เป็นเวลากว่า 2 ปีบนเส้นทางอาชีพครูที่ อาจารย์ ศิลารัตน์ ยงศิริชัยสกุล ครูวิทยฐานะ จากวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ได้สอนวิชาแอคทีฟฟิสิกส์ (Active Physics) ภายใต้โครงการเชฟรอน สนุกวิทย์ฯ ให้กับนักเรียนในวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานสายอาชีพ อ. ศิลารัตน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยความสุขว่า “เทคนิคการสอนที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ หมั่นสร้างกิจกรรมเวิร์กช็อปให้นักเรียนลงมือปฎิบัติจริง และนักเรียนก็จะมีความสุขในการเรียน”
อ. ศิลารัตน์ มองเห็นโอกาสครั้งสำคัญสำหรับแรงงานจากสายเทคนิคและอาชีวะ ซึ่งจากมุมมองของภาครัฐและภาคเอกชน แรงงานไทยจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับอนาคตอย่างเร่งด่วน โดยต้องฝึกทักษะให้สอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำรายละเอียดข้อมูลเหมือนที่ผ่านมา แต่นายจ้างต้องการคนที่แก้ไขปัญหาเป็น มีระเบียบวินัย และ รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งทักษะเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นจากการเรียนแบบบรรยายแน่นอน แต่ครูผู้สอนต้องหมั่นสร้างกิจกรรมการเรียนที่เน้นการลงมือทำจริง
เมื่อมองย้อนกลับไปดูการเรียนการสอนในชั้นเรียน อ. ศิลารัตน์ กล่าวว่า นักเรียนไทยในยุคปัจจุบันจัดว่ามีทักษะหลายด้านที่ครูผู้สอนต้องรู้จักหาให้เจอ และดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาใช้ในห้องเรียน คนเรียนเก่งจะกระตือรือร้นที่จะรู้ให้มากขึ้นเรื่อยๆ และอยากเป็นผู้นำกลุ่ม อยากนำเสนองาน ขณะเดียวกัน นักเรียนกลุ่มเรียนรู้ช้า ค่อนข้างรู้สึกไม่อยากเรียนหนังสือ นั่นคือโจทย์ใหญ่ของคนเป็นครู ที่ต้องรู้จักผสมผสานให้เกิดการทำงานเป็นทีม และหมั่นจำไว้ในใจเสมอว่า “นักเรียนชอบเรียนด้วยความสนุก และครูก็จะมีความสุข”
อ. ศิลารัตน์ กล่าวเสริมว่า สำหรับการเตรียมการสอนให้กับนักเรียนในแต่ละวัน จะเน้นการสร้างบรรยากาศความสำเร็จ และแรงจูงใจในการเรียนโดยจะกำหนด เป้าหมายของกิจกรรมนั้นๆ และมีการแบ่งทีมทำงานให้เกิดการผสมผสานนักเรียนที่เรียนดีให้อยู่คู่กับนักเรียนกลุ่มเรียนช้า ซึ่งกลายเป็นว่า นักเรียนเต็มใจที่จะเรียนรู้จากเพื่อนๆกันเอง และหัวเราะไปด้วยกันเมื่อเพื่อนในทีมทำงานแต่ละกระบวนการสำเร็จ ท้ายที่สุดแล้วหัวหน้าของแต่ละทีม ต้องการทำงานให้ดีก็จะเป็นคนกำหนด หน้าที่ว่าใครเป็นคนสรุปงาน คนเก็บงาน และคนออกมานำเสนอ เปรียบเสมือนว่าครูผู้สอนเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเมื่อสอนให้เด็กทุกคนมองภาพในอนาคตออกแล้ว เค้าจะให้ความสนใจในการแก้ไข และก็จะหาให้เจอได้ว่าอะไรยังไม่ดีพอ ก็จะทำให้ดีสมบูรณ์แบบขึ้นไปอีกขั้น
จากประสบการณ์ที่เคยทำงานองค์กรมาก่อน ทำให้ อ. ศิลารัตน์ มองการเรียนรู้เป็นคุณค่าเสมอ โดยระหว่างการทำเวิร์กป็อป นักเรียนๆหลายคนจะแสดงลักษณะตัวตนออกมาผ่านความชอบในกระบวนงานต่างๆ ด้วยความที่ต้นทุนชีวิตมาไม่เท่ากัน สิ่งที่คนเป็นครูจะเห็นได้ชัดคือ การวางตัวของเด็กๆ เมื่อต้องทำงานร่วมกันเป็นทีมกับผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มนักเรียนเกรดดี จะมุ่งมั่นต่อยอดสิ่งที่รู้ให้เกิดการนำเสนอให้คนอื่นรับฟัง และยอมรับความคิดตน หากแต่กลุ่มเรียนช้ามักจะเลือกช่วยเพื่อนตามคำสั่ง แม้อย่างน้อยเค้าเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกไร้ค่าไม่มีกลุ่ม แต่คนเป็นครูต้องมองให้แตก และค่อยๆทำให้เค้าจดจำความรู้และลักษณะผู้นำของเพื่อนหัวหน้าทีมให้ได้ เพราะท้ายที่สุด เราทุกคนเรียนหนังสือไป ก็เพื่อไปทำงานในอนาคต
สำหรับการต่อยอดทักษะให้เยาวชนเหล่านี้ประสบความสำเร็จในอนาคต อ. ศิลารัตน์ เล่าต่อว่า สิ่งที่ได้รับจากแนวคิดของภาคอุตสาหกรรม คือ แรงงานต้องมีทักษะและวินัยควบคู่กัน โดยมุมมองส่วนตัวเชื่อว่า เด็กไทยเรายังเข้าใจคำว่า “วินัย” ได้ไม่ถึงมาตรฐานในการก้าวทำงานกับองค์กรภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ซึ่งจริงๆแล้ว ครูทุกคนได้เน้นย้ำอยู่ตลอดถึง แนวคิด 5ส ให้กับนักเรียน ให้รู้จักทำงานให้เรียบร้อย ตรงต่อเวลา และมีจริยธรรมไม่เอาเปรียบผู้อื่น
ท้ายที่สุดนี้ จากโอกาสที่ได้ทำหน้าที่ Master Teacher เพื่อจัดฝึกอบรมกลุ่มครูมในประเทศในสายเทคนิคและอาชีวะ มาแล้วกว่า 100 คนในระยะเวลา 3 ปี อ. ศิลารัตน์ กล่าวว่า ความฝันที่อยากเห็นต่อไปในภายภาคหน้าก็คือ ความร่วมมือ ร่วมใจของกลุ่มครูที่จะนำรูปแบบกิจกรรมหรือเวิร์กช็อป ไปปรับใช้ในการสอน ขณะเดียวกันต้องตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาแรงงานเข้าสู่ตลาดในภายภาคหน้า ด้วยการเน้นย้ำทักษะจำเป็นที่ได้กล่าวมาทั้งหมด และที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือภาษาอังกฤษของนักเรียนต้องดีขึ้น และต้องเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานกับต่างชาติด้วย ซึ่งอยากเห็นครูผู้สอนค่อยๆนำความรู้เหล่านี้สอดแทรกเข้าไปในเนื้อหาการเรียนให้มากขึ้น และคงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ถ้าเยาวชนของเราช่วยกันพัฒนาประเทศไทย ให้ทัดเทียมประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำได้ในอนาคต อ. ศิลารัตน์ กล่าวปิดท้าย