วันหนึ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าบ้านที่เช่าอาศัยอยู่ จะมีเจ้าหน้าที่ธนาคารมายึดไป เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้คุณป้าสมศรี คำสรี ต้องมองหาที่พักอาศัยใหม่ ก่อนที่จะได้มาอยู่ที่ชุมชนคลองลัดภาชีซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนเพชรเกษม 48 กรุงเทพฯ อย่างไรก็ดี การเริ่มต้นชีวิตใหม่ก็มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบแต่อย่างใด
ปัจจุบัน คุณป้าสมศรี อายุ 70 ปี เกษียณจากการทำงานประจำ และทำหน้าที่เป็นแม่บ้าน แต่ทุกเดือนๆจะมีรายได้จากการทำงานให้ชุมชน เบี้ยผู้สูงอายุ รวมถึงเงินรายเดือนอีกเล็กน้อยที่บุตรมอบให้ใช้จ่ายเฉลี่ยรวมเดือนละประมาณ 10,000 บาท ต้องยอมรับว่ารายได้ที่ได้รับในบางครั้งก็ไม่เพียงต่อการดำรงชีพจากภาระที่สะสมมาทั้งชีวิต รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นตามอายุ ชีวิตที่ต้องหาเงินหมุนตลอดเวลาจึงทำให้ต้องกู้เงินจากคนรู้จัก บางคนก็ขอดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือนหรือเฉลี่ย 120 % ต่อปีจากเงินต้น ทำให้ชีวิตต้องดิ้นรน เมื่อไม่มีเงินคืนเจ้าหนี้ก็ย่อมโดนทวง ขู่เข็ญ ตามติดหลายรูปแบบ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นยังคงอยู่ในใจคุณป้าสมศรี ไม่เคยลืมเลือน
คุณป้าสมศรี เล่าต่อว่า “เรื่องราวนี้ มิได้เกิดขึ้นแค่เพียงกับตนเองเท่านั้นแต่เห็นได้ทั่วไปในชุมชน สมาชิกคนอื่นๆต่างก็เจอเช่นเดียวกัน” ซึ่งภาพที่คนในชุมชนจะเห็นได้บ่อยๆคือ ตอนสายๆของทุกวัน จะมีเจ้าหนี้นอกระบบมายืนดักรอในตลาดสด ทั้งรอเพื่อทวงเงิน และรอเพื่อจะหาลูกค้ารายใหม่ปล่อยกู้ นับเป็นภาพที่คนในชุมชนขยาดและรู้สึกสลดใจที่ต้องเกิดมาเป็นคนจน “ชีวิตที่เป็นหนี้สินนับว่าแย่แล้ว แต่ความรู้สึกที่ไม่รู้จะทำอย่างไรดี เป็นเรื่องทิ่มแทงหัวใจพวกเราทุกคนในชุมชนมาก”
คุณป้าสมศรี ต้องเผชิญสภาวะ หนี้สินตามรังควาน ขาดอาชีพ และใช้เงินไปกับการบำบัดความไม่สบายใจด้วยการซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลไว้ลุ้นทุกๆเดือน แต่ชีวิตก็ยังค้นพบแสงสว่างอยู่บ้าง เมื่อได้รู้จักกับ “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงทางการเงิน” ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิซิตี้ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในประเทศ ได้เรียนรู้การพัฒนาทักษะการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลโดยครอบคลุมเรื่องการบริหารค่าใช้จ่ายในครัวเรือน การออม และการบริหารหนี้สิน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในเชิงบวก โดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้จัดฝึกอบรม ด้วยกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเน้นให้ผู้เข้าอบรมได้ฝึกลงมือปฎิบัติการคำนวน และจดบันทึกตัวเลขทางการเงินซึ่งได้เป็นรูปแบบที่ปรับใช้เฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยโดยตรง และนั่นจึงเปลี่ยนจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญให้กับคุณป้าสมศรีได้มองเห็นความหวังเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง
เมื่อเจ้าหน้าที่ “คีนัน”เข้ามาสอนเรื่องเก็บเงินออม คุณป้าสมศรีก็เข้าไปเรียน และก็ยังได้เรียนความน่าจะเป็น ว่าโอกาสที่จะถูกหวย ไม่ใช่ง่ายที่จะถูก ถึงรู้ว่าลงทุนไปได้คืนมาน้อยกว่าที่เสียไปมาก จากแต่ก่อนซื้องวดละ 500 บาท เดือนละ 2 ครั้ง ก่อนหน้านี้ ไม่เหลือเงินเก็บไม่เคยจดรายจ่ายเลย กลายเป็นปีละหลายพันที่ไม่เคยรู้มาก่อน รวมถึงแต่ก่อนจ่ายค่าอาหารอาทิตย์ละ 1 พันบาท เพราะซื้อมาก ทำมากก็เลยกินมากไปด้วย กลายเป็นมีค่ายาให้หมอเพิ่มมาอีก หลังจากเข้าไปเรียนมา จึงรู้ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเงินมากโขเลยทีเดียวถ้าบวกไปจนครบ 1 ปี
นับตั้งแต่เข้าร่วมโครงการ คุณป้าสมศรี จึงตัดใจลดการซื้อสลากกินแบ่ง เหลือเพียง งวดละ 80 บาท พอให้แค่รู้สึกได้เล่นสนุกบ้าง พอว่างก็หางานเสริมทำ อยากเห็นเงินพอกพูนจึงมาทำงานในชุมชน เย็บโบว์หรือทำของชำร่วยอื่นๆขาย ก็ได้รายได้เสริมเข้ามาเดือนละ 1,000 บาท และลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยตามคำแนะนำของ “คีนัน” ซึ่งตอนนี้ซื้ออาหารเหลือแค่อาทิตย์ละประมาณแค่ 700 บาท พอเรากินแต่พอดี น้ำหนักก็ลดลงมาและหาหมอน้อยลงด้วย
สำหรับการเริ่มออมในแต่ละเดือน คุณป้าสมศรี หักเงินไว้ผ่อนบ้านให้ธนาคารเดือนละ 2,300 บาท ออมไว้เพื่อ สุขภาพ 25 %ที่เหลือก็ใช้จ่ายทั่วไป ปีหนึ่งๆเก็บได้ ปีละ 40,000- 50,000 บาท เริ่มออมมาตั้งแต่ต้นปี 2560 มาเรื่อยๆ ซึ่งลูกๆก็ดีใจและสบายใจ พอเห็นเงินในบัญชีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ พอชุมชนเริ่มได้เข้าอบรม สมาชิกก็เริ่มรวมตัวกันสอนคนอื่นๆให้ออม และช่วยกันจดรายจ่ายในสมุดบันทึกอย่างเข้มงวดทุกวัน ส่วนเพื่อนบ้านที่ได้เงินจากการทำงานรายวัน เช่น ขายข้าวแกงหรือขายของโชห่วย ก็ได้สอนให้รู้จักคิดหากำไร หรือคนที่ทำงานในโรงงาน ก็สอนให้หักเงินออกมาออมไว้ จากค่าใช้จ่ายรายวันหลังเลิกงาน
รอยยิ้มบนใบหน้าที่บ่งบอกถึงความภาคภูมิใจของ คุณป้าสมศรี ซึ่งได้กล่าวถึงความฝันคือการมีเงินรวมกันกับเงินเก่าให้ได้ 1 ล้าน บาท ในอีก 10 ปี ส่วนฝันระยะสั้นในอีก 5 ปีข้างหน้าคือต้องปลดหนี้บ้านให้ได้ โดยเทคนิคสำคัญที่จะช่วยให้ความฝันบรรลุผลสำเร็จก็คือ การสร้างวินัยให้ตนเอง รู้จักอดออม และตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่าชีวิตเราต้องการสิ่งใดที่มีคุณค่า แต่การเป็นแม่บ้านไม่ได้หมายความว่าจะใช้ชีวิตโดยไม่รู้แสวงหาคุณค่าให้ตนเอง เพราะการสร้างความหวังให้เกิดกำลังใจคือสิ่งที่ช่วยผู้สูงอายุมีอายุยืน “เชื่อไหมตอนนี้นายทุนหน้าเลือดหายไปเลย ไม่มานั่งรออีกแล้ว พวกเรารู้สึกสบายใจเป็นอย่างมาก”
“ฟ้าหลังฝนก็ยังงดงามนะ ตอนแรกก็แค่อยากไปอบรมเพราะดีกว่าอยู่บ้านเฉยๆ เพื่อนๆในชุมชนมาชวนให้สนุกๆก็เลยตามไป ไปมาทุกรอบ จนก็เข้าปีที่ 2 แล้ว ถึงตอนนี้เข้าอบรมกับคีนันมา 5-6 ครั้งแล้ว ตั้งแต่อบรมผู้นำ เป็นพี่เลี้ยง และพาสมาชิกชุมชนคนอื่นๆไปเข้าอบรม ตอนนี้เข้าอบรมวิทยากรแล้ว อยากช่วยเหลือคนอื่นๆ คอยพูด วางตัว เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับ สมาชิกคนอื่นๆ การศึกษาเรื่องการเงินในบ้านเรายังไม่ทั่วถึงคนเลยไม่มีแรงจูงใจ แต่ถ้าเราดี เพื่อนเราในชุมชนก็อยากดีเหมือนเรานั่นแหละ คนไทยมีนิสัยช่วยเหลือกันอยู่แล้ว”