21st century skills TH

โครงการเชฟรอน “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

ม.ค. 26,2023

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด (3 เมษายน 2558-เมษายน 2562)

โครงการเชฟรอน “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” เป็นโครงการความร่วมมือ รัฐ-เอกชน ที่มีมูลค่า 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 960 ล้านบาท) มีระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ผ่านการพัฒนาด้านการศึกษา โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสะเต็มศึกษา (วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) และการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทั่วประเทศ

โครงการ Chevron Enjoy Science

หลักการและเหตุผล: การพัฒนาสะเต็มศึกษาและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ และตอบรับกับภารกิจเร่งด่วนของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภารกิจเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่กำลังคนเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และจากผลของคะแนนการสอบวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระดับประเทศที่ตกต่ำ ผนวกกับการขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะด้านวิชาสะเต็ม และทักษะด้านเทคนิค ได้ส่งผลให้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

วัตถุประสงค์โครงการ: โครงการเชฟรอน “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาสะเต็มศึกษาและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ด้วยองค์ประกอบของโครงการที่มีความแตกต่างแต่เชื่อมโยงกันสามประการ ดังนี้

องค์ประกอบที่ 1: การส่งเสริมโรงเรียนให้มีศักยภาพด้านการจัดการเรียนรู้เกี่ยวกับสะเต็ม

กิจกรรมหลัก: เสริมสร้างศักยภาพให้แก่ครูผู้บริหารสถานศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาในการจัดการเรียนรู้ด้านวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3ในโรงเรียนขยายโอกาสหรือโรงเรียนมัธยมขนาดกลางที่อยู่ห่างไกล เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ การจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการได้รับเนื้อหาวิชาและองค์ความรู้ที่เท่าทันต่อยุคสมัย เพื่อมุ่งเน้นการสร้างพื้นฐานการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ดีเพื่อก้าวไปสู่การจ้างงานในอาชีพที่เกี่ยวข้องกับ STEM การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและแนะนำวิธีการจัดการเรียนการสอนที่ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์ แก้ปัญหาที่เชื่อมโยงกับโจทย์สถานการณ์ในชีวิตประจำวัน มีปฏิสัมพันธ์ ทำงานกันเป็นทีม และสามารถสื่อสารข้อสรุปที่ผ่านการรวบยอดความคิดของทีมได้ อันเป็นแนวการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อันจะนำไปสู่การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของนักเรียนที่อยู่ห่างไกล และในกลุ่มนักเรียนหญิง และการนำแนวปฏิบัติที่วิจัยแล้วว่าได้ผลไปใช้ในการพัฒนาสถานศึกษา

องค์ประกอบที่ 2: การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ

กิจกรรมหลัก: การพัฒนาศักยภาพให้แก่ครูอาชีวศึกษาและผู้บริหารสถานศึกษาในระดับชั้นเทียบเท่ามัธยมศึกษาปีที่ 4-6 การพัฒนาสื่อการเรียนการสอนและวิธีการที่ผู้เรียนมีโอกาสปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกับผู้สอนได้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอาชีพของตนในอนาคต เพื่อตอบรับกับความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในระดับสากล ส่งเสริมกิจกรรมและการใช้ทรัพยากรของภาครัฐและเอกชนให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด พัฒนาความคิดริเริ่มความร่วมมือ รัฐ-เอกชนเพื่อตอบสนองความต้องการ และการเข้าถึงกำลังคน และพัฒนาศักยภาพให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการศึกษาสายอาชีพและเทคนิคอีกทั้งการฝึกอบรมแก่ประชากรวัยทำงาน

องค์ประกอบที่ 3: การสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชนและสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาสะเต็มศึกษา และการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ

กิจกรรมหลัก: สร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภาครัฐและเอกชน โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของสะเต็มศึกษา และการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ (กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน ฯลฯ ) และภาคเอกชน เพื่อสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืน วางนโยบาย วิสัยทัศน์ และแผนงานร่วมกัน อีกทั้งจัดการประชุมสัมมนา และโปรแกรมการประกวดเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชน

ระยะเวลาและเงินทุนสนับสนุน: โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี มีมูลค่าโครงการ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 960 ล้านบาท)

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์: เยาวชนและนักเรียนสายสามัญในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 นักเรียนสายเทคนิคหรืออาชีวศึกษา และนักเรียนในวิทยาลัยชุมชนในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ครอบครัว ชุมชนท้องถิ่น ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา และกลุ่มประชากรวัยทำงาน

พันธมิตร: มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จะเป็นพันธมิตรหลักในการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรร่วมโครงการภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

กิจกรรมล่าสุด

เปิดประตูภาคเอกชนสู่การพัฒนาสะเต็มศึกษาและTVET

เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2558 โครงการเชฟรอน “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ได้จัดงานสัมมนาเวทีสาธารณะในหัวข้อ “Special STEM Thailand Forum: the Role of Private Sector in STEM related TVET Education” เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนว่าด้วยการพัฒนา TVET ในประเทศไทย รวมถึงการเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนด้านสะเต็มศึกษาและ TVETงานสัมมนาในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากบุคคลในหลายวงการ ทั้งผู้กำหนดนโยบาย ข้าราชการ ผู้เชี่ยวชาญด้านTVETและภาคเอกชนมากถึง 122 คน ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาหลักสูตร TVET ในบริบทต่าง ๆ โดยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเชฟรอน Enjoy Science ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและการสนับสนุนของโครงการ เชฟรอน Enjoy Science

การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

“การอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์” มีขึ้นใน 3 จังหวัด คือสมุทรปราการ (วันที่ 28-30 เมษายน) ขอนแก่น (วันที่ 5-7 พฤษภาคม) และสงขลา (วันที่ 5-7 พฤษภาคม) เพื่ออบรมครูคณิตศาสตร์ (230 คน) และครูวิทยาศาสตร์ (251 คน ) ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากหลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะทั้งในบทเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สมบัติของสสาร พลังงาน แรง การเคลื่อนที่สำหรับวิทยาศาสตร์ และจำนวนเต็มสำหรับคณิตศาสตร์) โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา และโครงการเชฟรอน EnjoyScience

ทั้งนี้ การเรียนรู้ที่เน้นการฝึกปฎิบัติและจากการแก้โจทย์จากสถานการณ์จริงสามารถช่วยพัฒนาการมีส่วนร่วมของนักเรียนในชั้นเรียน และยกระดับคุณภาพของการเรียนการสอนได้

การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาด้านความเป็นผู้นำทางวิชาการ

“การประชุมเชิงปฏิบัติการผู้บริหารสถานศึกษาด้านความเป็นผู้นำทางวิชาการ” มีขึ้นในจังหวัดสมุทรปราการ ขอนแก่น และสงขลาในช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อให้ผู้บริหารสถานศึกษาและคณาจารย์ รวม 392 คน จากโรงเรียน 189 แห่งของทุกสังกัด เข้ารับการอบรมหลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะที่ส่งผลอย่างสูงต่อผู้เรียนและการพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน จากศาสตราจารย์ Tom Corcoran ผู้อำนวยการร่วมจากสถาบัน Consortium for Policy Research in Education (CPRE), Teachers College มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และผู้เชี่ยวชาญจากมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย โดย ครูณัชชา ยอดยศ รองผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสลุด จ. สมุทรปราการ หนึ่งในผู้เข้ารับการอบรม กล่าวว่าการอบรมครั้งนี้ช่วยให้เข้าใจวิธีการสนับสนุนคุณครูในการจัดการเรียนรู้แบบสืบเสาะที่ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

คาราวานวิทยาศาสตร์

กิจกรรม “คาราวานวิทยาศาสตร์” มีขึ้นที่ขอนแก่น (วันที่ 8-9 และ 11-12 มิถุนายน) และที่สมุทรปราการ (วันที่ 2-3 กรกฏาคม) ภายใต้การดำเนินงานขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ(อพวช.) และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Chevron Enjoy Science เพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความตระหนักรู้ด้านวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนด้วยกิจกรรมฐานการเรียนรู้ที่ใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์และการแสดงโชว์ที่อยู่บนหลักการเรียนรู้แบบสืบเสาะ โดยมีนักเรียน 2,292 คนจากโรงเรียน 109 แห่งเข้าร่วมกิจกรรมในสองจังหวัด

เชฟรอนฯ เปิดตัวโครงการ ENJOY SCIENCE: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต โดยดึงรัฐเอกชน ร่วมพลิกโฉมการศึกษาไทย

โครงการเชฟรอน Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2558 ท่ามกลางแขกผู้มีเกียรติทั้งจากภาครัฐ เอกชน และผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นโครงการที่จะมีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงการศึกษาไทยด้วยการสร้างความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและนวัตกรรมของประเทศไทยด้วยการพัฒนาสะเต็มศึกษา (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) และการศึกษาและการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้านเทคนิคและอาชีพหรือ TVET (Technical Vocational Education and Training) ด้วยความร่วมมือขององค์กรพันธมิตร 9 หน่วยงาน ด้วยงบประมาณ 30 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ 5 ปี ทั้งนี้แขกผู้มีเกียรติที่เข้าร่วมพิธีเปิดมีทั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ก่อตั้งและประธานกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียร่วมเป็นสักขีพยาน นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต ดร. พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ข้อมูลเกี่ยวกับสะเต็มศึกษา

สะเต็มคืออะไร?

คำว่าสะเต็ม มาจากคำภาษาอังกฤษว่า STEM ซึ่งเป็นตัวย่อที่เราใช้เรียกสาขาวิชา วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และ คณิตศาสตร์ (Mathematics) แต่หากกล่าวถึงสะเต็มศึกษาแล้ว จะมีความหมายมากกว่าการเรียนในแต่ละวิชา แต่สะเต็มศึกษาจะหมายความถึงแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนาโครงงาน ชิ้นงานหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต และการทำงาน ช่วยนักเรียนสร้างความเชื่อมโยงระหว่าง 4 สหวิทยาการ กับชีวิตจริงและการทำงาน การจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษาเป็นการจัดการเรียนรู้ที่ไม่เน้นเพียงการท่องจำทฤษฎีหรือกฏทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ แต่เป็นการสร้างความเข้าใจทฤษฎีหรือกฏเหล่านั้นด้วยการปฏิบัติให้เห็นจริงควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ปัญหาและการหาข้อมูลและวิเคราะห์ข้อค้นพบใหม่ๆ พร้อมทั้งสามารถนำข้อค้นพบนั้นไปใช้หรือบูรณาการกับชีวิตประจำวันได้

ทำไมสะเต็มศึกษาถึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย?

สะเต็มศึกษานั้นมีความสำคัญต่อประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งจะมีงานที่มีความเกี่ยวข้องกับสะเต็มศึกษาเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตำแหน่งงานที่ต้องใช้แรงงานที่มีทักษะนั้นก็กำลังเป็นที่ต้องการมาโดยตลอดระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมา ขณะที่ในปัจุบันปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะยังคงเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ และ งานที่มีความเกี่ยวข้องกับภาควิชาสะเต็มนั้นก็มีการจ้างงานด้วยค่าจ้างที่สูง และสามารถสร้างโอกาสในการเติบโตจากสายงานดังกล่าวได้ในระยะยาว การยกระดับสะเต็มศึกษานั้นจึงมีความสำคัญในการที่จะเพิ่มจำนวนนักเรียนให้มีความสนใจที่จะศึกษาในวิชาที่เกี่ยวข้อง เพราะนักเรียนเหล่านั้นมีความเข้าใจ จนทำให้เกิดความสนใจที่จะศึกษาต่อด้านสะเต็มศึกษา ซึ่งเยาวชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของภาคแรงงานที่มีทักษะและนวัตกรรม และจะช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคต

การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้คืออะไร และทำไมจึงมีความสำคัญ?

การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้จะใช้รูปแบบของการตั้งคำถาม การวิเคราะห์ปัญหา หรือการวิเคราะห์สถานการณ์ มากกว่าการให้ข้อมูลคำตอบของเรื่องดังกล่าว การเรียนแบบนี้ต้องการให้นักเรียนนำคำถามและปัญหาเหล่านั้นไปทำการสำรวจ สืบค้น ทดลอง วิจัย หาข้อมูลด้วยตนเอง และใช้การสังเกต คิด/วิเคราะห์ ทักษะการแก้ปัญหา และหาข้อสรุปจากประจักษ์พยาน มากกว่าการท่องจำคำตอบที่ได้มาอย่างสำเร็จรูปจากการบอกเล่าของคุณครูหรือการท่องจำจากตำรา การเรียนรู้แบบสืบเสาะหาความรู้นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นวิธีการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็ม และช่วยทำให้นักเรียนมีความอยากรู้อยากเห็นต่อการเรียนรู้ใหม่ๆในระยะยาว

การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพคืออะไร?

การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพนั้นในภาพกว้างๆ จะหมายรวมถึงการศึกษาเพื่ออาชีพทั้งการศึกษาในระบบ และนอกระบบ โดยมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้และทักษะที่ผู้เรียนจะสามารถนำไปใช้ได้กับอาชีพในอนาคต การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งต่อผู้เรียนหากได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่ให้ความร่วมมือกับสถานศึกษาในการรับผู้เรียนเหล่านั้นเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ และมอบหมายให้พี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำในด้านองค์ความรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เพื่อให้ผู้เรียนได้เตรียมพร้อมเพื่อให้มีทักษะที่เหมาะสมต่อการจ้างงานและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ให้เกิดความก้าวหน้าในอาชีพต่อไป

ทำไมการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพจึงมีความสำคัญต่อประเทศไทย?

การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเตรียมผู้เรียนให้ก้าวเข้าสู่สายอาชีพที่ต้องอาศัยนวัตกรรม เพื่อยกระดับทักษะกำลังคนในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้เรียนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระบบ ที่ต้องการเพิ่มโอกาสให้แก่ตนด้วยการยกระดับทักษะและความรู้ทางด้านเทคนิค ทั้งนี้ การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพถือเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการสร้างแรงงานที่มีทักษะที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและความเจริญของประเทศ

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินโครงการ

โครงการเชฟรอน “Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จะส่งผลดีในวงกว้างต่อภาคการศึกษา และการยกระดับทักษะกำลังคนของประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ โครงการฯออกแบบโดยยึดถือหลักการมีส่วนร่วมของภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญเป็นพื้นฐานในดำเนินงาน และจะสร้างรูปแบบการส่งเสริมการจัดตั้งและการพัฒนา STEM HUB และศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ ทั่วประเทศโดยโครงการมีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี มีจุดประสงค์ในการนำแนวปฎิบัติที่เป็นเลิศมาปรับใช้กับโรงเรียนและสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพิ่มจำนวนนักเรียนที่ต้องการจะศึกษาต่อในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสะเต็มให้มากขึ้น สร้างวิสัยทัศน์ระหว่างภาคีในการกำหนดแผนและการดำเนินงานด้านสะเต็มศึกษาและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพร่วมกันต่อไป

โดยภาพรวมแล้ว โครงการฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ไปสู่ประชากรกว่า 500,000 คนทั่วประเทศ อันได้แก่ นักเรียน ครู ผู้อำนวยการสถานศึกษา เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และกำลังคนในประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสทางด้านอาชีพและการเพิ่มรายได้ที่สูงขึ้น ทั้งนี้ โครงการจะพัฒนาครูจำนวนกว่า 10,000 คน ซึ่งจะเป็นผู้นำคู่มือการเรียนการสอนแบบใหม่ไปใช้สอนแก่ นักเรียนกว่า 150,000 คน ที่จะเข้าร่วมการศึกษาด้านสะเต็มและการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพและการอบรมด้านเทคนิค (รวมถึงประชากรวัยทำงานกว่า 70,000 คน) โครงการฯคาดหวังว่า จะพัฒนาและฝึกอบรมกำลังคนกว่า 15,000 คนให้มีโอกาสในการสร้างรายได้ที่สูงขึ้นเพื่อไปจุนเจือสมาชิกในครอบครัวที่จะได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการเป็นจำนวนกว่า 160,000 ครอบครัว

Share this article

Latest.

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ