ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่การเพาะปลูกขนาดกลางและขนาดเล็กมักจะมีความรู้ความเข้าใจต่อการบริหารจัดการทางการเงินไม่เพียงพอ ในขณะที่ภาระหน้าที่การบริหารการเงิน และการดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรกลับเป็นภาระที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังเช่น นางแสงกนก ที่ต้องทำหน้าที่จัดหาแรงงาน ติดตามผลการทำงานของลูกจ้าง วางแผนและจัดการงบประมาณและเงินทุน ขณะที่ต้องขับรถไถด้วยตนเองในแต่ละวัน จากภาระหน้าที่อันมากมาย ประกอบกับหน้าที่ด้านการจัดการทางการเงิน พร้อมทั้งงานด้านต่างๆ ในครัวเรือน ทำให้กลุ่มสตรีเช่นแสงกนกมักเผชิญปัญหาและความท้าทายแทบทุกด้านเมื่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย เพื่อช่วยเหลือให้สตรีเหล่านี้หลุดพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น คีนันดำเนินการจัดการอบรมเพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานด้านการบริหารจัดการทางการเงิน อันประกอบด้วย การบริหารการใช้จ่าย การบริหารจัดการหนี้ การออม การจัดทำบัญชีครัวเรือน และทักษะการเป็นผู้ประกอบการ โดยหวังว่าการอบรมจะยกระดับให้กลุ่มเป้าหมายมีเครื่องมือ วิธีการ และทางเลือกมากขึ้น ในการรับมือและบริหารการเงินได้อย่างเหมาะสม และไม่กลับไปสู่การตัดสินใจกู้ยืมเงินหรือสร้างหนี้นอกระบบ
นางแสงกนก หนึ่งในสตรีชาวไร่อ้อยที่เข้ารับการอบรม ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมากล่าวว่า “การอบรมในครั้งนี้มีประโยชน์มาก ตอนนี้ดิฉันเริ่มเห็นความสำคัญของการบริหารการเงินส่วนบุคคล และการลงทุน ซึ่งคิดว่ามันจะช่วยให้ครอบครัวของเราบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ในระยะยาว”
นอกจากความไม่ชำนาญด้านการวางแผนทางการเงินแล้ว ชาวไร่อ้อยในโครงการมักใช้วิธีการทำการเกษตรแบบเดิมๆ ที่ไม่ทันสมัย ขาดการประยุกต์เทคนิค และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ หากแต่ยังคงเน้นใช้แรงงานจำนวนมากและยังขาดประสิทธิภาพในการทำงาน ทั้งที่ชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่มักมีความพร้อมด้านเงินทุน สามารถจัดหาเครื่องมือ และเลือกใช้วิธีดำเนินงานที่ใช้เทคโนโลยีอันล้ำสมัย ทำให้สามารถได้ผลผลิตอ้อยที่พร้อมส่งโรงงานตามที่ตนคาดการณ์ แต่ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายของชาวไร่อ้อยที่มีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก กลุ่มบริษัท น้ำตาลไทยรุ่งเรือง ผู้ผลิตน้ำตาลชั้นนำของไทย จึงจัดดำเนินการพัฒนาให้แนวคิด พร้อมแลกเปลี่ยนวิธีการปลูกอ้อยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แก่กลุ่มเกษตรกรสตรีชาวไร่อ้อยเพื่อปรับกระบวนทัศน์ต่อการปลูกอ้อยยุคใหม่
โครงการสามารถยกระดับศักยภาพสตรีชาวไร่โดยตรงกว่า 600 ท่าน ผลลัพธ์ดังกล่าวส่งผลต่อความสำเร็จในการดำเนินงานเพื่อตอบรับโครงการด้านความยั่งยืนระดับโลกที่ริเริ่มขึ้นของโคคา-โคลาที่ชื่อว่า “5by20” ที่มุ่งพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงในห่วงโซ่คุณค่าหรือแวลูเชน ให้ได้จำนวน 5 ล้านคน ภายในปี พ.ศ. 2563 ประโยชน์ที่เกิดขึ้นสามารถขยายผลทั่วพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี และเพชรบูรณ์ เสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ยกระดับทักษะเชิงธุรกิจในกลุ่มสตรี สร้างผลกระทบต่อกลุ่มเยาวชนที่แม่เข้าร่วมโครงการ สร้างงานในชุมชน ตลอดจนครอบครัวของผู้เข้าร่วมโครงการจะมีสถานะภาพที่ดีกว่าเดิมแม้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับโปรแกรมการพัฒนาธุรกิจ และเศรษฐกิจ ของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย