Small business stories (TH)

เกษตรกรสตรีกับแนวคิด “พอเพียง” และ “เพียงพอ”

ม.ค. 26,2023

ณัฐวรรณ ทองเกล็ด หรือ แหม่ม เป็นคนรุ่นใหม่ที่รักในอาชีพเกษตรกร เธอดูแลกิจการไร่อ้อยราว 100 ไร่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ ในอดีตเธอเคยประสบปัญหาต้นทุนสูงในการทำไร่ จากการพึ่งพาแรงงานเป็นหลัก และค่าแรงก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

จุดเปลี่ยนในชีวิตของ แหม่ม เริ่มต้นขึ้น เมื่อเธอได้รับการชักชวนจากพนักงานส่งเสริมของโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองใน จ.เพชรบูรณ์ ให้เข้าร่วมโครงการ “ธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” ซึ่งส่งผลให้มีโอกาสได้ร่วมอบรม “หลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล” จัดโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย

หลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคลนี้ เกิดจากการนำความรู้และประสบการณ์การจัดฝึกอบรมทางการเงินของคีนัน มาปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของเกษตรกรชาวไร่กลุ่มเป้าหมาย จนเป็นที่มาของหลักสูตรการอบรมการบริหารการเงินส่วนบุคคลแนวใหม่ สร้างสรรค์ ไม่เหมือนใคร เน้นช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของเกษตรกรชาวไร่อ้อย ให้หลุดจากวัฏจักรของหนี้สิน และสามารถสร้างความมั่นคงทางการเงินในอนาคต

จากที่เคยคิดว่าการอบรมมักจะน่าเบื่อ แหม่มกลับประทับใจกับการอบรมของคีนัน เพราะไม่เพียงทำให้เรื่องการเงินกลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน แต่บรรยากาศของการเรียนยังสนุกสนานและท้าทายเหมือนการเล่นเกมส์อีกด้วย

หลังจากเข้าร่วมโครงการฯ แหม่ม พบว่า เพียงแค่เริ่มทำบัญชีรายรับรายจ่าย ตามที่เธอได้รับการอบรมจากคีนัน ก็สร้างการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินให้เธออย่างชัดเจน อีกทั้งเธอยังได้รับความรู้เพิ่มเติมด้านการลงทุนและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ ทำให้เกิดมุมมองด้านการบริหารจัดการมากขึ้น เธอเล่าว่า “การจดบันทึกต้นทุน รายรับ รายจ่าย ช่วยให้มองเห็นภาพรวมของระบบการทำงานและการเงินของตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เราได้รู้ว่าเสียค่าใช้จ่ายตรงไหนมากเกินความจำเป็น และปรับลดได้ถูกจุด ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายจากการจ้างแรงงานคน ที่หากมาคำนวณจะพบว่ามีค่ามากพอกับการซื้อเครื่องจักรมาใช้เลยทีเดียว ซึ่งพอเห็นภาพตรงนี้ก็จะสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรมีความสำคัญที่จะลงทุนมากกว่า”

ปัจจุบัน แหม่ม มีเป้าหมายการเงินที่ชัดเจน เธอเริ่มลดค่าใช้จ่ายและนำมาลงทุนเพิ่มเติมในด้านเครื่องจักร เพราะสามารถทุ่นแรงและค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ เธอสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ร่วมกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้เป็นอย่างดี

“ปัญหาทุกอย่างเกิดจากความไม่รู้จักพอ เราต้องเริ่มบริหารจัดการจากสิ่งที่เรามี ซึ่งทุกอย่างสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ท่านทรงสอนเรามาตลอด หากเราปรับลดความต้องการลงได้ มองเห็นว่าตัวเองกำลังอยู่จุดไหน ทำอะไร ปรับเปลี่ยนให้พอดี การใช้ชีวิตก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” แหม่มกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างชวนคิด

ผู้สนใจสามารถติดตามผลลัพธ์ของโครงการ “ธุรกิจยั่งยืนกับโคคา-โคลา เพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อย” ได้ที่นี่

Share this article

Latest.

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

People at Kenan: ดร.วิชัย ลิมปิติกรานนท์

เศรษฐกิจไทยจะก้าวหน้าและพ