Student stories (TH)

นักเรียนและครูเรียนรู้ที่จะนำการศึกษา STEM และเทคโนโลยีของ IBM ไปใช้ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง

ม.ค. 26,2023

Thai student using tablet learning education

การเพิ่มความสามารถของผู้เรียนโดยกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้

พลาดซะแล้ว! นักเรียนมัธยมต้นคนหนึ่งตะโกนขึ้นอย่างผิดหวังเมื่อลูกกระสุนที่ถูกยิงจากเครื่องยิงแบบง่ายๆที่น้องและเพื่อนร่วมทีมประดิษฐ์ขึ้นพลาดเป้า น้องคนนี้เป็นเพียงหนึ่งในจำนวนนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนในจังหวัดสมุทรปราการทั้งหมดกว่า 75 คนที่เข้าร่วมกิจกรรม IBM STEM คาราวาน ภายใต้โครงการ IBM Thai Teachers TryScience (TTS) ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กิจกรรมในครั้งนี้มุ่งเน้นให้นักเรียนที่เข้าร่วมงานสร้างเครื่องยิงแบบง่ายๆจากวัสดุที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายว่าเครื่องยิงนั้นจะต้องสามารถยิงเป้าซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณสามเมตรได้สำเร็จ นักเรียนทั้งหมดต่างสังเกตการทำงานและผลงานของกันและกัน และใช้ความพยายามในการนำสิ่งที่พบเห็นมาปรับปรุงเครื่องยิงของกลุ่มของตน ภายใต้กิจกรรมนี้น้องๆไม่รู้เลยว่านี่คือการเรียนวิทยาศาสตร์แบบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้พวกเขาได้รับความรู้ศาสตร์ในสาขาสะเต็ม(วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) จนครบทุกศาสตร์

ณ ปัจุบัน มีผู้ปกครองและนักเรียนจำนวนไม่น้อยที่ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนในสาขา STEM แต่การเรียนในสาขาดังกล่าวยังทำได้เพียงให้นักเรียนได้รับทราบถึงทฤษฎีเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงเด็กๆไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับมาปรับใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ คีนันและ IBM จึงได้จัดกิจกรรมด้าน STEM ภายใต้โครงการ IBM Thai TTS ขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ และกรุงเทพ เพื่อพิสูจน์ให้นักเรียนได้รับรู้ว่า STEM ไม่ใช่แค่เพียงตัวย่อที่เราเรียกกันติดปากว่าสะเต็มเฉยๆ แต่เป็นศาสตร์การเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์แบบบูรณาการณ์ที่จะช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์และความอยากรู้อยากเห็น ที่จะทำให้เด็กต้องการที่จะค้นหาคำตอบต่อปัญหาที่ซับซ้อน

ทีมผู้ชนะจากการแข่งขันประกวดเครื่องยิงภายใต้กิจกรรม “ยิงให้เข้าเป้า” ในงานกิจกรรม IBM STEM คาราวานที่จังหวัดสมุทรปราการ

“ยิงให้เข้าเป้า” จึงเป็นกิจกรรมหลักภายใต้กิจกรรม IBM STEM คาราวาน ซึ่งเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่า 150 คนจากทั้งสมุทรปราการและกรุงเทพ ได้เรียนรู้ด้าน STEM ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านโครงงานทางวิทยาศาสตร์ อย่างเช่นการสร้างเครื่องยิงแบบง่ายๆ ซึ่งไม่เพียงสอนทักษะทางวิทยาศาสตร์ระดับยาก เช่น ฟิสิกส์และวิศวกรรมศาสตร์แล้ว แต่ยังสอนทักษะการฝึกคิดเชิงวิเคราะห์และการทำงานเป็นทีมอีกด้วย การทำกิจกรรมจะจำลองกระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยให้นักเรียนตั้งสมมติฐาน ออกแบบเครื่องยิง และทดสอบ เช่นเดียวกับสถาปนิกหรือวิศวกร ทีมนักเรียนจะต้องสังเกตการทดลอง วิเคราะห์ผลที่ได้ และปรับเครื่องยิงของตนจากความรู้ที่ค้นพบ และหาวิธีที่จะพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยิงของตัวเอง“เราต้องทำงานเป็นทีมและลองนำความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ มาทดสอบเพื่อที่จะทำให้งานของเราบรรลุเป้าหมาย” พงษ์ภักดิ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่สามจากกรุงเทพกล่าวขึ้นขณะทำกิจกรรม “กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้ผมและเพื่อนๆ ได้ฝึกใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้ และการตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา STEM ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าน่าจะมีนักเรียนจำนวนมากกว่านี้ได้รับโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมแบบเดียวกันนี้อีก”

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของการศึกษาในประเทศไทยคือการผลิตนักเรียนที่มีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ในระดับสูง ซึ่งจะสามารถพัฒนาต่อไปเป็นผู้ประกอบการ วิศวกร ช่างเทคนิค หรือคนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่มีนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ เพราะว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ในประเทศไทยค่อนข้างเน้นไปที่การท่องจำ ระบบการศึกษาจึงล้มเหลวในด้านการผลิตบุคคลากรที่มีความรู้ด้าน STEM ที่จำเป็น รวมทั้งมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ที่เป็นที่ต้องการอย่างเพียงพอสำหรับตลาดแรงงานปัจจุบัน ขอบเขตความสามารถที่จำกัดของแรงงานจึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติโดยรวม

ผู้เชี่ยวชาญจากไอบีเอ็มกำลังสอนนักเรียนเกี่ยวกับความสำคัญของการรักษาความปลอดภัยและความปลอดภัยในการการใช้อินเตอร์เน็ต

ในระหว่างงาน IBM Bluemix คาราวาน ที่จัดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการและกรุงเทพเช่นเดียวกับกิจกรรม IBM STEM คาราวาน นักเรียนในระดับมัธยมปลายกว่า 50 คนได้รับโจทย์ที่มีความท้าทายมากกว่าด้วยการใช้เทคโนโลยี Bluemix ของ IBM เพื่อสร้างแอพพลิเคชั่นคอมพิวเตอร์ของตัวเองภายใต้การช่วยเหลือและให้คำแนะนำจากพนักงานอาสาสมัครจากบริษัท IBM กิจกรรมนี้ต้องการให้นักเรียนนำเอาความรู้ด้าน STEM ของตนเองที่มีอยู่ รวมถึงการนำเอาทักษะด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้เพื่อตอบโจทย์และแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตจริง“ผมตัดสินใจที่จะสร้างแอพพลิเคชั่นซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการตรวจจับความร้อนของร่างกาย โดยแอพพลิเคชั่นนี้จะส่งข้อมูลไปยังมือถือหรือคอมพิวเตอร์เพื่อเตือนเมื่อร่างกายของเราร้อนหรือเย็นเกินไป แอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้คนรับรู้สภาพร่างกายของตนได้อย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้เวลานานกว่าจะเดินทางไปพบแพทย์” น้องธนภัทร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกจากโรงเรียนวัดอินทรารามกล่าว

โครงการ IBM Thai TTS นอกจากจะเป็นมากกว่าแค่กิจกรรมการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานสำหรับนักเรียนเท่านั้น แต่โครงการฯ ยังสนับสนุนการพัฒนาวิชาชีพครูผ่านการอบรมครูและการระดมทรัพยากรในด้านต่างๆอย่างเหมาะสม โครงการฯ ได้ใช้เครื่องมือ Teachers TryScience ของ IBM ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาสำหรับแต่ละท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงชุดแผนการสอน และวีดีโอการสอนที่ถูกพัฒนาขึ้นโดย IBM และ New York Hall of Science เพื่อช่วยฝึกให้คุณครูในประเทศไทยได้นำกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านโครงงานไปใช้ในชั้นเรียนของตน ปัจุบัน โครงการฯ ได้ใช้รูปแบบของกิจกรรม Thai TTS ไปพัฒนาศักยภาพคุณครูแกนนำจำนวน 30 คน โดยได้ขยายผลไปสู่คุณครูอีก 450 คนจาก 10 โรงเรียนในกรุงเทพและสมุทรปราการ เมื่อจบโครงการ โครงการมุ่งหวังที่จะสร้างประโยชน์ไปสู่คุณครูมากกว่า 2,000 คน และนักเรียนมากกว่า 45,000 คน ภายใต้เครือข่ายโรงเรียน TTS

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษาเพื่อสามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้าน STEM และมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ยังคงเป็นภารกิจที่ทาง IBM และคีนันร่วมมือกันดำเนินการต่อไป โดยการสร้างเครือข่าย TTS มุ่งหวังที่จะนำไปเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้อย่างมีพลวัตรในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทยต่อไป

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ