ครั้งแรกที่ “หนุงหนิง” นักเรียนจากโรงเรียนวัดบางคูวัด ได้เข้าร่วมโครงการเยาวชนต้นแบบชุมชนบางคูวัดเมื่อสองปีที่แล้วเธอค่อนข้างขี้อาย เธอเล่าว่าเธอเป็นคนที่ “ขาดความมั่นใจเวลาอยู่ต่อหน้าคนหมู่มาก และไม่ใช่คนที่กล้าแสดงออกเลย”
คุณแม่ของหนุงหนิงต้องทำงานสัปดาห์ละ 6 วันเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว ทำให้ส่วนใหญ่หนุงหนิงต้องอยู่กับคุณป้า เธอประสบปัญหาเช่นเดียวกับวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตนเอง จนกระทั่งเธอได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในเยาวชนจำนวน 130 คน ที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว โดยเยาวชนทั้งหมดมาจากพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่างกัน
มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้ออกแบบกิจกรรมและดำเนินโครงการเยาวชนต้นแบบชุมชนบางคูวัด โดยมุ่งเน้นส่งเสริมให้เยาวชนสามารถค้นพบและแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนด้วยตนเอง พร้อมกับเปิดมุมมองใหม่ๆ ให้กับพวกเขา กิจกรรมพัฒนาชุมชนต่างๆ ได้เปิดโอกาสให้หนุงหนิงและเพื่อนๆ ได้สังเกตเห็นปัญหาสังคมและร่วมระดมสมองหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นโดยมีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา เยาวชนของชุมชนบางคูวัดจึงมีศักยภาพเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเป็นแกนนำร่วมกับผู้นำชุมชนในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ส่งผลให้หนุงหนิงและเพื่อนๆ กลายเป็นคนที่กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้นและมีเป้าหมายที่จะศึกษาต่อ พวกเขามองเห็นอนาคตที่สดใสที่รออยู่ข้างหน้า
ครูของหนุงหนิงที่โรงเรียนวัดบางคูวัดกล่าวว่า “หนุงหนิงเติบโตขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เธอมีความมั่นใจมากขึ้นและฉายแววความเก่งในแบบของเธอเอง ซึ่งเกินความคาดหมายของครูมากค่ะ” ปัจจุบันหนุงหนิงยังคงร่วมกิจกรรมเยาวชนที่สนับสนุนโดยโครงการและร่วมนำเสนอความคิดในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง เธอได้ริเริ่มโครงการขายเสื้อการกุศลเพื่อระดมทุนช่วยเหลือเยาวชนด้อยโอกาสในชุมชนบางคูวัด ซึ่งช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและสร้างความมั่นใจให้เธอได้อย่างดี เรื่องราวความสำเร็จของหนุงหนิงยังถูกนำเสนอในสื่อต่างๆ อีกด้วย
กิจกรรมที่หนุงหนิงเข้าร่วมเหล่านี้เป้นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (project-based learning: PBL) ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักการศึกษาและครูผู้สอนอย่างกว้างขวาง โดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายสาขาวิชา รวมถึงใช้สร้างทักษะด้านการวิจัย ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
แนวทางพัฒนาเยาวชนของคีนันยังสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของไทยในเรื่อง “ลดชั่วโมงเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งมุ่งเน้นให้เยาวชนคิดเป็น ใช้ชีวิตเป็น เพื่อให้เขามีศักยภาพในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรับผิดชอบในการตัดสินใจ นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ซึ่งเป็นอีกเป้าหมายหลักของโครงการ
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเยาวชนต้นแบบชุมชนบางคูวัดยังได้รับรางวัล “หนึ่งโรงเรียน หนึ่งนวัตกรรม” จากคุรุสภาอีกด้วย