กองทุนโลก/ สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง ตุลาคม 2554 กันยายน 2559
แม้ประเทศไทยจะรุดหน้าในการควบคุมป้องกันโรคมาลาเรียในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่การย้ายถิ่นของประชากรและการพัฒนาของเชื้อมาลาเรียที่ดื้อยา ทำให้ยังพบการระบาดอย่างต่อเนื่องตามชุมชนแนวชายแดนไทยกับกัมพูชาและเมียนม่าร์ จนกระทั่งปี 2555 ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกองทุนโลกด้านเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียต่อเนื่องเป็นระยะเวลาห้าปีเพื่อดำเนินโครงการควบคุมป้องกันและรับมือกับโรคมาลาเรียตามแนวเขตแดน ตามเป้าหมายควบคุมและยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในประเทศไทยให้ลดลงร้อยละ 80 ภายในปี 2563
คีนันได้ร่วมดำเนินโครงการในพื้นที่ประเทศไทยที่มีการแพร่เชื้อมาลาเรียสูง โดยมีส่วนร่วมในการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อการควบคุม ป้องกัน และยับยั้งการแพร่เชื้อไข้มาลาเรีย ได้แก่ โครงการ “การสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพเรื่องโรคมาลาเรียในสถานศึกษา” ซึ่งเป็นโครงการหลักที่คีนันรับผิดชอบ ด้วยอาศัยโรงเรียนเป็นฐานในการสร้างความรู้และความตระหนักของกลุ่มเป้าหมายในชุมชน โดยคีนันได้ริเริ่มใช้นวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วมของนักเรียนด้วยกลวิธีการสอนแบบต่างๆ ผสมผสานความรู้เรื่องโรคมาลาเรียเข้ากับหลักสูตรมาตราฐานการเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยมุ่งผลลัพธ์ทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติ (Knowledge, Attitude, and Practices: KAP) เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจถึงการอาการ การควบคุมป้องกัน และการดูแลรักษาโรคไข้มาลาเรีย โดยสร้างพลังแก่เยาวชนเหล่านี้ในการเป็นสื่อกลางช่วยทลายข้อจำกัดด้านภาษาถิ่นในการสื่อสาร และเป็นกุญแจหลักที่ยังยืนในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพเรื่องมาลาเรียในชุมชนของตนเอง, และโครงการอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการ “การตรวจสอบและประเมินคุณภาพยารักษาโรคไข้มาลาเรียในประเทศไทย”, โครงการต้นแบบ “การยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดตราด”
ตลอดระยะเวลาห้าปี (2555 – 2559) คีนันได้ส่งเสริมให้มีการจัดการเรียนการสอนด้วยกลวิธีต่างๆ ในห้องเรียน เพื่อการมีส่วนร่วมของผู้เรียน พร้อมทั้งอาศัยหลักการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (BCC) ในโรงเรียนประถมศึกษากว่า 152 แห่งในพื้นที่ 9 จังหวัดชายแดนที่มีการระบาดของโรคไข้มาลาเรีย ผ่านการฝึกอบรมนวัตกรรมการเรียนการสอนเรื่องโรคมาลาเรียแก่ครูผู้สอนสาระวิชาวิทยาศาสตร์ และสาระวิชาสุขศึกษาพลศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษารวม 1,173 คน ทั้งนี้ คีนันยังได้จัดกิจกรรมเสริมนอกห้องเรียนขึ้นมา ได้แก่ การจัดค่ายมาลาเรียเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่นำร่อง (จังหวัดตาก) ได้รับความรู้ผ่านกิจกรรมค่ายที่มีความสนุกสนาน, การทำโครงงานมาลาเรีย (Project-Based Learning: PBL) เพื่อให้เด็กๆ สามารถเข้าใจเรื่องโรคมาลาเรียอย่างแท้จริง สำหรับโครงการอื่นๆ ที่คีนันได้มีส่วนร่วม คือ การเฝ้าระวังและประเมินคุณภาพยารักษาโรคไข้มาลาเรียในพื้นที่โครงการ 22 จังหวัด ที่ได้รับความร่วมมือจากองค์การตำหรับยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Pharmacopeia) ในการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้สามารถตรวจสอบและประเมินคุณภาพของยารักษาโรคไข้มาลาเรียได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ การยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดตราด ที่อาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการเชื่อมโยงภาครัฐเอกชนในการเสริมสร้างกลยุทธ์การยับยั้งมาลาเรียในชุมชน
ระหว่างการดำเนินโครงการห้าปีนั้น ครูที่ผ่านการฝึกอบรมจากคีนันได้นำหลักสูตรนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนไปใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวนมากกว่า 17,062 คน ได้สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคไข้มาลาเรียทราบถึงสาเหตุการเกิดโรค อาการ การควบคุมป้องกัน และการดูแลรักษาที่เหมาะสม ได้ช่วยให้เด็กๆ เหล่านี้มีทักษะชีวิตที่สำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไข้มาลาเรีย เพื่อเป็นต้นกล้าสร้างสรรค์ชุมชนปลอดโรคปลอดภัย ซึ่งในโครงการปีที่ 4 และ 5 คีนันยังได้สร้างความความยั่งยืนให้กับโครงการด้วยการสร้างครูต้นแบบในพื้นที่ จำนวน 34 คน เพื่อเป็นแกนหลักในการฝึกอบรมเพื่อนครูทั้ง 9 จังหวัดในโครงการ นอกจากนี้ ยังได้ร่วมจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการแก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจำนวน 95 คน จากตัวแทนทั้ง 22 จังหวัด ในเรื่องการเฝ้าระวังและตรวจสอบคุณภาพยารักษาโรคไข้มาลาเรีย ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียในพื้นที่จังหวัดตราด โดยการดำเนินการอย่างต่อเนื่องของคีนัน ได้ส่งผลให้จังหวัดตราดเป็นพื้นที่เตรียมการการปลอดโรคไข้มาลาเรีย