จากการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways) หรือ YES for Youth โดยมูลนิธิซิตี้ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งได้มีการดำเนินโครงการตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 – ตุลาคม 2566 ใน 5 วิทยาลัยอาชีวศึกษา ซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 600 คน ได้ต่อยอดเส้นทางอาชีพ และเติมเต็มศักยภาพ พร้อมสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาอาชีวะในการแสดงศักยภาพอย่างไม่จำกัด ในการเตรียมตัวสมัครงาน สัมภาษณ์งาน และยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างเครือข่ายสังคมกับบริษัทชั้นนำ เพื่อนำไปสู่โอกาสการจ้างงานในอนาคต
มองเห็นศักยภาพตนเอง สู่การเส้นทางนักประชาสัมพันธ์ของ พรศิลป์ สุปัญโญ (Phornsin Supanyo)
พรศิลป์ สุปัญโญ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 1 สาขาเทคโนโลยีธุรกิจดิจิทัล วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา ในยุคที่การสื่อสารถือเป็นทักษะหลักในการทำงาน เธอเองได้ใช้ความสามารถด้านการพูด เพื่อช่วยงานประชาสัมพันธ์ ในการระดมทุนเพื่อนักศึกษาของวิทยาลัย รวมถึงเป็นพิธีกรหลัก ในกิจกรรมแสดงความสามารถด้านดนตรีของวิทยาลัยอีกด้วย
พรศิลป์ ได้มีความสนใจในงานด้านประชาสัมพันธ์ เพราะเป็นงานที่ทำให้เธอสามารถใช้ความสามารถในการติดต่อสื่อสาร และยังมองว่างานประชาสัมพันธ์ เป็นงานที่มีความหมายในการได้เป็นที่พึ่งแรก ในเวลาที่คนอื่นต้องการสอบถามข้อมูลหรือขอความช่วยเหลือ โดยเธอเองต้องการพัฒนาความสามารถและความรู้ของตนเองเสมอ เพื่อสร้างความเป็น “มืออาชีพ” สู่การทำงานในอนาคต
การได้เข้าร่วม โครงการ YES for Youth โดยการสนับสนุนของ มูลนิธิซิตี้ และดำเนินการโดย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ทำให้เธอได้พัฒนาทักษะอย่างรอบด้าน ทั้งการอบรมการออกแบบเชิงความคิด (design thinking) ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้ทักษะการทำงานเป็นทีม และได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างผลงานร่วมกับเพื่อน ๆ และยังได้แลกเปลี่ยนมุมมองผลงานกับเพื่อนต่างกลุ่ม
มากไปกว่านั้น การได้เข้าร่วมโครงการนี้ ยังทำให้พรศิลป์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตนเองมากขึ้น โดยการเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง และเรียนรู้ถึงความสามารถที่มี เพื่อนำไปสู่การทำงานที่สอดคล้องต่อไป รวมถึงกิจกรรมการเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้น ในการเขียนเรซูเม่ และการจำลองสถานการณ์ในการสัมภาษณ์งานนั้น ยังทำให้เธอได้ทดลองตอบคำถาม และมีความมั่นใจมากขึ้นในการสมัครงาน
ภายใต้โครงการนี้ พรศิลป์ ยังได้เป็นตัวแทนวิทยาลัยในการประกวดการนำเสนอแบบสั้น (elevator pitch) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เธอได้เป็นตัวแทนของวิทยาลัย เธอได้มีการพัฒนาทักษะการสื่อสารของตนเอง และยังได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการพูด มาเป็นการเล่าเรื่องราวของตนเองที่เชื่อมโยงมาสู่คนพิการ พร้อมทั้งสอดแทรกทัศนคติการใช้ชีวิต และความสามารถของตนเองออกมาอย่างน่าสนใจ จนทำให้ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 มาครอง
“ตัวเราเองนั้นร่างกายอาจจะไม่สมบรูณ์ แต่ความสามารถของเรานั้นยังคงสมบรูณ์อยู่ ขอบคุณที่ให้โอกาสที่ได้เข้ามาแข่งขัน และแสดงความสามารถในครั้งนี้ รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะการแข่งนี้เป็นรายการแรกในชีวิตในนามตัวแทนวิทยาลัย” พรศิลป์กล่าว
เริ่มต้นแนวคิดใหม่ ด้วยการลงมือทำ สู่ความฝันในการเป็นผู้ประกอบการ ของ ธิวา ใจมิภักดิ์ (Thiwa Jaimipak)
ธิวา ใจมิภักดิ์ นักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 1 สาขาการตลาด วิทยาลัยพณิชยการธนบุรี ได้เริ่มต้นเส้นทางการทำงานพาร์ทไทม์ ตั้งแต่การเรียนออนไลน์ช่วงการระบาดของโควิด 19 เพราะอยากหารายได้ด้วยตนเอง ผ่านการทำงานในเชนร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังกว่า 2 ปี
แม้ว่าจะพึ่งเริ่มต้นปีที่ 1 แต่ธิวามีความสนใจที่หลากหลายทั้งด้านกีฬา ดนตรี และจิตวิทยา โดยเฉพาะในด้านธุรกิจ ที่เธอได้เริ่มต้นความสนใจในการสร้างรายได้ด้วยตนเอง ผ่านการทำงานพาร์ทไทม์ใกล้บ้าน ซึ่งทำให้เธอได้ลงมือทำจริงในเกือบทุกตำแหน่งในร้าน ไม่ว่าจะเป็นทั้งในส่วนครัว แคชเชียร์ หรือส่วนบริการอื่น ๆ ภายในร้าน จนได้สั่งสมทักษะในการบริหารจัดการร้านอาหารผ่านการลงมือทำจริง ซึ่งในอนาคตเธอยังได้ตั้งใจที่จะผู้ประกอบการในการเปิดร้านอาหารของตนเองอีกด้วย
การได้ต่อยอด ผ่านการเข้าร่วมโครงการ YES for Youth โดยมูลนิธิซิตี้ และมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ยังได้สนับสนุนให้ธิวาได้วิเคราะห์และรู้จักตนเองมากขึ้น สามารถเขียนเรซูเม่ที่แสดงถึงความสามารถและประสบการณ์ พร้อมทั้งยังได้รับการพัฒนาบุคลิกภาพ และการพูดอีกด้วย
ธิวา ยังได้เข้าร่วมการประกวดการนำเสนอแบบสั้น (elevator pitch) ที่เธอเองได้ใช้เวลาในการฝึกซ้อมเป็นอย่างมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้เธอจะมีความรู้สึกไม่มั่นใจ และขี้อาย แต่การได้เข้าร่วมพัฒนาศักยภาพ พร้อมทั้งความตั้งใจในการเตรียมตัวก่อนแข่งขันของเธอ ผ่านการเขียนสคริป และลองฝึกพูดจับเวลา ทำให้ธิวาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จากการประกวด และรู้สึกดีใจเป็นอย่างมากที่ได้รับเงินรางวัลในการเป็นทุนการศึกษา และต่อยอดความฝันในการเป็นผู้ประกอบการต่อไป
“รู้สึกประทับใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และกลายเป็นผลผลิตที่ดีของโครงการ แม้ว่าส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีความมั่นใจ และขี้อายพอสมควร แต่พอได้อบรม และได้เรียนรู้อย่างตั้งใจ ทำให้ผมสามารถนำประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ รวมถึงได้พิสูจน์ถึงศักยภาพของตนเอง” ธิวากล่าว