Community stories (TH)

การพัฒนาชุมชนผ่านการมีส่วนร่วมของเยาวชน: บางคูวัดโมเดล

ม.ค. 26,2023

ผู้เขียน: พีรานันต์ ปัญญาวรานันท์

ตำบลบางคูวัดเป็นตำบลในเขตการปกครองของอำเภอเมืองปทุมธานี อยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 30 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่ล้อมรอบไปด้วยบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และทุ่งข้าว เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะของชุมชนทั้งในแง่ของความเป็นอยู่และวัฒนธรรมที่หลากหลาย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงเลือกพื้นที่ชุมชนบางคูวัดดำเนินโครงการเสริมสร้างภาวะผู้นำเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนตำบลบางคูวัด หรือ “ThaiBev – Leadership for a Better Quality of Life Project” ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เสริมสร้างความเป็นผู้นำ และพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและสังคม

เนื่องจากความขัดแย้งภายในชุมชนที่มีอยู่ก่อน รวมถึงการสื่อสารที่ไม่เพียงพอที่สะสมเป็นระยะเวลานาน การเข้าถึงผู้นำชุมชน และความเข้าใจถึงสภาพความเป็นอยู่ และความต้องการของคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องยาก ในตอนเริ่มโครงการ ทีมงานจึงตัดสินใจเริ่มโครงการโดยให้เยาวชนช่วงอายุ 13-15 ปี เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงโดยการเสริมสร้างภาวะผู้นำ และสร้างความตระหนักในการพัฒนาชุมชนตนเองผ่านกิจกรรมที่พัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ รวมถึงกิจกรรมที่มีส่วนร่วมทางสังคม

โครงการฯ จึงกระตุ้นให้เยาวชนริเริ่มโครงการที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนตนเอง โดยตลอดสองปีที่ผ่านมา เยาวชนได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนบางคูวัด และพนักงานอาสาไทยเบฟ เริ่มดำเนินโครงการทั้งหมดจำนวน 12 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เกี่ยวเนื่องทั้งในด้านการเสริมสร้างสุขภาพ การเกษตรพอเพียง การต่อต้านสิ่งเสพติด การเป็นผู้ประกอบการ เป็นต้น จวบจนปัจจุบัน โครงการพัฒนาชุมชนที่ริเริ่มโดยเยาวชนได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คนในชุมชนมากกว่าพันคนได้เข้าร่วมโครงการ พลังของเยาวชนได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารคนภายในชุมชนด้วยกันเอง และผลักดันให้เกิดการพัฒนาเพื่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนในรูปแบบใหม่ๆ

แนวทางของโครงการในการให้เยาวชนเป็นตัวขับเคลื่อนเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งในชุมชนเคยนำมาใช้แล้วครั้งหนึ่งภายใต้โครงการของคีนันที่ชื่อว่า “ปัตตานี โมเดล” ทั้งผลจากงานวิจัย และจากประสบการณ์การลงพื้นที่ในการทำโครงการอื่นๆ คีนันมีความเข้าใจดีว่าเยาวชนเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีในชุมชน

สถาบันคีนันจึงมีการดำเนินโครงการทั้งหมด 4 ขั้นตอนเพื่อการพัฒนาภาวะความเป็นผู้นำ และสร้างการมีส่วนร่วมในชุมชนตัวเองดังนี้

1. เพิ่มขีดความสามารถของผู้นำเยาวชน เยาวชนต้นแบบได้เข้าร่วมค่ายผู้นำเยาวชน ได้เรียนรู้ทักษะการบริหารจัดการโครงการพัฒนาชุมชน การคิดอย่างสร้างสรรค์ การสื่อสาร และการอยู่ร่วมกับบุคคลอื่น รวมถึงการรู้จักตนเองให้มากขึ้น ภาวะความเป็นผู้นำและการดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนไม่ใช่วิชาที่ถูกจัดเรียนในระบบการศึกษา แต่การเข้าค่ายผู้นำเยาวชนที่คีนันจัดขึ้นจะทำให้เยาวชนได้เห็นแบบอย่างของภาวะผู้นำที่ดี รวมถึงเสริมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง เพื่อเตรียมพร้อมในการเป็นพละของชุมชนที่มีประสิทธิภาพในอนาคตต่อไป

2. การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการ (Project-based learning) เนื่องจากแผนปฏิบัติการทุกโครงการต้องผ่านการสำรวจ คิด ออกแบบ วางแผน ปฏิบัติ และประเมินผล เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการจึงได้พัฒนาทักษะการตัดสินใจ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า รวมถึงการลงมือที่หน้างานจริง สิ่งเหล่านี้เป็นโอกาสในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-learning) ซึ่งเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ในอนาคต

3. การดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องและอย่างสม่ำเสมอ หลังจากที่ได้เข้าร่วมค่ายผู้นำเยาวชน เยาวชนจะได้เข้าร่วมกิจกรรม Youth Club ที่สถาบันคีนันได้ผนวกรวมกับการเรียนการสอนภายในรั้วโรงเรียน โดยจัดขึ้นทุกวันศุกร์ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จุดประสงค์เพื่อเป็นจุดพูดคุยแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ และให้คำแนะนำในการดำเนินการโครงการพัฒนาชุมชน ทั้งนี้เพราะคีนันเล็งเห็นว่าการเสริมสร้างภาวะผู้นำไม่สามารถเป็นไปได้ด้วยการผ่านค่ายผู้นำเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ต้องผ่านการเคี่ยวกรำเยาวชนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ

4. การร่วมมือกับชุมชน ผู้นำชุมชนจะได้รับเลือกให้เป็นคณะที่ปรึกษาโครงการตลอดการดำเนินโครงการโดยเยาวชน วิธี้นี้ทำให้เยาวชนได้เรียนรู้ที่มาที่ไปของชุมชนตนเอง และเข้าใจรากเหง้าปัญหาของชุมชนตนเองจากผู้มีประสบการณ์ การร่วมมือกันระหว่างเยาวชนและผู้นำชุมชนเป็นปัจจัยสำคัญในการบริหารโครงการพัฒนาชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ พนักงานอาสาไทยเบฟยังเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่เยาวชนต้นแบบในการความรู้เฉพาะทางด้านต่างๆ และสนับสนุนความช่วยเหลือต่างๆเพื่อให้แต่ละกิจกรรมประสบความสำเร็จ

สรุปได้ว่า การมีส่วนร่วมของเยาวชนในการพัฒนาชุมชนเป็นวิธีการที่ยั่งยืนและแยบยลวิธีหนึ่ง ผลงานที่ผ่านมาตลอดโครงการเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเยาวชนได้กระตุ้นให้เกิดสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนในชุมชนด้วยกันเอง รวมถึงเยาวชนอื่นๆในละแวกใกล้เคียงผ่านการดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่างๆ ยิ่งไปกว่านี้ เยาวชนเป็นทรัพยากรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในชุมชนที่คนทั่วไปไม่ค่อยเล็งเห็น แต่แท้จริงแล้วมีพลังสำคัญอย่างยิ่ง

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ