Sustainable business TH

โครงการ “พัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน”

ม.ค. 26,2023

Citi project kenan

ที่มาของโครงการ

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง ณ ปีพ.ศ. 2559 มูลค่าหนี้ครัวเรือนสูงถึง 12,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดในภูมิภาค และจากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปีพ.ศ. 2556 พบว่า กลุ่มแรงงานไร้ฝีมือมีหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 87,551 บาท ในขณะที่มีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ย 19,881 บาท ทำให้ยากที่จะปลดภาระหนี้สินหากขาดความรู้ที่จะบริหารจัดการหนี้ ภาครัฐได้ริเริ่มให้ความรู้ด้านการเงินโดยได้ผนวกลงในหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทว่ากลุ่มแรงงานรายได้น้อยส่วนใหญ่มีโอกาสเรียนเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จึงขาดโอกาสในการเรียนรู้หลักสูตรดังกล่าว ทำให้ไม่อาจวางแผนและบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องติดอยู่ในวัฏจักรของความยากจนและกับดักหนี้สินอย่างไร้ทางออก

เกี่ยวกับโครงการ

โครงการ “พัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน” ดำเนินการโดยสถาบันคีนันแห่งเอเซียและมูลนิธิซิตี้ เพื่อให้ความรู้ด้านการเงินแก่กลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยในชุมชนด้อยโอกาส ปลูกฝังนิสัยการออม และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว โครงการนี้ได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ซึ่งเป็นองค์การมหาชนที่ให้ความช่วยเหลือชุมชนที่มีรายได้น้อย โดยจะจัดอบรมเรื่องความรู้ทางการเงินให้แก่กลุ่มชุมชนต่าง ๆ  รวมทั้งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ พอช. และกลุ่มผู้นำชุมชนให้สามารถเป็นที่ปรึกษาด้านการเงินและบริหารกองทุนชุมชนได้ โครงการนี้มุ่งหวังสร้างความเข้มแข็งให้แก่กลุ่มชุมชน โดยสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืน อันจะช่วยให้สมาชิกชุมชนได้รับการสนับสนุนด้านการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

กิจกรรมภายใต้โครงการ

โครงการฯ เริ่มต้นจากการศึกษาและประเมินเครือข่ายกลุ่มชุมชนต่าง ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเงินที่ตรงกับความต้องการของชุมชนสูงสุด ซึ่งนำไปใช้ในการฝึกอบรมสมาชิกชุมชนให้มีทักษะด้านการเงินเบื้องต้น เช่น การทำบัญชีครัวเรือน การออม และการลงทุน เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถบริหารจัดการการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายทางการเงินระยะยาวได้สำเร็จ  นอกจากนี้ คีนันยังพัฒนาทักษะทางด้านการเงินและการให้คำปรึกษาของผู้นำชุมชนและเจ้าหน้าที่ พอช. เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นที่ปรึกษาทางการเงินชุมชนและคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยเหลือสมาชิกชุมชนได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับในปีที่  3 นี้ โครงการฯ จะมุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศที่ยั่งยืนสำหรับการช่วยเหลือด้านการเงินให้กับชุมชนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยการสร้างและพัฒนาทักษะให้กับผู้นำชุมชนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนด้านงบประมาณตั้งต้นสำหรับการจัดทำโครงการด้านการเงินในชุมชน เพื่อขยายผลและเผยแพร่ความรู้ทางการเงินให้แก่สมาชิกคนอื่น ๆ ในเครือข่ายชุมชนต่อไป

ผลการดำเนินโครงการที่คาดหมาย

ตลอดระยะเวลา  2 ปีที่ผ่านมา โครงการฯ ได้ดำเนินการอบรมเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลให้แก่สมาชิกชุมชนไปแล้วจำนวนทั้งสิ้น 1,502 คนและผู้นำชุมชนจำนวนทั้งสิ้น 149 คน จากทั้งหมด 40 ชุมชน ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี และปทุมธานี สำหรับผลสำเร็จโครงการฯ ในปีที่ 1และ2 นั้นพบว่า สมาชิกชุมชนที่ผ่านการอบรมมีความรู้ทางการเงินเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 24% และมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านการเงินที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น สมาชิกชุมชนซึ่งได้ตอบแบบสอบถามกว่า 90% มีการออมเงินสม่ำเสมอ และกว่า 55% มีการจดบันทึกบัญชีครัวเรือนเพื่อวางแผนค่าใช้จ่าย ซึ่งถือเป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นถึง 8% และ21% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนเข้าอบรม สำหรับในปีที่ 3 นี้ โครงการฯ จะดำเนินการฝึกอบรมและให้คำปรึกษาทางด้านการเงินแก่กลุ่มผู้นำชุมชนจำนวน 100 คน เพื่อส่งต่อองค์ความรู้เรื่องการเงินและขยายผลไปยังสมาชิกในเครือข่ายชุมชนอีกกว่า 625 คน จากโครงการย่อยที่ดำเนินโดยแกนนำองค์กรฯ ในอีก 20 ชุมชนต่อไป

Share this article

Latest.

ต่อยอดอนาคตที่ยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมไทย

มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเห็

สะเต็มศึกษา การเรียนรู้ยุคใหม่สำหรับผู้หญิง

การศึกษาของเวียดนามพัฒนาข

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ