เคยสงสัยหรือไม่ว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรใช้อะไรดึงดูดพนักงานที่ไม่สนใจรางวัลที่ประเมินเป็นตัวเงิน (Monetary Reward) ให้มาสมัครงาน?
ในความเป็นจริงแล้วองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเองก็จำเป็นต้องลงสนามดึงดูดคนเก่งเข้าทำงานเหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ทว่าเรามีข้อจำกัดทางการเงินเมื่อเทียบกับองค์กรธุรกิจการค้า ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การการันตีว่าค่าตอบแทนของเราสู้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรแห่งอื่น ๆ ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ และเพื่อดึงดูดคนเก่งจากองค์กรธุรกิจการค้า เราต้องพิจารณากลยุทธ์ค่าตอบแทนและวางระบบค่าตอบแทนทั้งที่เป็นตัวเงิน สวัสดิการ และรางวัลการพัฒนา เพื่อดึงความสนใจจากคนเก่งให้เข้าสู่วงการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
การบริหารคนเก่ง (Talent Management)
เกณฑ์วัดคนเก่งในวงการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่ได้ต่างกับองค์กรธุรกิจการค้ามากนัก เราใช้เกณฑ์คล้าย ๆ กันในการดูว่าพนักงานจะสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้หรือไม่ เว้นก็แต่เรามีมาตราวัดน้ำหนักที่ต่างออกไปเล็กน้อย ในฐานะองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยพันธกิจ คนเก่งจะต้องมีทัศนคติที่สะท้อนปณิธานของตัวเองออกมา เช่น แรงบันดาลใจหรือแรงผลักดันที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าและพร้อมบรรลุเป้าประสงค์ในการสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าให้สังคม
ประโยชน์ด้านอารมณ์ความรู้สึกของคนเก่ง (Emotional Benefits)
ในขณะที่องค์กรธุรกิจการค้าสามารถมอบสวัสดิการหรือผลประโยชน์พิเศษให้กับพนักงานได้ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต้องอาศัยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เพื่อชดเชยสิ่งที่เราไม่สามารถหาให้ได้ บางครั้งพนักงานจะได้รับสวัสดิการที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบตัวเงิน เช่น การลาวันเกิด การพาครอบครัวพนักงานไปทำกิจกรรมสังคมร่วมกัน เพื่อสะท้อนวัฒนธรรมองค์กรของเราที่ต้องการสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าให้กับทุกคน สิ่งนี้ก็ถือเป็นหนึ่งในผลประโยชน์ทางสังคมเช่นกัน กิจกรรมล่าสุดก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เราได้พาพนักงานไปเยี่ยมสถาบันผู้พิการทางสายตา มีพนักงานบางส่วนพาบุตรหลานและญาติไปด้วย ถือว่าเป็นโอกาสให้เราได้เผยแพร่ความหมายของการอุทิศตนเพื่อผู้อื่น ประโยชน์ด้านอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นสามารถกลายเป็นสิ่งพิเศษที่เงินไม่สามารถซื้อหาได้
การพัฒนาคนเก่งเพื่อความก้าวหน้าในสายงาน (Career Advancement)
องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรหลายแห่งมักให้ความสนใจกับการบริการด้านใดด้านหนึ่งไปเลย เช่น เด็ก ผู้ด้อยโอกาส หรือการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แต่ที่มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย เรามีถึง 3 สาขา ซึ่งช่วยให้พนักงานมีความสุขกับการทำงานและมีช่องทางพัฒนาความสามารถผ่านงานบริการที่หลากหลาย เมื่อทำงานได้ระยะหนึ่ง พนักงานสามารถโยกย้ายไปสายงานอื่นได้ เช่น พนักงานที่ทำงานหรือดำเนินโครงการในฝ่ายธุรกิจและการพัฒนาเศรษฐกิจมาระยะหนึ่งสามารถนำความรู้และทักษะที่มีไปปรับใช้ในสาขาอื่น เช่น สาขาพัฒนาชุมชน การพัฒนานี้จะยกระดับทักษะทำงานของพนักงานในอนาคต และการลองดำเนินโครงการที่หลากหลายควบคู่กันไปจะช่วยเสริมสร้างโปรไฟล์และภาพลักษณ์ของพนักงานได้ เนื่องจากเราเป็นองค์กรขนาดเล็ก การถ่ายทอดความรู้และการเรียนรู้จะไม่ทางการนัก พนักงานทุกระดับจึงเข้าถึงได้ ดังนั้น การที่คนเก่งจะเติบโตในแวดวงองค์กรไม่แสวงหากำไรได้นั้น พวกเขาจะต้องมีทักษะที่หลากหลายและปราศจากทัศนคติ “ไม่ใช่เรื่องของฉัน”
ด้วยประสิทธิภาพของงบประมาณอาจทำให้องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรไม่สามารถหวังพึ่งเงินเดือนในการดึงดูดคนเก่งเพียงอย่างเดียวได้ ทีมทรัพยากรบุคคลของเราจึงต้องงัดสารพัดวิธีมอบค่าตอบแทน เพื่อสร้างชีวิตการทำงานที่ดึงดูดใจและมีเป้าหมาย เมื่อเรามองไปที่กลยุทธ์ค่าตอบแทน เราจึงต้องใส่ใจทั้งผลตอบแทนที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ อันได้แก่
- ค่าตอบแทน
- สวัสดิการ
- สมดุลในชีวิตและการทำงาน
- การผลิตและชื่นชมผลงาน
- โอกาสในการพัฒนาตนเองและเติบโตในองค์กร
ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นจุดขายของการทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร หากคุณสนใจทำงานในองค์กรไม่แสวงหาลกำไรหรือต้องการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานของคีนันฯ สามารถติดต่อเข้ามาได้ที่ recruitment@kenan-asia.org