Health

อนาคตสังคมสูงวัยกับการรับมือในวิกฤติการณ์โควิด-19

ม.ค. 26,2023

(NextGen Aging Covid-19 Response)

จาก “ปิดเมือง” สู่ “ชีวิตวิถีใหม่”

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ประกาศมาตรการ ปิดเมืองเป็นระยะเวลาถึง 3 เดือน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ประชาชนทุกคนต้องอาศัยอยู่ที่บ้าน และปฏิบัติตามมาตรการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลซึ่งมีการจำกัดการเข้าร่วมกิจกรรมกลางแจ้งและกิจกรรมทางสังคมหลายประเภท เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ธุรกิจหลายแห่งต้องหยุดดำเนินกิจการและเกิดภาวะการว่างงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประชาชนต้องปฎิบัติตามแนวทางการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัดแม้ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตกับสมาชิกครอบครัวก็ตาม ความโดดเดี่ยวและความห่างเหินทางสังคมดังกล่าวยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นอยู่ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสภาวะทางการเงิน

วิกฤติการณ์ดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงในเดือนกรกฎาคม หลังจากที่ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อภายในประเทศมาเป็นระยะเวลากว่า 50 วัน ซึ่งรัฐบาลไทยได้มีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ มากขึ้น และได้ประกาศยุติมาตรการปิดเมืองในที่สุด อย่างไรก็ตาม เมื่อความเสี่ยงของการแพร่ระบาดยังคงอยู่ ผู้คนจึงยังคงต้องดำเนินชีวิตด้วยวิถีใหม่ (New normal) โดยต้องคอยระมัดระวังรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล และดูแลให้ตนเองและบุคคลอันเป็นที่รักได้รับความปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็ยังต้องเผชิญกับผลกระทบต่อเนื่องจากวิกฤติการณ์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การปิดกิจการ การตกงาน รวมทั้งปัญหาด้านสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ยังปรับตัวไม่ทัน ช่วงเวลานี้จึงนับเป็นชีวิตวิถีใหม่อันยากลำบากสำหรับประชาชนจำนวนมาก

ความสูญเสียและภาวะกดดันดังกล่าวก่อให้เกิดความเครียดแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นกลุ่มเปราะบางอย่างผู้สูงอายุ ซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหากได้รับเชื้อไวรัสโควิด-19 ผลสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 30 มักมีปัญหาด้านสุขภาพ โดยผู้สูงอายุที่ติดเชื้อไวรัสดังกล่าวและมีปัญหาด้านสุขภาพหรือมีโรคประจำตัว ยิ่งมีโอกาสเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยรุนแรงหรือการเสียชีวิตมากขึ้น ผู้สูงอายุของไทยนับเป็นกลุ่มเสี่ยงสำคัญ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มอาการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ไม่ว่าจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือโรคอ้วน นอกจากนี้ กลุ่มผู้สูงอายุในสังคมไทยส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาการเอาใจใส่ดูแลตลอดจนค่าใช้จ่ายจากลูกหลานในครอบครัว ยิ่งเป็นที่น่าสนใจว่า ในสถานการณ์วิกฤตินี้ ลูกหลานหรือวัยหนุ่มสาวจะมีวิธีการรับมืออย่างไรเพื่อให้สามารถดูแลสมาชิกในครอบครัวของตนเองควบคู่ไปกับการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวได้อย่างดีที่สุด

อนาคตสังคมสูงวัยสุขภาพในชีวิตวิถีใหม่

ขณะที่ยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ของไวรัสโควิด 19 จะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ นานาประเทศก็กำลังพยายามวางแผนฟื้นฟูประเทศ โดยมีเป้าหมายร่วมกันคือให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอยู่กับไวรัสดังกล่าวให้ได้ ในประเทศอังกฤษ ดร. Joy Furnival (2020) ได้เสนอแนะว่า ในการพัฒนาแผนฟื้นฟูประเทศนั้น ควรประยุกต์ใช้บทเรียนจากการรับมือสถานการณ์การระบาดร่วมด้วย และต้องบรรจุแผนระยะสั้นที่มุ่งฟื้นฟูการให้บริการพื้นฐานภายในประเทศ นอกจากนี้ แผนการฟื้นฟูจะต้องระบุถึงการช่วยเหลือประชากรอย่างมีมนุษยธรรม ครอบคลุมทั้งการช่วยเหลือประชากรกลุ่มต่างๆ (เช่น บุคคลไร้บ้าน กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ) การฟื้นฟูเศรษฐกิจ สาธารณูปโภค และสิ่งแวดล้อม

ด้วยประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มผู้สูงอายุมาเป็นระยะเวลา 5 ปี มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียสามารถพัฒนารูปแบบการช่วยเหลือในชุมชนได้สำเร็จ ด้วยการเสริมศักยภาพผู้แทนชุมชน (Change Agent) ด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความรู้ทางการเงิน ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดอุบลราชธานี มูลนิธีคีนันฯ ตระหนักถึงความรุนแรงของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญ จึงได้ทบทวนข้อมูลจากการสำรวจชุมชน การถอดบทเรียน และผลสำเร็จจากการดำเนินงานร่วมกับกลุ่มผู้แทนชุมชนประกอบด้วย อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม. และ อสส.) เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขของรัฐ และคุณครู และปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินโครงการที่มุ่งเสริมพลังการทำงานให้แก่กลุ่มผู้แทนชุมชน ให้สามารถช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่อย่างโดดเดี่ยว (เช่น ความไม่สมบูรณ์ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย และปัญหาด้านสุภาพจิต) และปรับแนวทางการพัฒนาสังคมสูงวัยให้สอดคล้องกับรูปแบบชีวิตวิถีใหม่

นอกจากนี้ มูลนิธิคีนันฯ ได้พัฒนาโครงการภายใต้ “NextGen Aging” ที่มุ่งตอบโจทย์อนาคตสังคมผู้สูงวัยสุขภาพในประเทศไทย ด้วยการดำเนินงานในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น ปรับเนื้อหาการอบรม Change Agent ให้สอดคล้องกับประเด็นของชีวิตวิถีใหม่สำหรับกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โครงการดังกล่าวประกอบด้วย 2 ระยะ ได้แก่ ระยะฟื้นฟู (recovery period) มุ่งเน้นการเสริมศักยภาพของ Change Agent ในประเด็นเร่งด่วน ได้แก่ ความรู้และทักษะดิจิทัล ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิต และระยะที่ 2 มุ่งเน้นการเสริมศักยภาพด้านความรู้ทางการเงินและการมีงานทำ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวและเตรียมความพร้อมการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal period) นั่นเอง

ท่านสามารถอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับงานด้านสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยเพิ่มเติมได้ที่ www.kenan-asia.org/nextgen-aging

จงดี จันทร์ดำ
Associate Consultant – Research and M&E
Kenan Foundation Asia

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ