Student stories (TH)

สิ่งประดิษฐ์นักเรียนกับการแก้ไขปัญหาขยะให้หมดสิ้น

ม.ค. 26,2023

น้องเดนิสา ก้าวขึ้นสู่เวทีพร้อมไมโครโฟนที่ถือไว้ในมืออย่างมั่นใจ โดยเริ่มต้นกล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ของเธอ สิ่งนั้นคือท่อน้ำสีฟ้าสดใส ขนาดยาวประมาณหนึ่งเมตร แต่ประกอบไปด้วยอุปกรณ์แปลกตา ที่มีลักษณะคล้ายมือจับที่อยู่บริเวณปลายท่อ ซึ่งก่อนที่คณะกรรมการ คุณครู และเพื่อน ๆ จะลงคะแนนให้ เธอก็ได้เริ่มต้นอธิบายว่า สิ่งประดิษฐ์ที่ดูเหมือนจะธรรมดานี้ แท้จริงแล้วสามารถทำประโยชน์ที่ไม่ธรรมดาได้ โดยสิ่งประดิษฐ์นี้สามารถเปลี่ยนแปลงคูน้ำบริเวณรอบ ๆ โรงเรียนที่เต็มไปด้วยขยะให้ดีขึ้น จนสามารถสร้างความภูมิใจกับเพื่อน ๆ สมาชิกของกลุ่ม ตลอดจนผู้คนในชุมชนได้ตลอดระยะเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม “Caltex Fuel-Your-School” ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ภายใต้การสนับสนุนของคาลเทกซ์นี้ คีนันได้ดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-Based Learning) ให้กับโรงเรียนขนาดกลางหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดอยุธยา เดนิสาและสมาชิกในกลุ่มของเธอซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียนของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ ได้เริ่มต้นจุดประกายทางความคิดจากการสังเกตปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่นของตน ปัญหาที่เธอและสมาชิกกลุ่มได้พบ คือ บริเวณคูน้ำรอบโรงเรียนนั้นเต็มไปด้วยขยะจำนวนมากเกินกว่าที่น้ำจะไหลผ่านได้ ทำให้ภาพเศษขยะต่าง ๆ ที่ไหลลอยผ่านคูน้ำบริเวณรอบโรงเรียนวัดสุคันธาราม (สุคันธวิทยาคาร) ไปเรื่อย ๆ นั้น เป็นภาพที่บุคลากรในโรงเรียนและนักเรียนเห็นกันจนคุ้นชินตา และสิ่งที่ทำให้ขยะเหล่านั้นยังคงอยู่ได้นั้น คือ ขนาดของคูน้ำนั้นกว้างเกินกว่าที่คุณครู นักเรียนและสมาชิกชุมชนโดยรอบจะสามารถช่วยเก็บขึ้นมาได้โดยไม่ต้องก้าวลงไปในน้ำ ส่วนไม้เหล็กของเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลโรงเรียนที่พอจะสามารถช่วยเก็บขยะได้นั้น ก็มีจำนวนที่ไม่เพียงพอและกลายเป็นสนิมไปหมดแล้ว ด้วยเหตุนี้ กองขยะต่าง ๆ จึงมีที่อยู่ถาวร ที่คูน้ำบริเวณรอบโรงเรียนนั่นเอง
Education learning knowledge

ภายใต้การสนับสนุนของโครงการ Caltex Fuel-Your-School คีนันได้จัดการฝึกอบรมให้กับคุณครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในกระบวนทัศน์การเรียนรู้แบบโครงงาน ซึ่งคุณครูสามารถนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปส่งต่อให้กับนักเรียนในโรงเรียน พร้อมให้คำปรึกษาในโครงงานที่นักเรียนคิดค้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาที่พบในท้องถิ่นของตน ทั้งนี้ แม้ว่าบางโรงเรียนจะมีข้อจำกัดทางเทคโลยีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการจุดประกายทางความคิดและความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ได้เลย สำหรับเดนิสาและเพื่อน ๆ ในกลุ่มของเธอนั้น พบอุปสรรคบางประการคือ แม้พวกเธอจะทราบถึงปัญหาในชุมชนที่ต้องการแก้ไขแล้ว แต่พวกเธอก็ยังไม่ทราบแน่ชัดได้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ด้วยเหตุนี้เอง คุณครูจึงเป็นส่วนสำคัญในการให้กำลังใจและให้คำแนะนำกับนักเรียน โดยคุณครูของพวกเธอได้แนะนำให้นำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ใช้ในการสังเกตและศึกษา เรียนรู้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัว พร้อมนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาคูน้ำนี้

เดนิสาได้ค้นพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาในโครงงานกลุ่มของเธอนั้น ไม่ใช่การมุ่งแก้ปัญหาโดยการก้มมองแต่ผืนน้ำเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนมุมมองของวิธีแก้ปัญหา โดยลองมองขึ้นไปยังต้นไม้ดูบ้าง และนั่นทำให้เธอได้สังเกตเห็นบางอย่าง โดยเธอได้อธิบายว่า “หนูเคยสังเกตเห็นคนสวนของโรงเรียนใช้ไม้ขนาดยาวที่มีกรรไกรอยู่บริเวณส่วนปลายช่วยตัดกิ่งไม้ที่อยู่สูงขึ้นไป” และยังกล่าวเพิ่มอีกว่า “หนูคิดว่าเราสามารถประยุกต์รูปแบบนั้นมาใช้ในการเก็บขยะที่อยู่ไกลเกินเอื้อมในคูน้ำได้เหมือนกัน”

ด้วยประกายทางความคิดที่เกิดขึ้น เธอได้นำแนวความคิดนั้นมาประกอบกับคำแนะนำจากคุณครู เธอจึงทดลองนำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้เพื่อทดสอบสมมติฐานขั้นต้น ภายหลังการสร้างตัวแบบพร้อมทดลองผิดถูกอยู่หลายครั้ง เดนิสาและเพื่อน ๆ สมาชิกในกลุ่มได้พัฒนาอุปกรณ์ที่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้จริง เพราะเครื่องมือที่ดูเหมือนจะธรรมดานี้ แท้จริงแล้วแฝงไปด้วยความสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยอดเยี่ยมทีเดียว โดยเครื่องมือนี้จะประกอบด้วยท่อ PVC ขนาดยาว ที่ปลายด้านหนึ่งประกอบด้วยเบรคมือจากจักรยาน มีสายเชื่อมกับปลายอีกด้านหนึ่งซึ่งมีลักษณะโครงสร้างคล้ายอุ้งมือ โดยส่วนนี้เองเป็นส่วนที่ใช้ในการเก็บขยะ เมื่อต้องการใช้งานอุปกรณ์นี้ ผู้ใช้เพียงแค่จับและกดที่บริเวณเบรคมือจากจักรยาน แรงที่ใช้ในการกดนี้จะส่งผลให้ปลายปากที่มีลักษณะเหมือนอุ้งมือนั้นเปิดออก และสามารถใช้ในการจับเก็บขยะได้

สิ่งประดิษฐ์นี้ของเดนิสา ทำให้คูน้ำที่ครั้งหนึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าดูชม กลายเป็นหนึ่งในทรัพยากรทางธรรมชาติที่ดีของโรงเรียนและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ที่พบเห็นได้เป็นอย่างดี ช่วงระหว่างการแข่งขันในโครงการ Caltex Fuel-Your-School เดนิสาได้มีโอกาสนำเสนอสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ พร้อมกับประโยชน์อันเป็นรูปธรรมจากการใช้สิ่งประดิษฐ์นี้ต่อผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก ความประทับใจอย่างล้นหลามต่อสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ทำให้คณะกรรมการพร้อมใจกันมอบรางวัลชนะเลิศอันดับที่สองให้กับทีมของเดนิสา

ความภาคภูมิใจจากรางวัลที่รับ ทำให้เดนิสารู้สึกตื่นเต้นยิ่งขึ้นไปอีกกับการได้เปิดโลกแห่งประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ในรูปแบบการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน เพราะในประเทศไทยมีระบบการเรียนการสอนโดยเน้นการท่องจำและมีคุณครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางมาเป็นเวลายาวนานแล้ว และรูปแบบเหล่านี้เองที่คอยบั่นทอนความความกระตือรือร้น ความใฝ่รู้ของนักเรียน ดังนั้น โครงการ Caltex-Fuel-Your-School จึงมีความพยายามที่จะนำเสนอรูปแบบนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ของ STEM อันนอกเหนือจากรูปแบบของบรรทัดฐานที่มีมาอย่างยาวนานแล้วให้กับเดนิสา เพื่อน ๆ และคุณครูได้เห็น “โครงการนี้ทำให้หนูได้คิดนอกกรอบและได้เรียนรู้การลงมือปฏิบัติจริงในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่มีประโยชน์ นอกจากนี้ รูปแบบการเรียนรู้นี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับหนูอีกด้วยค่ะ”

การคิดค้นโครงการสิ่งประดิษฐ์ขึ้น ยังทำให้เดนิสาเกิดความใฝ่รู้ใฝ่เรียนมากยิ่งขึ้น และมีนวัตกรรมทางความคิดรูปแบบใหม่ที่ช่วยกระตุ้นและเสริมสร้างความตั้งใจของเธอที่จะทำตามความฝันในการเป็นสถาปนิกให้สำเร็จให้จงได้

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ