“การสูงวัยในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก และเป็นเรื่องใกล้ตัวเราทุกคน” ศิริวรรณ อรุณทิพย์ไพฑูรย์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านผู้สูงอายุจากกรมกิจการผู้สูงอายุ กล่าวกับเราถึงประเด็นน่ากังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การสูงวัยของประชากรไทย “แม้วันนี้จะเป็นเรื่องน่ายินดีที่หลายหน่วยงานและสื่อต่างๆ นำเสนอถึงเรื่องนี้มากขึ้นแล้วก็ตาม แต่คนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงานยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญและความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสังคมของเราในระยะเวลาอันใกล้นี้”
การก่อตั้ง “กรมกิจการผู้สูงอายุ” ขึ้นในปี 2558 ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แสดงให้เห็นว่าภาครัฐเห็นถึงความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุไทยให้สูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ หลังจากที่ประเทศไทยได้เข้าสู่สังคมสูงวัย (นั่นหมายถึงการมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 10) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็วถึงกว่าร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งเป็นผลมาจากการที่คนไทยอายุยืนขึ้น ในขณะที่อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง
จากข้อมูลล่าสุดในปี 2558 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรสูงวัยถึงร้อยละ 16 หรือราว 11 ล้านคนเลยทีเดียว ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้สูงวัยอย่างรวดเร็วทำให้มีการคาดการณ์ว่า ภายในระยะเวลาอีกเพียง 4 ปีข้างหน้าหรือในปี 2564 เราจะมีประชากรวัยเกษียณสูงถึงร้อยละ 20 และเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society)
ความท้าทายใหม่ในสังคมผู้สูงอายุ
อาจารย์ศิริวรรณ มองว่า สุขภาพของผู้สูงอายุ เป็นความท้าทายสำคัญของสังคมสูงวัยในปัจุบันอย่างยิ่ง “วันนี้มีผู้สูงวัยประมาณร้อยละ 2 หรือประมาณ 200,000 คน ที่เป็นกลุ่มเปราะบางหรือมีภาวะพึ่งพิง ผู้สูงวัยเหล่านี้เป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือมีข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประวันด้วยตัวเองและต้องการผู้ดูแล ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้มีการจัดระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงแล้ว และกำลังพยายามผลักดันนโยบายด้านบุคลากรเพื่อให้ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงเหล่านี้”
อาจารย์ศิริวรรณยังมองว่า การจะรับมือกับสังคมผู้สูงอายุให้ทันการณ์ ต้องปฏิบัติงานทั้งเชิงรับและเชิงรุกควบคู่กัน ในด้านสุขภาพต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้เรื่องสุขภาพแก่ประชาชนทั่วไป (Health Literacy) อาทิ พฤติกรรมการบริโภคและการใช้ชีวิตที่ไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เนื่องจากภาวะการเจ็บป่วยต่างๆ นั้นไม่เพียงเป็นภาระค่าใช้จ่ายของตนเอง แต่ยังจะเป็นภาระทางการเงินการคลังในภาพรวมของประเทศด้วย
ที่สำคัญอาจารย์ศิริวรรณมองว่า คนไทยทุกคนจะต้องมีการวางแผนเกษียณล่วงหน้า “คนไทยยังขาดความรู้และความตระหนัก ในเรื่องการเตรียมความพร้อมเข้าสู่การสูงวัย ซึ่งรวมถึงการวางแผนการเงินเพื่อการเกษียณอายุ ข้อมูลล่าสุดของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า Gen Y หรือคนรุ่นใหม่อายุ 18-35 ปีส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินรายได้ ทำให้มีหนี้สิน และขาดการออมเงิน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินในวันหน้า”
นับถอยหลังสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์”
ด้วยสถานการณ์การสูงวัยของประชากรไทยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบมากมายไม่เพียงแต่กับตัวบุคคลและครอบครัว แต่ยังรวมถึงสังคมและเศรษฐกิจของประเทศและโลกใบนี้ อาจารย์ศิริวรรณมองว่ามีความจำเป็นที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน จะต้องประสานความร่วมมือร่วมกันทำงานเพื่อรับมือกับความท้าทายจากสถานการณ์การสูงวัยของประชากรไทย
“วันนี้ประชารัฐทุกภาคส่วนควรจะต้องตระหนักถึงความท้าทายของสังคมสูงวัยของประเทศไทย โดยจะต้องร่วมมือกัน โดยแบ่งปันองค์ความรู้ ประสานทรัพยากร เพื่อให้คนไทยมีหลักประกันความมั่นคงเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ตัวอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่ต่างกำลังรณรงค์เรื่องการออมเพื่อเตรียมพร้อมสู่วัยเกษียน หรือโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ที่หลายโครงการดำเนินงานโดยคนวัยกลางคนและวัยสูงอายุ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ผู้ที่กำลังจะเกษียนและวัยสูงอายุ สำหรับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านผู้สูงอายุยังจำเป็นที่จะต้องมีแกนนำที่เข้มแข็งก้าวหน้าเช่นเดียวกับองค์กรด้านสตรี เด็ก และคนพิการ เป็นต้น”
ด้วยตระหนักถึงความท้าทายของสังคมสูงวัยไทย มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียโดยการสนับสนุนของมูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย ได้ริเริ่มดำเนินโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข นับตั้งแต่ปี 2559 ที่ผ่านมา เพื่อมุ่งสร้างรูปแบบสังคมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวมที่มีความยั่งยืน สามารถประยุกต์และปรับใช้ได้กับบริบทของสังคมไทยได้ อาจารย์ศิริวรรณได้กล่าวถึงโครงการว่า “เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรพัฒนาเอกชนเริ่มตื่นตัวในเรื่องนี้ โดยเฉพาะในด้านการสร้างองค์ความรู้เรื่องสุขภาพเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสังคมสูงวัยของประเทศไทย และช่วยสนับสนุนการรณรงค์เรื่องการดูแลสุขภาพ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายของการเป็นสังคมสูงวัย คาดหวังว่าการริเริ่มดำเนินโครงการในกลุ่มตัวอย่างจะช่วยสร้างความรู้ใหม่ๆ เพื่อนำมาสู่การถอดบทเรียนและการนำมาขยายผลในการทำงานด้านผู้สูงวัยในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป”
ติตดามรายละเอียดโครงการไฟเซอร์ รู้-เฒ่า-ทัน-สุข ที่นี่
ผู้สนใจแนวนโยบายรองรับสังคมสูงวัย สามารถติดตามบทความวิชาการด้านผู้สูงวัยของอาจารย์ศิริวรรณได้ที่นี่:
http://www.dop.go.th/main/knowledge_lists.php?id=20