ
- และ S6 การสร้างความรอบรู้ให้คนรุ่นใหม่
- 4 การเปลี่ยนแปลง หรือ 4C ประกอบด้วย
- C1 การยกระดับความร่วมมือเสริมสร้างพลังสังคมผู้สูงอายุ
- C2 การปรับเปลี่ยนกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ข้อบังคับเอื้อต่อการทำงานด้านผู้สูงอายุ
- C3 ปฏิรูประบบข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุอย่างมีประสิทธิภาพ
- และ C4 พลิกโฉมนวัตกรรมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงอายุ
- กลไกหลายสิ่งที่กระทรวงฯ ดำเนินการเพื่อรองรับสังคมสูงวัย อาทิ การมีบอร์ดระดับชาติด้านผู้สูงอายุ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการประชุมทุก 3 เดือน
- เน้นการทำงานร่วมมือแบบบูรณาการทุกภาคส่วน ตั้งแต่กระทรวงหลัก ๆ ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ ระดับท้องถิ่น และร่วมกับภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า
- เรามีอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) ทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นคน ที่ได้รับการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง 72 ชั่วโมง และ 420 ชั่วโมง
- เพื่อทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือ ทั้งเด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ พม.ตามภูมิภาค
- ไม่เพียงเท่านั้น เรามีโรงเรียนผู้สูงอายุ เกือบทุกตำบล ทำงานร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาอาชีพ ร่วมกับ กศน. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) บุคลากรครู อบต. อบจ. และภาคธุรกิจในชุมชน เป็นต้น
- ในแต่ละชุมชน ยังจัดให้มีชมรมผู้สูงอายุ ซึ่งปี 2560 มีถึง 28,640 ชมรม
- ซึ่งมีกิจกรรมพัฒนาตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นหรือสังคมส่วนรวม กิจกรรมด้านสุขภาพ กิจกรรมถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน
- ผลที่ได้ต่อผู้สูงอายุ คือ อัตราการป่วยลดลง ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ลดภาวะพึ่งพิง และมีบทบาทในชุมชนมากขึ้น
- ผมคาดหวังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และสังคม สร้างความตระหนัก ตื่นตัว เตรียมความพร้อม รับมือตั้งแต่วัยเด็ก
- ขณะเดียวกันผู้สูงอายุเองก็ต้องเอาใจใส่ตนเอง เตรียมความพร้อมในการเป็นผู้สูงอายุที่มีความสุข
- โดยบุคคลรอบข้าง ลูกหลานต้องให้ความสุขกับผู้สูงอายุซึ่งกันและกัน อย่าเพียงหวังแต่จะรอความช่วยเหลือหรือพึ่งพิงผู้อื่น
- ขณะเดียวกัน ต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเอง โดยอาศัยคนในพื้นที่ชุมชนช่วยดูแลซึ่งกันและกัน
- ร่วมกันสร้าง “พฤฒพลัง” หรือ “พลังผู้สูงอายุ” ในการขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามเป้าหมายระเบียบวาระชาติ
- ผมดีใจและขอชื่นชม ที่วันนี้ มีองค์กรภาคธุรกิจอย่างบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย จับมือเป็นพันธมิตรกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการ ไฟเซอร์ รู้ เฒ่า ทัน สุข เพื่อเตรียมความพร้อมสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ
- อันเป็นตัวอย่างความร่วมมือ และเป็นจิ๊กซอว์หนึ่งของภาพใหญ่สังคมไทย ก้าวสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์และอย่างมีคุณภาพ
- บัดนี้ ได้เวลาอันสมควร ขอเปิดงาน “Healthier Lives for Active Aging Society Forum 2019 สังคมอายุยืนคุณภาพ กายฟิต จิตดี มีออม” ภายใต้โครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข
- ผมขอให้ทุกท่านมีความสุขอย่างเต็มอิ่ม ได้ร่วมชื่นชมกับผลงานโครงการตลอดสามปี
- ขอบคุณครับ