Press Releases TH

มูลนิธิซิตี้จับมือคีนันฯ เผย ผลวิจัยเชิงลึก “รากปัญหาหนี้ครัวเรือน”

ม.ค. 26,2023

มูลนิธิซิตี้ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเผยผลการวิจัยพบ “นักเรียน นักศึกษา – ผู้ใช้แรงงาน และเกษตรกร” เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมก่อหนี้สูงสุด ชี้ 3 ปัญหาต้นตอ “ขาดความรู้ทางการเงิน – ทัศนคติ – การเข้าถึงแหล่งเงิน” เดินหน้าร่วมมือภาครัฐ เอกชน ผลักดันโครงการ “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน”

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2557 คีนันได้ดำเนินโครงการวิจัยเชิงลึกโดยได้ประเมินนโยบายของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหนี้สิน การออม และสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลุ่มลูกหนี้ ผู้กำหนดนโยบาย และเจ้าหน้าที่จากสถาบันการเงิน และธนาคารไทย ภายใต้การสนับสนุนด้านเงินทุนจากมูลนิธิซิตี้และธนาคารซิตี้แบงก์ คีนันได้ใช้วิธีการที่หลากหลายในการเก็บข้อมูล โดยการวิจัยมุ่งดำเนินการศึกษาไปที่ 3 กลุ่มที่มีพฤติกรรมก่อหนี้สูงที่สุด ซึ่งผลวิจัยพบว่าเป็นกลุ่มที่มีทักษะความรู้ทางการเงินน้อยที่สุดในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา กลุ่มแรงงานรายได้ต่ำ และกลุ่มเกษตรกร

“จากผลวิจัยพบว่ารากปัญหาครัวเรือนต่อหนี้สินที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยมาอย่างต่อเนื่องนั้นเกิดจากปัจจัย 3 ประการคือ ระดับความรู้ด้านการเงิน ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล และความไม่สมดุลของการเข้าถึงแหล่งเงินและกลไกการควบคุมดูแล”

นายปิยะบุตร ขยายความว่า ปัญหาความรู้เรื่องทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำนั้น หมายความว่าประชากรที่เป็นผู้ก่อหนี้ยังขาดทักษะการคิดอย่างมีตรรกะ และความรู้เรื่องคณิตศาสตร์พื้นฐาน จึงทำให้บุคคลในกลุ่มเหล่านี้มักตกอยู่ในวงจรหนี้สินและความยากจน ขณะที่ทัศนคติต่อการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลต่ำ มักก่อให้เกิดพฤติกรรมผิดๆ เช่น พฤติกรรมการไม่ชำระหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้ทางการศึกษา

สุดท้ายปัญหาเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงิน ปัจจุบันคนไทยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น แต่ในทางกลับกัน การคุ้มครองทางการเงินเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศไทย โดยมีการดำเนินงานผ่านศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (Financial Consumer Protection Center: FCC) ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินไปในในทิศทางที่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด

นายปิยะบุตร กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากหลายสาเหตุสำคัญที่กล่าวมาแล้ว การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว และรูปแบบการใช้ชีวิตที่ผู้คนจับจ่ายใช้สอยเกินกว่ารายได้ที่ตนสามารถหาได้ ทำให้เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวของหลายๆ ครัวเรือน ซึ่งจากการศึกษาได้ระบุถึงข้อแนะนำหลายๆ ข้อ อาทิ การสร้างความตระหนักรู้สู่สาธารณะ และกระตุ้นความสนใจของประชาชนเกี่ยวกับความรู้เรื่องการเงิน การติดตามตรวจสอบของหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องควรปฏิบัติหน้าที่เพื่อคุ้มครองประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างความรู้ทางการเงินให้กับสาธารณชน รวมทั้งการใช้โครงการภาคบังคับเกี่ยวกับการออม การฝึกอบรม และการควบคุมหนี้สิน และสิ่งสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้ทางการเงิน ผ่านวิธีการเรียนรู้โดยการลงมือทำ

นายดาเรน บัคลีย์ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ในฐานะผู้แทนจากมูลนิธิซิตี้ กล่าวว่า ซิตี้เป็นผู้นำให้การสนับสนุนการศึกษาความรู้ทางด้านการเงิน โดยเมื่อปี 2547 ซิตี้ได้ประกาศภารกิจเพื่อขยายการศึกษาความรู้ทางการเงินไปสู่ผู้ที่ขาดแคลนในชุมชนที่ซิตี้ไปเข้าดำเนินธุรกิจ ซึ่งในปี 2557 เพียงปีเดียว มีโครงการด้านการศึกษาความรู้ทางการเงินที่สนับสนุนผ่านมูลนิธิซิตี้ 167 โครงการ ซึ่งได้ช่วยให้ประชากรกว่า 1.2 ล้านคนสามารถเพิ่มทักษะทางการเงินได้ทั่วโลก

“โครงการคนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน” เป็นโครงการระดับนโยบายโครงการแรกในประเทศไทย เพื่อตอบโจทย์กับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพบว่าหนี้ครัวเรือนของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 15 มาตั้งแต่ปี 2553 ปริมาณหนี้ที่สูงขึ้น และอัตราการออมที่ลดต่ำลง (ประมาณร้อยละ 20.2 ต่อปีในช่วงปี 2545 – 2550 เหลือเพียงร้อยละ 4.6 ต่อปีในช่วงปี 2551 – 2553) โดยจากข้อมูลล่าสุดของปี 2555 อัตราการออมเติบโตเพียงร้อยละ 1.2 ต่อปีเท่านั้น ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อระบบการเงินในประเทศไทยจะต้องร่วมมือเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ”

นายดาเรนกล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์การดำเนินงานในหลายประเทศผ่านมูลนิธิซิตี้ ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จและโมเดลที่รัฐบาลในหลายประเทศใช้และประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาหนี้ ตัวอย่างเช่น การมุ่งเน้นให้ความรู้ไปที่กลุ่มนักเรียน นับเป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยสร้างทักษะและพฤติกรรมทางการเงินที่ถูกต้องและติดตัวไปตลอดชีวิต ซึ่งทางมูลนิธิซิตี้ได้ให้การสนับสนุนโครงการด้านความรู้ทางการเงินให้แก่เด็กก่อนวัยเรียนในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งระดับประชาชนทั่วไปผ่านสื่อโทรทัศน์และสื่ออื่นๆ

สำหรับประเทศไทยก็มีหลายโครงการ เช่น โครงการผู้หญิงฉลาดออม ฉลาดใช้ ที่ปีนี้ได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 7 ของการดำเนินโครงการ และได้ช่วยส่งเสริมความรู้ด้านการเงินไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้หญิงหลายพันคนให้มีความรู้ในการออมและการลงทุนที่ถูกต้อง อีกหนึ่งตัวอย่างคือ โครงการธนาคารโรงเรียน ซึ่งซิตี้ได้ให้การสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2554 ไปสู่โรงเรียน 13 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี และอยุธยา โดยนักเรียนจำนวน 9,845 คนที่เข้าร่วมโครงการได้ออมเงินรวมกันทั้งสิ้น 8.6 ล้านบาทตั้งแต่ดำเนินโครงการ”

“มูลนิธิซิตี้มีความยินดีที่จะช่วยสนับสนุนการสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก เพื่อศึกษาให้ข้อแนะนำ และสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายเพื่อช่วยพัฒนาความรู้ทางด้านการเงินให้ประชากรไทย”นายดาเรนกล่าว

Share this article

Latest.

ต่อยอดอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเห็

สะเต็มศึกษา การเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับผู้หญิง

การศึกษาของเวียดนามพัฒนาข

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ