ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะเคยมีประสบการณ์ในลักษณะเดียวกันว่า ในบางครั้งเราไม่มีคำอธิบายว่าทำไมเราถึงเข้ากับบางคนได้ดีมากในขณะบางคนไม่ หรือ บางทีทำไมคนเราถึงมี Reaction ในเรื่องต่าง ๆ ที่หลากหลายแนวทางมากเลย ซึ่งหากรู้จักตัวเองและคนอื่นดีแล้ว เราจะทำอะไรก็จะสะดวกและราบรื่นขึ้นเยอะ
เครื่องมือที่ผมอยากแนะนำในวันนี้มีชื่อว่า MBTI ย่อมาจาก Myer Brigg Type Indicator มีต้นฉบับที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่สองนู่นแล้ว คิดค้นและพัฒนาแบบวัดโดย Isabel Briggs Myers และ Katharine Cook Briggs
สังเกตมั้ยว่าชื่อคล้าย ๆ กัน ใช่แล้วทั้งสองคนนี้เป็นสุภาพสตรีและเป็นคุณแม่คุณลูกกันนั้นเอง (คุณแม่คือ Briggs ซึ่งน่าจะเป็นการให้เกียรติลูกสาวมากถึงใช้ชื่อ Myers ขึ้นก่อน ทั้งที่ตามหลักวิชาการน่าจะเรียงตาม Alphabet หรือตามลำดับอาวุโสเป็นหลัก) โดยใช้ทฤษฎีด้านจิตวิทยาของ Carl Jung ที่เสนอว่าบุคลิกภาพของคนเราจะอยู่ระหว่างขั้วใดขั้วหนึ่งใน 4 แกน ได้แก่ ทัศนคติ การรับรู้ การตัดสินใจ และ ปฏิกิริยาที่มีต่อโลกรอบตัว ซึ่งเมื่อเอาความแตกต่างของแกนทั้ง 4 มาผนวกกันจะได้รูปแบบของบุคลิกภาพทั้งหมดถึง 16 แบบ ซึ่งใน Ministry of Learning วันนี้เราจะมาวิเคราะห์ขั้วต่าง ๆ ในแต่ละแกน เผื่อว่าคุณผู้อ่านจะไปสนใจทำการทดสอบตัวเองในวันว่าง
แกนที่ 1 ทัศนคติ ว่าเราเป็นคน Extraversion หรือ Intraversion (E/I) เป็นการบอกว่าเราเปิดหรือปิดตัวเองมากน้อยแค่ไหน โดยคนที่มีแนวโน้มไปทาง Extra จะชอบลงมือปฏิบัติ ชอบเรียนรู้เรื่องหลากหลาย ชอบเจอคนเยอะ ๆ จะกลับมามีพลังในชีวิตได้ก็ต่อเมื่อพบปะพูดคุย ได้เมาท์แล้วมีแรงว่างั้นเหอะ ส่วน Intra จะตรงกันข้าม ชอบเรียนรู้ด้วยการครุ่นคิด ชอบเรียนรู้เจาะลึกในเรื่องที่สนใจ ไม่ชอบเจอคนเยอะ ๆ และจะกลับมามีพลังได้ก็ต่อเมื่อมีโอกาสอยู่เงียบ ๆ คนเดียว แบบขอ Space บ้างได้มั้ยเจอคนเยอะแล้วเหนื่อย
คราวนี้ในชีวิตจริงเราจะเจออะไร เวลาคนสองแบบนี้มาเจอกัน คนที่ Extra จะมองว่าคน Intra หยิ่ง เงียบ เก็บตัว หรือ ต่อต้านสังคม ในขณะที่คนเป็น Intra จะมองคน Extra ว่าพูดมาก เสียงดัง ล้น หรือ เว่อร์ แต่ถ้าเป็นคนที่ Degree ในแกนนี้พอ ๆ กันจะเข้ากันได้ดี เช่น Extra กับ Extra ก็จะต้องหาทางออกมาเจอกันในวันหยุด ในขณะที่ Intra กับ Intra รู้กันว่าอย่าโทรไปรบกวนเขาเลย ให้เขาพักผ่อนบ้าง
แกนที่ 2 การรับรู้ ว่าเราเป็นคน Intuition หรือ Sensing (N/S) หรือโดยหลักการแล้วเรารับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างไร คนที่เป็น Intuition จะรับรู้ข้อมูลต่าง ๆ ผ่านตรรกะ หลักคิด ทฤษฎี ปรัชญา ที่ออกจะนามธรรมที่นำไปสู่การคาดคะเนและตกผลึก เรียกว่าเห็นอะไรกลุ่มนี้จะไปต่อ ในขณะคนที่เป็น Sensing จะเชื่อในข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยานหลักฐาน เห็นหรือจับต้องได้ หรือ รูปธรรม ที่นำไปสู่ข้อสรุป เรียกว่ามีแค่ไหนก็ใช้แค่นั้น อย่าไปเติมเดี๋ยวเพี้ยน
ในชีวิตจริงคนสองกลุ่มนี้จะมีอาชีพที่แตกต่างกันมากและถ้าต้องมาเจอกันคงจะโต้เถียงกันได้ดุเด็ดเผ็ดมันพอสมควร เพราะคนที่เป็น Intuition จะมองคนที่เป็น Sensing ว่าทื่อ ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่มีวิสัยทัศน์ ในขณะที่คนที่เป็น Sensing จะมองคนที่เป็น Intuition ว่าเป็นพวกชอบจิ้น (จินตนาการ/Imagine) เลื่อนลอย หรือ ไม่น่าเชื่อถือ
แกนที่ 3 การตัดสินใจ ว่าเราเป็นคนแบบ Thinking หรือ Feeling (T/F) คนที่เป็น Thinking จะมองหาความเชื่อมโยงของข้อมูล มองหาวิธีการวัด มองหาหลักการ เปรียบเทียบกับความน่าจะเป็นทั้งไปและกลับเพื่อใช้ในการตัดสินใจอะไรสักอย่าง ในขณะคนที่เป็น Feeling จะพยายามมองหาจุดที่จะเข้าไปคิดอย่าง “คนใน” ของแต่ละสถานการณ์ และ มองออกมาจากแต่ละมุมมองเพื่อคิดวิเคราะห์และเปรียบเทียบก่อนจะตัดสินใจ
คนสองกลุ่มนี้ถ้าเจอกัน กลุ่มคนที่เป็น Thinking จะมองว่ากลุ่มคนที่เป็น Sensing ว่าขาดหลักการ อ่อนไหว ใช้แต่อารมณ์ แต่คนที่เป็น Sensing จะมองคนที่เป็น Thinking ว่าหัวสี่เหลี่ยม ไร้หัวใจ ใช้แต่ทฤษฎี เอ้าก็ว่ากันไป
สุดท้าย แกนที่ 4 ปฏิกิริยาที่มีต่อโลกรอบตัว ว่าเราเป็นคนแบบ Judgment หรือ Perception (J/P) คนที่เป็น Judgment จะมีหลักการที่เป็นของตัวเอง อะไรถูกผิดจี้ได้หมด ในขณะที่คนที่เป็น Perception จะมองอะไรอย่างที่มันเป็นไป แบบมันเป็นเช่นนั้นเอง (ตถตา)
คราวนี้ถ้าสองลักษณะที่มาเจอกัน พวกที่เป็น Judgment จะมองว่าพวก Perception เฉื่อย ไม่รู้สึกรู้สา ไม่สนใจอะไรเลยหรือไงว่าโลกนี้จะเป็นยังไง แบบ “ไทยเฉย” ที่เรียก ๆ กันก่อนหน้านี้ ในขณะที่พวก Perception จะมองว่าพวก Judgment เยอะ ยุ่ง รู้ได้ยังไงว่าจริง หรือ รู้ได้ยังไงว่าตัวเองเป็นฝ่ายถูก
ข้อควรระวังอย่างแรก อย่าคิดว่าแบบลักษณะแบบไหน “ดีกว่า” การทดสอบนี้เป็นการทดสอบให้รู้จักตัวเองในมุมมองใหม่ ๆ เท่านั้น เช่น ทำแล้วปรากฏว่าคุณผู้อ่านเป็นคนที่ Intraversion มาก ๆ แต่ดันอยากเป็น “ดารา” ซึ่งแน่นอนว่าชีวิตจะอึดอัดมากหากดังขึ้นมาจริง ๆ อะไรทำนองนี้เห็นมั้ยว่าแค่แยกเป็นแต่ละแกนยังมีรายละเอียดขนาดนี้ คิดดูสิว่า (ถ้าตามทฤษฎีนี้นะ) คนหนึ่ง ๆ มีตั้ง 4 แกนแน่ะ นั่นถึงเป็นเหตุผลว่าชีวิตจริง ๆ แล้วมี Complexity เยอะแยะให้เราได้ค้นหา ซึ่งผมว่าสนุกดีหากจะลองทำแบบวัดนะ เพราะใช้เวลาไม่มาก และทำเสร็จคุณผู้อ่านจะได้ Code ที่เป็นตัวอักษรออกมา 4 ตัว ซึ่งจะบอกว่าลักษณะของเราว่าเราเป็นคนลักษณะไหนจากทั้งหมด 16 ลักษณะ แต่ละลักษณะก็จะมีการวิเคราะห์ต่อว่าเหมาะกับอะไร เหมาะกับงานลักษณะไหนด้วย คุณผู้อ่านสามารถ Search แบบวัด MBTI ได้เองจาก Google ซึ่งมีหลายสำนักที่มี Free Online โดยสามารถค้นหา Type ต่าง ๆ ว่าลักษณะที่เราได้ผลทดสอบนั้นสะท้อนตัวเราจริง ๆ แค่ไหน
ข้อควรระวังอย่างที่สอง แม้ว่าแบบวัดนี้จะได้รับความน่าเชื่อถือจากหลาย ๆ หน่วยงานในระดับนานาชาติ แต่อย่าเพิ่มทุ่มความสำคัญไปกับการทดสอบราวกับมันเป็นดวงเกิดของเราเป็นอันขาด เพราะการวัดทุกอย่างมีความคลาดเคลื่อน ทั้งจากความเข้าใจในแบบสอบ และ จากความรู้สึกหรือความสนใจของเราเองในช่วงเวลานั้น ๆ ดังนั้นใช้เพื่อความสนุกในการเรียนรู้ส่วนตัวจะดีที่สุด
ติดตามข้อเขียนเพิ่มเติมได้ที่ http://oknation.nationtv.tv/blog/ministryoflearning/2014/07/20/entry-1