Press Releases TH

การขยายผลโครงการโบอิ้ง เทล ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี สู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก

ม.ค. 26,2023

การขยายผลโครงการโบอิ้ง เทล ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี สู่โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก

เป็นที่ทราบกันดีว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลง เป็นผลมาจากคุณภาพทางการศึกษาที่เสื่อมถอยลงทุกขณะ โดยรากเหง้าของปัญหาดังกล่าวมาจากการเรียนการสอนที่ไม่สมดุลย์ทั้งด้านเวลา และ บทบาทระหว่างครูและนักเรียนที่มักจะลงเอยด้วยการที่ครูสอนคนเดียวเกือบจะทั้งคาบ ในขณะที่นักเรียนไม่มีบทบาทไปมากกว่าการท่องจำสิ่งที่ครูบอกเพื่อนำไปสอบเพียงอย่างเดียว เป็นเหตุหลักที่ทำให้เด็กขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงเหตุและผลของเนื้อหาที่เรียน จนเกิดผลเป็นลูกโซ่ดังกล่าว

โดยจะเห็นได้จากคะแนนสอบ PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่งเป็นการสอบที่ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบว่า นักเรียนสามารถจะนำสิ่งที่ได้เรียนในห้องเรียนไปประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิต หรือสถานการณ์จริงได้หรือไม่ ในปี พ.ศ. 2555 คะแนนสอบ PISA ของเด็กไทยอยู่ในลำดับที่ 47 (จาก 76 ประเทศทั่วโลก) โดย 5 ลำดับแรกที่นักเรียนได้คะแนนสอบสูงที่สุด เป็นประเทศในแถบเอเชียทั้งสิ้น ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน แม้แต่เวียดนามซึ่งสามารถไต่ไปอยู่ในลำดับที่ 12 ได้

ทางออกหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าวคือการจัดเตรียมแผนการสอนโดยใช้สคริปต์ เพื่อให้ครูบริหารเวลาในการสอนใน 1 คาบได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งเวลาและบทบาท โดยแบ่งกิจกรรมใน 1 คาบเรียนออกเป็นทั้งหมด 5 ขั้นตอน ได้แก่ 1. ขั้นเตรียมความพร้อม (Warm Up) 2. ขั้นเริ่มเข้าสู่บทเรียนใหม่ (Introduction) 3. ขั้นปฏิบัติกิจกรรม (Body) 4. ขั้นสรุปบทเรียน (Wrap Up/Closing) และ 5. ขั้นตรวจสอบความรู้ (Exit Ticket) โดยในแต่ละช่วงจะมีเวลาที่กำหนดไว้เป็นแนวทางให้ครูสามารถจัดการสอนให้ครบองค์ประกอบที่สำคัญได้ และ ในขณะเดียวกันก็สามารถบริหารบทบาทของครู กับนักเรียนในชั้นเรียนจะถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมและมีการกำหนดเวลาแต่ละขั้นอย่างชัดเจน แม้ว่าครูอาจจะยังไม่คล่องและไม่ชินการนำสคริปต์การสอนไปทดลองใช้ใน แต่หลังจากปรับตัวได้ครูจะเหนื่อยน้อยลง เพราะใน 1 คาบ ครูจะไม่ใช่คนที่ยืน พูด และบอกความรู้ให้กับนักเรียนแต่เพียงผู้เดียวอีกต่อไป

ดร. โชดก ปัญญาวรานันท์ ผู้จัดการโครงการโบอิ้ง ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี และผู้จัดการด้านกระบวนการธุรกิจของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า เราได้แนวคิดการจัดการสอนด้วยสคริปต์นี้จากผู้เชี่ยวชาญจาก Teacher Collage มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา จากการเข้ามาทำงานร่วมกันและวิเคราะห์ปัญหาของคุณครูไทยแล้ว ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นว่า การใช้สคริปต์น่าจะช่วยให้การออกแบบการสอนเกิดประโยชน์จริงกับการเรียนการสอนมากกว่าแผนการสอนในรูปแบบเดิม รวมถึงเปิดโอกาสให้ครูสามารถผสมผสานองค์ประกอบในการสอนต่าง ๆ ได้ตามความถนัด ทั้งการสอดแทรกเทคโนโลยี เทคนิคการสอน การใช้คำถาม รวมถึงแนวทางจากฝ่ายนโยบายให้เกิดขึ้นได้จริงในห้องเรียนได้

จากคำบอกเล่าของ นางทองหล่อ รัชตปวุฒิ ครูชำนาญการพิเศษ (คณิตศาสตร์) โรงเรียนวัดโยธีราษฎร์ศรัทธาราม จังหวัดนครนายก บอกว่า หลังจากที่ใช้สคริปต์เข้ามาควบคุมเวลาในการสอน สังเกตได้เลยว่าเด็กสนุกในการเรียนมากขึ้น เพราะเราเริ่มให้บทบาทเด็กให้ทดลอง และทำงานเป็นกลุ่ม นอกจากนี้การนำเทคโนโลยี หรือสื่อการสอน และกลวิธีอื่น ๆ เข้ามาเสริม ทำให้เด็กเกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อน มีการระดมสมอง โต้ตอบ ซักถาม เห็นด้วย และเห็นต่าง และนำความคิดแต่ละคนมาวิเคราะห์เพื่อให้ได้คำตอบเพื่อนำเสนอให้เพื่อนในกลุ่มอื่นได้รับฟัง และร่วมกันวิพากษ์คำตอบต่อไป

ต่อยอดสู่ 26 โรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก
นายสมุทร สมปอง ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษานครนายก กล่าวว่า จากความสำเร็จของโรงเรียน ที่เข้าร่วมกับทางโครงการ โบอิ้ง เทล ตั้งแต่ปีแรก ได้แก่ โรงเรียนวัดดอนยอ ในจังหวัดนครนายก มาจนถึงปัจจุบัน โรงเรียนวัดดอนยอสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้แล้วว่า วีธีการอบรมครูให้สามารถใช้สคริปต์ และกลวิธีอื่น ๆ ในการเรียน-การสอนนนั้นเป็นวิธีที่ได้ผลเป็นอย่างดี สำหรับโรงเรียนวัดดอนยอ ที่มีครูทั้งหมด 16 คน และครูทุกคนได้รับการขยายผลและอบรมหลักสูตรการนำสคริปต์เข้าไปประยุกต์ใช้กับการสอนของตนทุกคนนั้น โรงเรียนสามารถเห็นความแตกต่างที่เกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจนคือ เรื่องการมีส่วนร่วมของนักเรียนในชั้นเรียน ที่นักเรียนกล้าแสดงออกมากขึ้น รู้จักคิด วิเคราะห์ และรู้จักการทำงานเป็นทีมมากขึ้น และสามารถนำวิชาความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของเขามากขึ้น ที่สำคัญที่สุดและเห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุด นั่นคือ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนโรงเรียนวัดดอนยอนั้นสูงขึ้นเกือบทุกกลุ่มสาระวิชา และสูงกว่ามาตรฐานที่ทางสพฐ. ได้ตั้งเป้าไว้ ทั้งนี้มีโรงเรียนหลายโรงเรียนทั้งจากพื้นที่อื่นๆ และจากนครนายกเอง ได้เข้าไปสังเกตการเรียนการสอนของครู ณ โรงเรียนวัดดอนยอ และลงความเห็นว่าวิธีการใช้สคริปต์นั้นเป็นวิธีการที่ดี

ในส่วนของจังหวัดนครนายกเองก็ได้ดำเนินการขยายผลการอบรมสคริปต์ให้แก่ครูในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ 20 โรง และจากโรงเรียนอื่น ๆ ที่สนใจอีก 6 โรง รวมครูและผู้อำนวยการที่ได้อบรมไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 230 คน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภายหลังจากการอบรมผ่านไปแล้ว 6 เดือนถึง 1 ปี เราจะเก็บข้อมูลจากโรงเรียนที่เข้าร่วมอบรม ดดยจะส่งศึกษานิเทศก์เข้าไปสังเกตการสอนของครูและบรรยากาศในชั้นเรียน และเก็บข้อมูลด้านผลลัพธ์ทางการศึกษาต่อไป
ในอนาคตการอบรมหลักสูตรการใช้สคริปต์ให้แก่ครูนี้ คาดว่าจะถูกนำไปขยายและต่อยอดไปสู่โรงเรียนในจังหวัดนครนายกในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษานครนายกทั้งหมด โดยงบประมาณทั้งหมดจะมาจากทางสำนักงานเขตพื้นที่เอง โดยได้รับการสนับสนุนวิทยากรร่วมอบรมจากโครงการโบอิ้ง เทล และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

อนึ่ง โครงการโบอิ้ง เทล ยกระดับการเรียนรู้ด้วยเทคโนโลยี หรือ Boeing TEL (Technology Enhance Learning) เป็นการร่วมมือระหว่าง บริษัทโบอิ้ง และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย มีความเชื่อว่า การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ต้องประกอบไปด้วยเทคโนโลยีที่สำคัญ 3 ประการ อันประกอบไปด้วย Hardware Software และ People ware อันเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด เป้าหมายของโครงการโบอิ้ง เทล เน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ เพื่อช่วยเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่ดีขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาบุลากรครู (People ware) ให้เป็นผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง และสามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ของนักเรียนได้

รายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับสื่อมวลชน โปรดติดต่อ:

ฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์
มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย
ณฐินี กุลพิจิตร
โทร 02 229 3131 ต่อ 305
อีเมล: natineek@kenan-asia.org

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ