สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมกับ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดการประชุมร่วมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาและการฝึกอบรมของประเทศ ในงาน “Special STEM Thailand Forum” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจระหว่างภาครัฐและเอกชนในการช่วยกันยกระดับการอาชีวศึกษาและการฝึกอบรม (Technical Vocational Education & Training : TVET) ของประเทศ โดยเฉพาะในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับด้านสะเต็ม (Science, Technology, Engineering and Math: STEM)
และเพื่อร่วมกำหนดแนวทางยกระดับการศึกษาและการฝึกอบรมที่จะช่วยแก้วิกฤติการขาดแคลนแรงงานวิชาชีพให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นมากกว่า 120 คน
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กล่าวว่า “สวทน. อยู่ระหว่างจัดทำยุทธศาสตร์กำลังคน STEM ของประเทศ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล การประชุมครั้งนี้ จัดเป็นเวทีที่เปิดให้ตัวแทนจากภาครัฐและเอกชน ร่วมอภิปรายถึงปัญหา โอกาส และแนวทางในการพัฒนาการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนทั้งทางเทคนิคและเทคโนโลยี โดยเฉพาะกำลังคน ด้าน STEM ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ และจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปทั้งการศึกษาในสายสามัญและสายอาชีวะ พร้อมกันนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาการศึกษาและการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคนิคและวิชาชีพจากออสเตรเลีย และมาเลเซีย และผู้เชี่ยวชาญในการสร้างเครือข่ายรัฐร่วมเอกชนเพื่อสร้างทักษะชีวิตและอาชีพแก่เยาวชนด้วย STEM จากสหรัฐอเมริกา มาร่วมถ่ายทอดรูปแบบการบริหารจัดการ และกลไกในการสร้างความร่วมมือรัฐและเอกชน เพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพในการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ”
นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “การจัดงานประชุมครั้งนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักด้านการส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพ ภายใต้โครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศ ผ่านการยกระดับการเรียนการสอนกลุ่มวิชาสะเต็ม อันได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของเชฟรอนประเทศไทย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และสวทน. รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอีก 6 หน่วยงาน ได้แก่ สวทช. สสวท. อพวช. สพฐ. สอศ. และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยคาดหวังว่างานประชุมครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สามารถร่วมกันกำหนดหาแนวทางความร่วมมือ นำไปสู่ข้อสรุปถึงแผนต้นแบบที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทยในการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานวิชาชีพ อันเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน”
“สวทน. เชฟรอน และคีนัน คาดหวังว่างานประชุมครั้งนี้ จะช่วยจุดประกายให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน สามารถร่วมกันกำหนดแนวทางความร่วมมือ อันนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์กำลังคน STEM ของประเทศอย่างมีเป้าหมาย ทั้งนี้เพราะ กำลังคนกลุ่มนี้ถือเป็นปัจจัยการผลิตขั้นพื้นฐานที่ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มผลิตภาพ ช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากภาวะกับดักรายได้ปานกลาง ยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยั่งยืน” นางหทัยรัตน์ กล่าว
ด้าน นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เปิดเผยถึงสถานการณ์และความสำคัญ ของการพัฒนาแรงงานวิชาชีพว่า “นับจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 – 2529) เป็นต้นมา ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีบทบาทและความสำคัญต่อการขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด หากปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ‘แรงงานวิชาชีพ’ ขั้นวิกฤติ โดยเฉพาะใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ พลังงาน ยานยนต์ และ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานมีทักษะเฉพาะทางอย่างเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยปัญหานี้เรื้อรังต่อไปจะยิ่งลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยลงเรื่อยๆ”
“ปัจจัยสำคัญของปัญหาเกิดจาก 1. การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ 2. ขาดแคลนครูอาจารย์เฉพาะทางด้านช่างเทคนิคและอาชีพ 3. การผลิตแรงงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการของนายจ้าง และ 4. ทัศนคติและค่านิยมผู้ปกครองและเยาวชน ที่ให้ความสำคัญกับการเรียนสายสามัญมากกว่าอาชีวศึกษา คิดเป็นสัดส่วน 71 : 29 สวนทางกับความเป็นจริงของตลาดแรงงานไทย ที่ต้องการแรงงานระดับอาชีวศึกษาประมาณปีละ 1.8 แสนคน แต่สามารถผลิตป้อนสู่ระบบได้เพียงปีละ 20,000 คนเท่านั้น”
ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ถูกบรรจุอยู่ในวาระเร่งด่วนของรัฐบาล มีการแก้ปัญหาในหลายรูปแบบ ทั้งการให้ทุนจัดตั้งสถาบัน จัดกิจกรรมและโครงการต่างๆ เช่นเดียวกับภาคเอกชนที่เข้าไปสร้างแรงงานวิชาชีพรุ่นใหม่ร่วมกับสถาบันอาชีวศึกษา หากแต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาระดับมหภาคที่รัฐหรือเอกชนไม่สามารถแก้ไขตามแนวทางของตนเพียงลำพัง
“ภาครัฐ และ เอกชน จำเป็นต้องร่วมกันกำหนดแผนแม่บทในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนแบบบูรณาการ ตั้งแต่การลดอัตราว่างงานของเด็กจบใหม่ ลดการขาดแคลนแรงงานแต่ละสาขาอาชีพ ควบคู่กับการให้ข้อมูลแนวโน้มของตลาดแรงงานในอนาคต พร้อมปรับเปลี่ยนทัศนคติสังคมไทยให้เห็นความสำคัญ และช่องทางการเลือกเรียนในสาขาที่เป็นความต้องการของตลาด เพื่อแก้ปัญหาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” นายปิยบุตร กล่าว
อนึ่ง โครงการ “Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” โดยความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และ 7 องค์กรภาครัฐ มุ่งเป้าหมายที่จะจัดกิจกรรมเป็นระยะเวลา 5 ปี ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู อาจารย์ นักเรียนเยาวชน ชุมชน และแรงงานกว่า 500,000 คน ทั่วประเทศ