Community stories (TH)

สืบสานพระราชปณิธาน “เศรษฐกิจพอเพียง”

ม.ค. 26,2023

แม้ “ดวงฤดี วงค์ธนู” หรือ “เอม” จะยังเป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แต่เธอก็สามารถ “เข้าใจ” และ “เข้าถึง” คุณค่าของ “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อีกทั้งสามารถน้อมนำมาปฏิบัติในการทำกิจกรรมพัฒนาชุมชนของเธอร่วมกับเพื่อนๆ ในอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ จนคว้ารางวัลชนะเลิศจากโครงการ “กรุงไทยต้นกล้าสีขาว” ปีที่ 10

โรงเรียนกันทรารมย์ที่เอมกำลังศึกษาอยู่ ได้สนับสนุนให้เธอและเพื่อนๆ รวมกลุ่มในชื่อ “ทีมจิกกะลาโมเดล”และเข้าร่วมโครงการ กรุงไทยต้นกล้าสีขาว ในปี 2559 ที่ผ่านมา เอมและเพื่อนๆ เป็นเยาวชนที่เติบโตในชุมชนจิกกะลา ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ แห้งแล้ง และยังมีความขาดแคลนในทุกด้าน ส่งผลให้พวกเธอรู้ซึ้งถึงปัญหาต่างๆ ที่คนในชุมชนต้องประสบอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างไร้ทางออก และเกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะหาทางพาชุมชนฝ่าฟันกับปัญหาเรื้อรัง ตั้งแต่ การติดกับดักหนี้สิน การเคลื่อนย้ายแรงงานของคนในชุมชน และปัญหาด้านสุขภาพจากการสารเคมีในการทำเกษตรกรรม ซึ่งเอมและเพื่อนๆ ค้นพบว่า ทุกปัญหามีคำตอบเดียว นั่นคือ “เศรษฐกิจพอเพียง”

การเข้าร่วมโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว ได้เปิดโอกาสให้เอมและเพื่อนๆ เริ่มให้ความช่วยเหลือสมาชิกชุมชนผ่านการสร้างสรรค์โครงงาน “จิกกะลาไม่มีหนี้ ชีวีพอเพียง” ผ่านการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิตของคนในชุมชน โดยโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาวนี้ เป็นโครงการซีเอสอาร์ที่ธนาคารกรุงไทยดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 10 แล้ว มีเป้าหมายเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าร่วมประกวดการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เข้าใจแนวคิดการจัดการอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาวปีที่ 10 นี้ นักเรียนผู้เข้าร่วมโครงการยังมีโอกาสได้รับคำปรึกษาแนะนำจากทีมที่ปรึกษาของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาชุมชนด้วยการพัฒนาศักยภาพผู้นำเยาวชน

คีนันได้ให้คำปรึกษาจนเอมและเพื่อนๆ สามารถออกแบบกิจกรรมพัฒนาชุมชนที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นอย่างแท้จริงและมุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โครงงานของเอมและเพื่อนๆ ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ในชุมชน อาทิ การใช้ราเขียวไตรโคเดอร์มาในการปรับสภาพดิน ใช้น้ำหมักชีวภาพไล่แมลง และการใช้ดินโพลีเมอร์อุ้มน้ำ อีกทั้งส่งเสริมการเกษตรพอเพียง อาทิ ผักสวนครัวรั้วกินได้ ปลาในนา และเลี้ยงเป็ดแล้วแบ่งปัน ตลอดจนสอนให้สมาชิกชุมชนทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มเงินออม และบริหารจัดการหนี้

กิจกรรมของทีมจิกกะลาโมเดล มีสมาชิกชุมชนเข้าร่วมถึงร้อยละ 80 หรือ 60 ครัวเรือน มากกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้ถึงเท่าตัว นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ 5 หน่วยงาน และเครือข่ายทางการเกษตร 7 เครือข่าย มีกิจกรรมตลอดโครงงานทั้งหมด 12 กิจกรรม และสามารถเป็นต้นแบบชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ชุมชนอื่นๆ นำไปปฏิบัติต่อไป

โครงงาน “จิกกะลาไม่มีหนี้ ชีวีพอเพียง” ของเอมและเพื่อนๆ ส่งผลให้ชุมชนจิกกะลาตระหนักถึงความสุขของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เริ่มต้นจากการทำบัญชีครัวเรือน และการทำเกษตรอินทรีย์ โครงงานนี้สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศและ Popular Vote จากโครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาวประจำปี 2559 ที่ผ่านมา เอมและเพื่อนๆ ได้รับทุนการศึกษารวม 350,000 บาท และได้รับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

เหนือสิ่งอื่นใด ชุมชนจิกกะลาในวันนี้ค้นพบแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในแบบของตนเอง และพร้อมก้าวไปสู่วันใหม่ที่สุขสดใสกว่าที่เป็นมา

Share this article

Latest.

ความมั่นคงทางอาหารของเวียดนามในบริบทของการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ

จากการประชุมสุดยอดอาหารโล

ต่อยอดเส้นทางอาชีพ เติมเต็มศักยภาพ กับโครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

จากการดำเนินโครงการเตรียม

เส้นทางสู่ความฝัน ของ ดาศิตรา ปาเละ (Dasitra Pale) ผู้ชนะเลิศการประกวดการนำเสนอแบบสั้น โครงการเตรียมความพร้อมสู่เส้นทางอาชีพ (Youth Employability Skills and Pathways)

บนเส้นทางความฝัน ของ ดาศิ