คุณสมพงษ์ พรายแก้ว เป็นผู้ใหญ่บ้านของชุมชนหมู่ที่ 12 ซึ่งในอดีตเคยถูกกล่าวขานว่า เป็นพื้นที่ทุรกันดารที่สุดของตำบลบางคูวัด อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี หากย้อนเวลากลับไปก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่ปี พื้นที่บริเวณนี้ไม่มีสาธารณูปโภคใดๆ เข้าถึง ทั้งถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา แม้ว่าจะตั้งอยู่ห่างจากทางด่วนสู่ใจกลางกรุงเพียงสิบกิโลเมตรเศษเท่านั้น ชุมชนเข้มแข็ง
ในวันนี้ ชุมชนหมู่ที่ 12 ของตำบลบางคูวัด มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทั้งในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน และการเข้าถึงของกลุ่มธุรกิจต่างๆ การเคลื่อนย้ายประชากรจากภายในเข้าสู่ในพื้นที่เนื่องจากอยู่ใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ส่งผลด้านการยกระดับคุณภาพชีวิตของสมาชิกชุมชนและท้าทายการเป็นวิถีชีวิตการเกษตรนาข้าวดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม ชุมชนหมู่ 12 ยังคงปรับตัวรับการพัฒนา ผ่านการสร้างการมีส่วนร่วมของสมาชิกชุมชนและยืดหยุ่นตามบริบทที่เกิดขึ้น ส่งผลให้เกิดความร่วมแรงร่วมใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกครั้งที่มีกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่น
ผู้ใหญ่สมพงษ์ นับเป็นกำลังสำคัญในการสร้างชุมชนเข้มแข็งแก่ชุมชนหมู่ที่ 12 ของตำบลบางคูวัด นับตั้งแต่รุ่นปู่ ยา ตา ยาย ด้วยความที่เขาเป็นผู้ใส่ใจสารทุกข์สุกดิบของสมาชิกในชุมชน เอื้อเฟื้อและชอบแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาที่พบในชุมชนอยู่เสมอ ในปี 2557 เมื่อมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียเริ่มดำเนินโครงการเยาวชนต้นแบบชุมชนบางคูวัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดําเนินการโครงการชุมชนดีมีรอยยิ้มของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จํากัด (มหาชน) ผู้ใหญ่สมพงษ์จึงยินดีเข้าร่วมโครงการฯ ในทันที “ผมเห็นว่าโครงการฯ มีประโยชน์มาก ทั้งการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้ร่วมทำงานพัฒนาท้องถิ่น และเชื่อมโยงการมีส่วนร่วมกับคนทุกกลุ่ม ทั้งผู้นำชุมชน ผู้สูงวัย และสมาชิกในชุมชนบางคูวัดที่ให้ความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ”
ด้วยความที่เป็นคนชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทั้งเพื่อพัฒนาตัวเองและช่วยเหลือลูกบ้านอยู่เสมอ ผู้ใหญ่สมพงษ์จึงเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการฯ มาโดยตลอด อาทิเช่นการให้ความรู้ด้านการส่งเสริมภาวะผู้นำที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย รวมถึงการเดินทางไปดูงานด้านการพัฒนาหรือ “ผู้นำสัญจร” ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ในการยกระดับภาวะผู้นำของผู้นำต้นแบบชุมชนบางคูวัด และนำมาสู่การวางนโยบายเพื่อขับเคลื่อนชุมชนสู่ “บางคูวัด 4.0” ร่วมกัน
ล่าสุดผู้ใหญ่สมพงษ์ ยังได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่บ่อน้ำบริเวณด้านหน้าที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 ซึ่งมีขนาดกว้างใหญ่และมีความหลากหลายสมบูรณ์ทางธรรมชาติ ให้กลุ่มเยาวชนต้นแบบบางคูวัดเข้ามาทำกิจกรรมอุปถัมภ์บัว เพื่ออนุรักษ์พันธุ์บัวในจังหวัดปทุมธานี และยังส่งเสริมการดูแลแหล่งน้ำให้ใสสะอาด พัฒนาพื้นที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสีเขียวแห่งใหม่ของชุมชน จนปัจจุบันบริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้เพาะพันธุ์บัวชุมชน และเป็นหนึ่งในผลลัพธ์เชิงบวกที่ชัดเจนของโครงการฯ ในวันนี้ “การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ ด้านกายภาพ สถานที่หลายแห่งในบางคูวัด ได้ถูกพัฒนาเปลี่ยนเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ตัวอย่างเช่น บ่อน้ำของผมที่บริจาคพื้นที่ให้กลุ่มเยาวชนบางคูวัดเข้ามาทำกิจกรรมอนุรักษ์พันธุ์บัว สิ่งที่เกินความคาดหมาย คือ เริ่มมีนักท่องเที่ยวหรือนักปั่นจักรยานแวะเวียนมาถ่ายรูป ชมวิว ชมดอกบัว ซึ่งเท่ากับเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ศึกษาวิถีบางคูวัดไปโดยปริยาย จึงน่าจะเรียกได้ว่า บางคูวัดของเรา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการเรียนรู้ไปแล้ว” ผู้ใหญ่สมพงษ์เล่าด้วยความภาคภูมิใจในชุมชนและพลังของเยาวชนบางคูวัด
การเปลี่ยนแปลงอีกประการที่ผู้ใหญ่สมพงษ์เห็นว่าสำคัญที่สุด คือ สมาชิกชุมชนเกิดความสนใจที่จะเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาท้องถิ่นมากขึ้น ทั้งจากเยาวชน ผู้นำ และชาวบ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโครงการฯ สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในท้องถิ่นมาสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่เป็นรูปธรรมได้มากขึ้นเรื่อย ๆ
การจะสร้างชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน ในมุมมองของผู้ใหญ่สมพงษ์นั้น ทุกภาคส่วนควรต้องร่วมมือพัฒนาเยาวชนอย่างต่อเนื่อง “เด็ก ๆ ในชุมชน คือ อนาคตของชุมชน พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่บ้านทุกวันนี้ก็คือเด็ก ๆ ในท้องที่นี่ในวันก่อน ดังนั้น ถ้าเราสามารถปลูกฝังให้เด็ก ๆ รู้จักและเห็นความสำคัญของการพัฒนาบ้านเกิด ให้พวกเขารักและหวงแหนชุมชนของตนเอง และปลูกทักษะการเป็นผู้นำ เมื่อเด็ก ๆ เหล่านี้โตขึ้น ก็จะพร้อมเป็นผู้นำการพัฒนาที่ดีให้กับชุมชนได้อย่างแน่นอน”
รายละเอียดเพิมเติมของโครงการเยาวชนต้นแบบชุมชนบางคูวัด คลิกที่นี่