ประเทศไทยประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศ อาทิเช่น ความท้าทายด้านเทคโนโลยี และความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ บริบทดังกล่าวทำให้ประเทศไทยต้องปรับตัวในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว โดยสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนาบุคลากร และหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่สำคัญคือการเสริมสร้างทักษะการสอนที่ส่งเสริมทักษะ STEM และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้ครูสามารถผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจึงร่วมกับ มูลนิธิไอวีแอล ส่งต่อโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของครูวิทยาศาสตร์ในระยอง” ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของมูลนิธิไอวีแอล ที่ประสงค์จะสร้างความร่วมมือและสนับสนุนการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียนขยายโอกาสในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 โดยมอบหมายให้มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียจัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการให้แก่ครูผู้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ในด้านทฤษฎีการเรียนรู้ ควบคู่ไปกับเนื้อหาการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และกระบวนการจัดการเรียนรู้แนวใหม่ โดยตลอดเวลา 3 ปีของการดำเนินงานโครงการ มีคุณครูเข้าร่วม 31 คน และนักเรียนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการจำนวน 4,650 คน
โครงการได้ปรับหลักสูตรสะเต็มศึกษาชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกาให้เข้ากับบริบทของห้องเรียนไทย เพื่อมุ่งเน้นให้คุณครูจัดการเรียนรู้ผ่านการสร้างกิจกรรมและการใช้กระบวนการเรียนรู้ที่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อสามารถต่อยอดสู่การสร้างนวัตกรรมจากความรู้ที่นักเรียนเข้าใจอย่างถ่องแท้ผ่านการสืบเสาะหาความรู้และจากการทดลองปฏิบัติ ไม่ใช่จากการท่องจำ ทั้งนี้ยังเน้นให้ครูผู้สอนส่งเสริมให้นักเรียนสามารถประยุกต์ใช้แนวทางที่เรียนรู้จากชั้นเรียนสู่การแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง และร่วมแลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยการใช้กระบวนการชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community – PLC) เพื่อร่วมสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้จากห้องเรียนสาธิต โดยครูจะทำงานร่วมกับเพื่อนครูเพื่อวางแผนการสอน กำหนดประเด็นและเป้าหมายในการเรียนรู้ของนักเรียน ร่วมกันสังเกตชั้นเรียนและพูดคุยสะท้อนผลหลังการสอน
ครูจักรรินทร์ กลั่นหอม คุณครูวิชาวิทยาศาสตร์ระดับชั้น