การศึกษาของเวียดนามพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับกระแสด้านการศึกษาในหลายประเทศที่เริ่มมีการคิดค้นการบูรณาการรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่เรียกว่า STEM Education model หรือรูปแบบการสอนแบบสะเต็มศึกษา ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาปฐมวัยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปัจจุบันได้มีการนำมาใช้อย่างเป็นทางการแล้วในหลายพื้นที่ของประเทศเวียดนาม โดยมีโครงการนำร่อง STEM Model ตั้งแต่ปี 2017
และในช่วงปีที่ผ่านมาทางกระทรวงศึกษาธิการและทางศูนย์ฝึกอบรมของเวียดนามก็ได้มีการนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบ STEM Education มาปรับใช้ในโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายด้วยเช่นกัน โดยเน้นนำความรู้แบบสหวิทยาการไปใช้ในสถานการณ์จริงหรือห้องปฏิบัติการในโรงเรียนที่เรียกว่า STEM Education – SchoolLab
ในช่วงแรกของโครงการนำร่องการเรียนการสอนแบบ STEM นี้ก็ได้มีการปรับในส่วนของหลักสูตรและแบบเรียนที่สามารถส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เชิงลึกและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง แต่อย่างไรก็ตามแบบเรียนดังกล่าวยังคงเป็นในลักษณะของการบรรยายและทดสอบความรู้เท่านั้น ยังไม่ถึงขั้นเป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นโดยความสมัครใจของครูผู้สอนเสียทีเดียว
ปัจจุบันมีการนำเอาการเรียนการสอนแบบ STEM ไปใช้ในโรงเรียนมัธยมบ้างแล้วในลักษณะของกิจกรรมและชมรม เช่น ชมรม STEM, กิจกรรมแข่งขันทดสอบความรู้, กิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์, กิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมระหว่างโรงเรียนและองค์กรเอกชน รวมไปถึงเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาแบบ STEM
อาจกล่าวได้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนแบบ STEM นี้จะเข้าส่งผลเชิงบวกต่อการศึกษาและเป็นการสร้างรากฐานที่ดีสำหรับต่อยอดการเรียนรู้ในอนาคต แต่ก็ยังมีความท้าทายและข้อจำกัดอีกหลายประการด้วยกันที่ยังสามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้
จากข้อมูลของ UNESCO Institute of Statistics (2019) พบว่าผู้หญิงยังคงเป็นกลุ่มน้อยในวงการวิทยาศาสตร์ โดยคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 30% ของแรงงานทั่วโลกทั้งหมด และมีเพียง 28% เท่านั้นของพนักงานในโครงการ STEM ของประเทศสหรัฐอเมริกา แม้จะมีความพยายามจำกัดความเหลื่อมล้ำทางเพศแล้ว แต่สัดส่วนผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ STEM ก็เพิ่มขึ้นมาเพียง 2% เท่านั้นตลอดปี 2013 ถึง 2019
นักจิตวิทยาหลายคนเชื่อว่าอคติทางสังคมมีผลกระทบอย่างมากต่อความสนใจ แรงจูงใจ และการเลือกอาชีพของผู้หญิงในด้านวิทยาศาสตร์ โดยค่านิยมดังกล่าวก็คือความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงที่ทำงานด้านวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องทำงานหนักขึ้นและจะมีเวลาให้ครอบครัวน้อยลง แต่ถึงอย่างนั้นเงินเดือนของพวกเธอในสาขาวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สูงเท่ากับผู้ชายอยู่ดี
หรือแม้แต่ความเชื่อหรือธรรมเนียมที่ล้าสมัยไม่ว่าจะเป็น การเลือกปฏิบัติทางเพศที่ยังคงมีอยู่ในเวียดนาม หรือการเข้าทำงานในสายงานต่างๆ ของโครงการ STEM อย่างเช่น สายวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ กลศาสตร์ หรืองานสายไอที ก็มักจะถูกอคติบดบังและถูกพิจารณาว่าเป็นสายงานสำหรับผู้ชายมากกว่า
อาจเป็นเพราะอีกเหตุผลหนึ่งคือ ยังขาดต้นแบบผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จมากเท่าที่ควรของ โครงการ STEM ในเวียดนาม เพราะส่วนมากแล้วนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงในเวียดนามก็ยังเป็นผู้ชายอยู่ สิ่งนี้ยิ่งตอกย้ำความเชื่อว่าสาขานี้มีไว้เพื่อผู้ชายโดยเฉพาะ
รูปแบบการเรียนรู้แบบ STEM จึงถือเป็นความพยายามที่จะกระตุ้นให้การมีส่วนร่วมของผู้หญิงและเยาวชนหญิงเกิดขึ้นจริงได้ โดยกระทรวงศึกษาธิการและการฝึกอบรมของรัฐบาลเวียดนามได้ร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเพื่อวางแผนเกี่ยวกับกลยุทธ์การศึกษาแบบ STEM เพื่อส่งเสริมพัฒนาการศึกษาอย่างเต็มขั้นให้กับเด็กนักเรียนหญิงทุกระดับชั้นของโรงเรียนในเวียดนาม
และเพื่อสนับสนุนความต้องการดังกล่าว ทางมูลนิธิคีนันในประเทศเวียดนามได้มีการทำข้อเสนอ “A” ที่จะนำร่องเป็นที่แรกที่ Bac Ninh ประเทศเวียดนาม เป้าหมายคือเพื่อให้กลุ่มครูผู้หญิงและเด็กนักเรียนหญิงระดับมัธยมศึกษาได้เพิ่มพูนทักษะและตระหนักในเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น โดยมีการฝึกอบรมภาคปฏิบัติสำหรับการส่งเสริมและกระตุ้นให้กลุ่มผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เรียกว่า Green STEM
รูปแบบกิจกรรมของ Green STEM นี้ดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญและครูที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเพื่อให้นักเรียนหญิงทุกคนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมของชมรม ไม่ว่าจะเป็น การเรียนรู้และฝึกฝนกระบวนการสร้างโครงงานเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์ และเข้าร่วมการแข่งขันได้ในทุกระดับด้วยรูปแบบของโครงงาน พวกเขายังสามารถได้รับการฝึกอบรมทักษะทางอารมณ์ที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 เช่น การคิดวิเคราะห์ การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการนำเสนอ โดยเรามุ่งหวังให้โครงการนี้เป็นต้นแบบโครงการนำร่องที่สามารถกลับมาทำซ้ำและใช้ได้ในทุกพื้นที่ในประเทศ