Press Releases TH

มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง “การพัฒนาทักษะชีวิต เรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลสำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษา” หลังพบว่ากลุ่มนักเรียนนักศึกษาเป็นหนึ่งใน 3 กลุ่มวิกฤติที่ขาดความรู้และทักษะด้านการเงิน

ม.ค. 26,2023

28 กรกฎาคม 2557 กรุงเทพฯ- มูลนิธิซิตี้ ร่วมกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดเวทีเสวนาระดมสมองเรื่อง การพัฒนาทักษะชีวิต เรื่องความรู้ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลให้แก่กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักของการประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องครั้งที่ 2 ของโครงการวิจัย “คนไทยก้าวไกล ใส่ใจการเงิน”

โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านการศึกษา อาทิเช่น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา รวมทั้งหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเรื่องการให้ความรู้ทางเงินต่างๆ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตลอดจนผู้แทนเยาวชนจากทั่วประเทศมาร่วมระดมสมอง เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล และช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เหมาะสมให่แก่กลุ่มเยาวชนไทย

จากผลการประเมินระดับความรู้และความสามารถในการประยุกต์ใช้ของ PISA หรือ Programme for International Student Assessment พบว่า ระดับความรู้ของเยาวชนไทยอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างน่าห่วง ล่าสุดในปี 2555 นั้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยทั้ง 3 ด้าน (ความรู้เรื่องการอ่าน ความรู้เรื่องคณิตศาสตร์ และความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์) ของเด็กไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด 65 ประเทศที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้ โดยเมื่อเทียบระดับคะแนนกับประเทศอื่นๆ พบว่า เด็กไทยมีความรู้อยู่ในลำดับที่ 50 ขณะที่ประเทศอื่นๆ อาทิเช่น จีน สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีและญี่ปุ่น อยู่ใน 6 ลำดับแรก ส่วนประเทศในกลุ่มอาเซียน เช่น เวียดนาม อยู่ในลำดับที่ 17 มาเลเซียอยู่ในลำดับที่ 52 และอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 64 ดังนั้น นี่อาจจะเป็นเพียงแค่หนึ่งในตัวชี้วัดว่า ในความเป็นจริงแล้ว การร่ำเรียนและท่องจำตำราอย่างหนักของเด็กไทยนั้น อาจไม่ใช่แนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถ และทักษะชีวิตที่เพียงพอต่อการก้าวเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

ความรู้ทางการเงินก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตของประชาชน เพราะการบริหารการเงินและการวางแผนทางการเงินนั้นเป็นทักษะพื้นฐานที่ประชาชนทุกคนควรมี จากผลการสำรวจระดับความรู้ทางการเงินของคนไทยในกลุ่มต่างๆ ในปี 2556 โดยกระทรวงการคลัง พบว่า นักเรียน นักศึกษาเป็นกลุ่มที่มีความรู้ทางการเงินในด้านต่างๆอยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤติ เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ โดยนักเรียนประถมศึกษา และมัธยมศึกษากว่าร้อยละ 50 และนักศึกษาระดับอุดมศึกษาประมาณร้อยละ 47 มีคะแนนอยู่ในระดับต่ำที่สุด (L1) และระดับต่ำ (L2) จากทั้งหมด 6 ระดับ โดยประชาชนส่วนใหญ่จะมีระดับความรู้ที่ปานกลางค่อนข้างต่ำ (M1) จากผลสำรวจนี้ เป็นข้อมูลที่น่าตกใจ เพราะหลักสูตรการเรียนของเด็กๆ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการเรียนการสอนหลักสูตรด้านการเงินอยู่แล้ว แต่ทำไม เด็กรุ่นใหม่ยังคงขาดทักษะด้านนี้อยู่

การประชุมระดมสมองในครั้งนี้จะสามารถเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่จะตอบโจทย์ข้อนี้ได้ โดยการประชุมจะมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้แทนเยาวชนในแต่ละระดับ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา ถึงสาเหตุและปัญหาของการเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลของเยาวชนไทย อาทิ ด้านแนวทางการบริหารการเงินส่วนบุคคลของเยาวชน เนื้อหาและช่องทางการเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลของเยาวชนในปัจจุบัน ทั้งในระบบและนอกระบบการศึกษา รวมถึงมุมมองต่อแนวทางพัฒนาการยกระดับความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลแก่เยาวชนไทยในอนาคต

นอกจากนี้ งจะมีการการเสวนาในหัวข้อ “เยาวชนไทยกับการเพิ่มทักษะชีวิตในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคล” ภายใต้หัวข้อ อาทิ หลักสูตรและวิธีการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลของระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรคที่ค้นพบในการให้ความรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลของเยาวชน จากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและการศึกษา อาทิ จาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และการระดมสมองกลุ่มย่อยของผู้แทนเยาวชนทุกระดับ ทั้งระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ถึงหัวข้อด้านการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค ของความรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่เหมาะสมกับความต้องการของเยาชน

โดยข้อมูลที่ได้รับจากการประชุมระดมสมองครั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จะนำไปจัดทำเป็นรายงาน ผลการวิเคราะห์และข้อเสนอแนะ เพื่อนำเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานทางด้านการศึกษา และหน่วยงานเกี่ยวข้องที่สนับสนุนองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินเพื่อพัฒนาและจัดทำเป็นสื่อองค์ความรู้ด้านการบริหารการเงินส่วนบุคคล ผ่านช่องทางที่เหมาะสมให้แก่กลุ่มเยาวชนต่อไป


ซิตี้

ธนาคารชั้นนำของโลก ที่ให้บริการแก่ลูกค้ากว่า 200  ล้านราย ในกว่า 160 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก ซิตี้นำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่หลากหลายให้กับลูกค้าบุคคล องค์กร ภาครัฐและสถาบันต่างๆ  โดยธุรกิจหลักครอบคลุมการธนาคารและสินเชื่อเพื่อลูกค้าบุคคล (สายบุคคลธนกิจ) ธนาคารเพื่อองค์กรและการลงทุน (สายสถาบันธนกิจและวาณิชธนกิจ)  ธุรกิจนายหน้าค้าหลักทรัพย์  บริการธุรกรรมทางการเงินต่างๆ รวมถึงบริการบริหารความมั่งคั่ง

มูลนิธิซิตี้

มูลนิธิซิตี้มีภารกิจในการเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนต่างๆ ทั่วโลก โดยให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านการมีส่วนร่วมและเข้าถึงด้านการเงิน (financial inclusion)    เราประสานงานกับพันธมิตรชั้นนำเพื่อให้เกิดการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจที่วัดผลได้แก่ครอบครัวและชุมชนที่มีรายได้น้อย   ทั้งนี้ มูลนิธิซิตี้ดำเนินงานในลักษณะที่มากกว่าการบริจาคเงิน โดยใช้ศักยภาพและต้นทุนด้านบุคลากรจากธุรกิจของซิตี้ในแต่ละประเทศเพื่อเพิ่มคุณค่าและผลกระทบในโครงการที่มูลนิธิฯ ให้การสนับสนุน   ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมูลนิธิซิตี้ได้ที่

โครงการให้ความรู้ทางการเงินของซิตี้ (Citi Financial Education Program) ด้วยความเชื่อที่ว่าความรู้คือสินทรัพย์นับแสน  โครงการให้ความรู้ทางการเงินของซิตี้จึงได้ริ่เริ่มขึ้นในระดับนานา ประเทศทั่วโลก  เป็นความพยายามของซิตี้ที่ต้องการสรรค์สร้างแนวทางที่จะช่วยเหลือให้บุคคลครอบครัวและชุมชนได้มีเครื่องมือที่จะใช้ในการตัดสินใจทางการเงินอย่างมีวิจารณญาณ   โดยซิตี้กำหนดเงิน สนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในระยะเวลา 10 ปี เพื่อดำเนินการให้ความรู้ทางการเงินใน 3 ระดับ คือ ระดับบุคคล  ธุรกิจขนาดเล็กและสถาบันการศึกษาด้านการเงิน  ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ ให้ความรู้ ทางการเงินของซิตี้  รวมถึงแนวทางการสนับสนุนของมูลนิธิซิตี้  ตลอดจนข้อมูลหลักสูตรความรู้ทางการเงิน

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 46 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ ท่านสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลของกิจกรรมต่างๆได้ที่

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ