การเรียนในสายอาชีพหรือ “อาชีวศึกษา” ในปัจจุบันนับเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างกำลังพัฒนาประเทศ ซึ่งกำลังจะเตรียมพร้อมก้าวสู่ “ไทยแลนด์ 4.0” การเรียนการสอนในสายอาชีวะได้รุดหน้าขึ้นมาก ดังเช่นเรื่องราวของรองคณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทั้งสามท่านนี้ เป็นตัวอย่างของความสำเร็จในการนำสะเต็ม (Science, Technology, Engineering, and Math: STEM) มาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนได้อย่างดี
รองคณบดี คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีทั้งสามท่านได้แก่ ผศ.ดร. อนุศิษฏ์ อันมานะตระกูล ผศ.ดร. พิเชษฐ์ พินิจ และ รศ.ดร. สันติรัฐ นันสะอาง ปัจจุบันเป็น Master Trainer หรือ “วิทยากรแกนนำ” ที่ช่วยสร้างศักยภาพของครูในการบูรณาการองค์ความรู้ด้านสะเต็มศึกษาในระดับ ปวช. และ ปวส. (STEM for TVET) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ดำเนินการโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชีย (คีนัน) โดยมีพันธมิตรทั้งภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาครัฐบาล และภาคเอกชน ร่วมกันผลักดันสะเต็มศึกษาในระบบการศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีวะทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ
รองคณบดีทั้งสามท่านเป็นผู้ที่เคยผ่านการเรียนหลักสูตร ปวช. และ ปวส. ในอดีตมาแล้ว และได้ให้แนวคิดดีๆ กับเราเกี่ยวกับการปรับบทบาทของครูให้เหมาะสมกับบริบทการศึกษาที่เปลี่ยนไปในยุคปัจจุบัน
ผศ.ดร. อนุศิษฏ์ อันมานะตระกูล (ซ้าย) เคยตั้งคำถามว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ครูเข้าใจวิธีการสอนสะเต็ม มิใช่เพียงแค่รู้ว่าสะเต็มคืออะไร ซึ่งการเรียนการสอนแบบดั้งเดิมทำให้ครูและนักเรียนมีช่องว่างในการปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ดังนั้น ครูจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน เพื่อให้สามารถดึงความสนใจจากนักเรียน จนกระทั่งหลอมรวมชั้นเรียนให้เป็นหนึ่งเดียวได้ องค์ความรู้ต่างๆ ก็จะตามมา
ผศ.ดร. พิเชษฐ์ พินิจ (กลาง) เชื่อว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างครูกับนักเรียน คือการให้เกียรติและการแบ่งปัน การแลกเปลี่ยนสามารถนำเอาความเก่งของแต่ละคนมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน ช่วยสร้างพลังให้เกิดขึ้นในการเรียนการสอน และยังทำให้วินัยในการเข้าห้องเรียนรวมถึงผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
รศ.ดร. สันติรัฐ นันสะอาง (ขวา) กล่าวว่าหน้าที่ของครูคือ การสอนให้นักเรียนเป็นอย่างที่ครูอยากให้เป็น ถึงแม้ว่าเป้าหมายนี้อาจฟังดูแล้วบรรลุยาก ครูอาจท้อได้แต่ห้ามเลิก ควรปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับยุคสมัยเป็นห้องเรียนที่มีลักษณะสบาย สนุก มีความสุข ไม่กดดัน
แนวทางในการเรียนการสอนอย่างหนึ่งคือการท้าทายผู้เรียนด้วยคำถาม ปัญหา หรือสถานการณ์ แทนที่จะนำเสนอเพียงข้อเท็จจริงของบทเรียน ซึ่งต้องการพัฒนาทักษะของนักเรียนโดยตรงในด้านการสืบเสาะ การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่จดจำคำตอบของคำถามที่ทราบล่วงหน้า ซึ่งการเรียนรู้แบบสืบเสาะ/การใช้โครงงาน/การใช้ปัญหาเป็นฐาน (Inquiry/ Project/ Problem-based learning) จะช่วยให้นักเรียนเติบโตเป็นผู้ใฝ่เรียนรู้ตลอดชีวิตและแสวงหาคำตอบอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งเสริมการลงมือปฏิบัติจริง (Hands-On) ให้กับนักเรียนที่จะเป็นกำลังของชาติต่อไปในอนาคต
นี่คือตัวอย่างของคุณครูอาชีวะแห่งศตวรรษใหม่ ที่มีมุมมองเปิดกว้าง “เปิดใจ ปรับตัว เพื่อไปต่อ” เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนและสร้างประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เรียน ซึ่งจะกลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคตอันใกล้นี้