มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ร่วมกับ กรมควบคุมโรคฯ โดยการสนับสนุนจากกองทุนโลกลดการระบาดและการดื้อยาของผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ที่องค์การอนามัยโลก ชี้เป็น 1 ใน 4 โรคที่ต้องเร่งแก้ไขในพื้นที่เสี่ยงสูง โดยเฉพาะ บริเวณชายแดนระหว่างไทย พม่า และกัมพูชา ด้วยโมเดล “Peopleware” เพื่อพัฒนาให้เด็กสามารถเป็นสื่อกลางแก้อุปสรรค “ภาษาถิ่น”
นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรคมาลาเรียในประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชายแดนได้กลายเป็นปัญหาสำคัญ ซึ่งไม่เพียงองค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศให้เป็น 1 ใน 4 โรคที่ต้องแก้ไขเร่งด่วนแล้ว แต่ยังพบอาการดื้อยา โดยคาดว่ามีสาเหตุจาก “ความไม่รู้ และ ประมาท”
ด้วยเหตุดังกล่าว มูลนิธีคีนันฯ จึงนำโมเดล “Peopleware” ที่ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ปรับใช้ในโครงการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านมาลาเรียในสถานศึกษา โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้อุปสรรคจาก “ภาษาถิ่น” อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเข้าถึงข้อมูลความรู้ของกลุ่มคนในพื้นที่ชายแดน โดยจะสอดแทรกการเรียนรู้ในการป้องกนและรักษาโรคมาลาเรียแบบบูรณาการเข้าไปในการเรียนการสอนหลักสูตรแกนกลางวิชาวิทยาศาสตร์ และสุขศึกษาให้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ให้แก่โรงเรียนในพื้นที่ชายแดน
สาเหตุที่มุ่งเน้นให้เด็กเป็นสื่อกลางถ่ายทอดข้อมูลความรู้ เพราะโรคมาลาเรียไม่มีวัคซีนป้องกันได้อย่างแท้จริง ขณะเดียวกันก็มีหลายสายพันธุ์ ทั้งประเภทที่ก่อให้เกิดอาการเฉียบพลัน หรือ เป็นเรื้อรัง โดยสิ่งที่จะป้องกันได้จริงนั้น โดยใช้คำพูดที่เข้าใจง่าย มีอยู่ 3 ประการ คือ “นอนในมุ้ง – มุ่งเร่งรักษา – กินยาให้ครบ”
“ปัญหาที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือ พบว่าผู้ป่วยในประเทศไทยมีอาการดื้อยา โดยเฉพาะกลุ่มยาอนุพันธุ์อาร์ติมิซินิน ดังนั้นหากสามารถทำให้เด็กและชาวบ้าน ตระหนักและเข้าใจการป้องกันอย่างจริงจัง ก็จะช่วยลดปัญหาโรคมาลาเรียในประเทศไทยลงได้” นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ กล่าว
สำหรับโครงการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมฯ เป็นโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 5 ปี (พ.ศ. 2555 – 2559) โดยปีนี้ถือเป็นปีที่ 3 ซึ่งจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า เด็กให้ความสนใจจดจำเนื้อหา สามารถนำความรู้ ทั้งด้านวิธีป้องกัน สังเกตและดูแลผู้ป่วย ไปถ่ายทอดต่อได้
จุดเด่นของโมเดล Peopleware คือ การพัฒนารูปแบบการสอนให้ครูสามารถสอดแทรกความรู้และสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน เข้าไปในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่เทคนิคนวัตกรรมการศึกษา หรือ Innovation Education ที่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการเรียนรู้ อาทิ นำแผนการสอนที่เตรียมไว้ หรือ “สคริปท์” ผสานกับเกมและกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เด็กเกิดความสนใจ และจดจำมากยิ่งขึ้น
คุณครูอภิรดี สาบุ่ง (ครูออย) จากโรงเรียนแม่อุสุวิยา หนึ่งในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการกล่าวว่า “จากเดิมเราไม่เคยจำกัดเวลาในการสอน โดยใน 1 คาบเรียน อาจจะจบลงโดยที่เราไม่ทราบเลยว่าเด็กเข้าใจเนื้อหาที่เรียนไปแล้วหรือไม่และจะนำเนื้อหาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้อย่างไร แต่จากการนำสคริปท์เข้ามาใช้ ทำให้เราสามารถใช้ทุกนาทีในช่วงเวลาการสอนของเราให้เกิดกระบวนการเรียนการสอนที่สมบูรณ์ ตั้งแต่การเริ่มต้นนำเข้าบทเรียน การเข้าสู่เนื้อหาวิชาหลัก การสรุปและวิเคราะห์ว่าเด็กเข้าใจบทเรียนหรือไม่ และการทบทวนเพื่อให้เด็กสามารถนำความรู้ในชั้นเรียนไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในเรื่องของสุขศึกษาและมาลาเรียรวมถึงการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเสี่ยงด้านสุขศึกษานั้น การใช้เด็กเป็นสื่อเข้าไปบอกพ่อแม่ ผู้ปกครอง และญาติ รวมถึงเพื่อนๆในท้องถิ่นของเขา ด้วยภาษาถิ่นของเขาเอง มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการลดการแพร่กระจายของโรค นอกจากนี้ เรายังได้รับคำแนะนำจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทางด้านการศึกษาเกี่ยวกับการนำอุปกรณ์การเรียนการสอนที่มีอยู่แล้วเข้ามาเสริมใช้อย่างเหมาะสม อาทิการใช้แผ่นโพสต์อิท และการใช้การ์ดภาพ ฯลฯ ทำให้เด็กเข้าใจและเห็นภาพเนื้อหาที่เรียนได้อย่างถ่องแท้มากขึ้น จนทำให้สามารถเกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์จากตัวเด็กเองในที่สุด”
การจัดตั้งโครงการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมฯ อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อมาลาเรียในประเทศไทย โดยสถานการณ์ของโรคมาลาเรียในปัจจุบัน พบว่า พื้นที่แนวชายแดนยังคงมีการแพร่กระจายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจังหวัดตาก ซึ่งพบว่ามีผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย จึงเป็นเหตุให้โครงการกองทุนโลก (The Global Fund) ด้านมาลาเรีย มอบเงินทุนสนับสนุนด้านการป้องกันและรับมือโรคมาลาเรียที่เกิดขึ้น โดยร่วมกับสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
ทั้งเป็น 1 ใน 3 โครงการ ที่สถาบันคีนันฯ ดำเนินการ ประกอบด้วย 1. โครงการตรวจสอบคุณภาพยาในพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับ USP (U.S. Pharmacopeia) 2. โครงการต้นแบบการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรีย 3. โครงการการสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางด้านมาลาเรียในสถานศึกษา ที่มีเป้าหมายเพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้ เกี่ยวกับโรคมาลาเรียทั้งการป้องกันตนเองและการรับการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยาได้อย่างถูกต้อง และสามารถนำไปสื่อสารต่อสู่คนรอบข้าง ทั้งในระดับโรงเรียน ครอบครัวรวมไปถึงชุมชนได้ โดยคัดเลือกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการจากโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรียสูง ได้แก่ โรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ จันทบุรี อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ เชียงราย และตราด รวมทั้งสิ้น 152 โรงเรียน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2555