“จรินทร์ เฉยเชยชม” นอกจากจะทำอาชีพประมงอยู่ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีแล้ว เขายังอาสาทำหน้าที่ประธานกลุ่มดูแลการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง ซึ่งริเริ่มกิจกรรมอนุรักษ์สัตว์น้ำและทรัพยากรชายฝั่งของอ่าวพุมเรียงมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว ในช่วงแรกนั้น กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียงพบปัญหาจากการขาดทักษะและประสบการณ์ในการระดมความร่วมมือจากสมาชิกชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่น
เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา จรินทร์นำกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียงเข้าร่วมโครงการ “พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดสุราษฎร์ธานี” ร่วมกับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนในสุราษฎร์ธานีอีก 9 แห่ง รวมสมาชิกทั้งสิ้นราว 700 คน โครงการนี้ดำเนินการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย โดยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาศักยภาพของกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนในการจัดการธุรกิจท่องเที่ยว และพัฒนาชุมชนของตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของงานพัฒนาชุมชนของคีนัน ที่มุ่งส่งเสริมให้ชุมชนอนุรักษ์ทรัพยากรของท้องถิ่น พร้อมๆ ไปกับสร้างรายได้จากทรัพยากรเหล่านั้น
จรินทร์และสมาชิกของกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง มีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 33 ครั้ง ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การอบรมเรื่องบริหารธุรกิจท่องเที่ยว การตลาด และการเสริมสร้างศักยภาพผู้นำ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ อีกทั้งได้รับโอกาสศึกษาดูงาน ส่งผลให้พวกเขาสามารถสร้างกลุ่มทำงานที่เข้มแข็ง สมาชิกมีหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน ตลอดจนสามารถดูแลนักท่องเที่ยวและบอกเล่าเรื่องราววัฒนธรรมของท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญ โครงการยังมีกิจกรรมที่ช่วยให้สมาชิกชุมชนเข้าใจถึงแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่ง ตลอดจนสร้างการตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
หลังจากการอบรม จรินทร์สามารถสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง กับสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 13 (ท่าฉาง สุราษฎร์ธานี) และสถาบันทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ในการจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนในชุมชน โดยเด็กๆ ได้เดินทางไปยังเกาะเสร็จ ซึ่งเป็นชุมชนใกล้เคียง เพื่อร่วมกันปลูกป่าชายเลน ปล่อยปลา และเก็บขยะบริเวณชายหาด โดยสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 13 เป็นผู้จัดหากล้าไม้และพันธุ์ปลา พร้อมทั้งให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี เป็นผู้จัดกิจกรรม และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ติดต่อโรงเรียนเพื่อนำเยาวชนจำนวน 30 คนเข้าร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีสมาชิกของกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนไชยาและท่าฉางเข้าร่วมกิจกรรมด้วย ทำให้มีจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 88 คน ซึ่งจรินทร์ดีใจมากที่เห็นชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมทำกิจกรรมที่เขาและสมาชิกในกลุ่มได้ริเริ่มขึ้น
จรินทร์เรียนรู้วิธีสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในท้องถิ่นและกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสามารถประสานความร่วมมือกับผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ ในการดำเนินกิจกรรมกับเยาวชน เขาเริ่มติดต่อและขอความช่วยเหลือจากผู้ที่ทำงานด้านอนุรักษ์ ส่งผลให้เขาสามารถสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมในหมู่เยาวชน โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ทะเลอย่างยั่งยืน วันนี้จรินทร์เชื่อมั่นถึงอนาคตอันสดใสของอ่าวพุมเรียง ซึ่งมีทรัพยากรทางทะเลที่สมบูรณ์คอยเกื้อกูลชุมชน แม้แต่สัตว์น้ำที่เกือบสูญพันธุ์ อาทิ พะยูนและโลมา ก็กลับมาให้เห็นที่อ่าวพุมเรียงอีกครั้ง แน่นอนว่าส่งผลให้นักท่องเที่ยวมากมายอยากจะมาเยือนชุมชนแห่งนี้ เขามั่นใจว่าชุมชนพุมเรียงพร้อมที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยที่ยังคงเป็นบ้านที่น่าอยู่ของพวกเขาเช่นเดิม