“เพราะเด็กแต่ละคนมีภูมิหลังและความสามารถที่ต่างกัน ครูจึงต้องปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับผู้เรียนอยู่ตลอดเวลา” คำกล่าวจาก ครู พัฒนพงศ์ บุญศิลป์ ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 47 จังหวัดเพชรบุรี
คุณครูพัฒนพงศ์รับราชการมานานกว่า 10 ปี การเติบโตในครอบครัวข้าราชการครูถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับครูพัฒนพงศ์ ให้ดำเนินรอยตามบุพการี ในเส้นทางอาชีพเดียวกัน
“อาชีพครูมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเยาวชน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ หากมีโอกาสครูก็อยากช่วยเหลือเยาวชน”
คุณครูพัฒนพงศ์ตระหนักถึงความแตกต่างในตัวนักเรียนแต่ละคน ด้วยต่างคนต่างพื้นเพ มีจุดอ่อนจุดแข็งเฉพาะตัว ครูผู้สอนจึงต้องทำงานให้ได้หลากหลาย และพร้อมปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดรับกับตัวผู้เรียน เพื่อให้เด็ก ๆ มีทัศนคติเชิงบวกกับการเรียน ประสบความสำเร็จ มีวุฒิการศึกษาติดตัว และสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพการงานที่มั่นคงในอนาคต
“หากมองที่การศึกษาไทยในปัจจุบัน เราจะพบว่าผู้เรียนขาดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ทักษะการคิดสร้างสรรค์ คิดวิเคราะห์ การสื่อสาร และการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งขาดแคลนทั้งทรัพยากรการศึกษาที่ทันสมัย และนักเรียนก็ขาดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ จึงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับทั้งภาครัฐและเอกชนที่ต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ เพื่อให้เยาวชนเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความรู้ที่ตรงกับที่นายจ้างต้องการ และสามารถขับเคลื่อนประเทศได้อย่างประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต”
ครูพัฒนพงศ์มีความปรารถนาที่จะเรียนรู้และปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดีขึ้น เมื่อมีโอกาสครูพัฒนพงศ์ จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ “We Think Digital” ซึ่งสนับสนุนงบประมาณโดย บริษัท เฟซบุ๊ก และดำเนินโครงการโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย โดยโครงการฯ มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และวิทยาการคำนวณเพื่อส่งเสริมให้กับครูไทยเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เป็นพลังขับเคลื่อนการพลิกโฉมรูปแบบการศึกษาไทย ควบคู่ไปกับความรู้วิธีการและหลักการปฎิบัติที่เหมาะสมและปลอดภัยในโลกดิจิทัล
“โครงการฯ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในห้องเรียน ตัวโครงการมุ่งเน้นให้ผู้เข้าร่วมใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อย และการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างสมาชิกในกลุ่ม โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้สมาชิกสวมบทบาทสมมุติ เช่น ให้เราลองรับบทเป็นผู้บริหาร อีกคนเป็นเลขาก่อนจะสลับเวียนตำแหน่งกันไป ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้มองภาพจากหลายมิติมากขึ้น ซึ่งสะท้อนการทำงานจริงในยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ โครงการฯ ยังช่วยให้ครูได้ตระหนักถึงความสำคัญของสื่อดิจิทัล และการสืบค้นเพิ่มเติม และครูก็ได้เรียนรู้หลักปฎิบัติที่เหมาะสม เพื่อมาถ่ายทอดให้กับนักเรียนรู้วิธีการใช้สื่อดิจิทัลให้ปลอดภัย และเกิดประโยชน์กับตัวนักเรียน เพราะโลกออนไลน์กับเยาวชนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ครูต้องหมั่นดูแลเด็กๆใกล้ชิด”
ครูพัฒนพงศ์ กล่าวเสริมด้วยความประทับใจว่า “เทคนิคอีกอย่างที่ได้จากโครงการฯคือ ครูสามารถแต่งเติมลูกเล่นและบูรณาการวิชาคณิตศาสตร์กับวิชาอื่น ๆ ได้ ครูทำหน้าที่เป็นวิทยากร คอยรับฟังไอเดียของนักเรียน อาศัยประสบการณ์ของเราชี้แนะและสะท้อนผลลัพธ์ออกมา ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องนั่งฟังเพียงฝ่ายเดียว แต่มีโอกาสได้ออกความคิดเห็น ตีโจทย์ และต่อยอดได้อย่างอิสระ โดยนักเรียนจะได้สืบค้นนอกห้องเรียน ก่อนจะสร้าง Project ของตัวเองขึ้นมา ดังนั้นแต่ละกลุ่มจะมีเนื้อหาที่ต่างกันมาก ขึ้นอยู่กับจุดแข็งหรือความถนัดของสมาชิกในกลุ่ม แต่ละคนจะได้นำจุดแข็งมาเสริมจุดอ่อนของกันและกัน ขึ้นรูปเป็นโปรเจกในที่สุด”
ทักษะ 4C ที่สอนในระบบของ E-PBL (การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร) มีความสำคัญต่อความสำเร็จในศตวรรษที่ 21 หากครูท่านอื่นๆ ได้รับการฝึกอบรมเช่นเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิด “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของครูและนักเรียนไทยต่อไปอย่างยั่งยืน
“หากเป็นไปได้ก็อยากได้มีโครงการดี ๆ แบบนี้อีกในปีถัดไป ผู้เข้าร่วมโครงการได้พัฒนาทักษะการใช้สารสนเทศ การค้นคว้าอย่างมีจุดประสงค์ ครูสามารถสร้างโจทย์ใหม่ ๆ มาให้นักเรียนได้วิเคราะห์ หรือกระทั่งนำโจทย์นั้นไปประยุกต์ใช้กับหมวดสาระอื่น ๆ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ก้าวออกนอกกรอบ เกิดเป็นการเรียนรู้ไร้พรมแดนและยั่งยืน” คุณครูพัฒนพงศ์กล่าวปิดท้าย