เป็นระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ ครูสุมณฑา เอมเอก มีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่เห็นตนเองมีความก้าวหน้าในวิชาชีพและทุ่มเทแรงกายเพื่อฝึกฝนหาความรู้ให้กับตนเองอยู่เสมอ แม้จะได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมหลายครั้งแต่ก็มักเป็นการนั่งฟังการบรรยายด้วยเนื้อหาเดิมๆซ้ำไปซ้ำมา อย่างไรก็ตามครูสุมณฑาได้เริ่มรู้จักกับโครงการพัฒนาวิชาชีพครูของคีนันครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นครูสุมณฑาก็คิดว่าคงไม่มีอะไรแตกต่างไปจากเดิม และการฝึกอบรมก็คงไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ กับตนเองและนักเรียนแต่อย่างใด
นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใดที่ครูสุมณฑาตั้งคำถามถึงประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาวิชาชีพครูของคีนัน เพราะครูสุมณฑาเริ่มต้นสอนหนังสือมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2538 และก็เติบโตในวิชาชีพ สามารถก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนเทศบาล 5 วัดหัวป้อมนอก จังหวัดสงขลา แต่ถึงกระนั้น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาก็ออกนโยบายให้ครูไทย ต้องผ่านการฝึกอบรมและมีจำนวนชั่วโมงฝึกอบรมครบตามข้อกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อโอกาสในการเลื่อนขั้น ทำให้ครูไทยต้องทำงานสอนหนังสือและจำเป็นต้องหาหลักสูตรเพื่อรับการฝึกอบรมควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตามเมื่อครูสุมณฑาเริ่มฝึกอบรมกับคีนันก็พบว่ามีลักษณะการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างออกไป เพราะการฝึกอบรมส่วนมากจะจัดที่หอประชุมขนาดใหญ่ และให้ครูนั่งฟังการนำเสนอจากวิทยากรเป็นเวลาหลายชั่วโมง
“เราไม่ได้แค่นั่งฟังวิทยากรเท่านั้น แต่เราได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเอง ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงวิธีการและเทคนิคการสอนใหม่ๆ”
ครูคือส่วนสำคัญมากเพราะสิ่งที่ครูเรียนมาก็คือเนื้อหาเดียวกันที่นักเรียนจะได้เรียน และเทคนิคการสอนก็คือส่วนสำคัญที่จะช่วยยกระดับผู้เรียนให้สามารถเข้าใจสิ่งที่เรียนและเห็นผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้น ซึ่งเทคนิคสำคัญที่ว่าก็คือการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based learning) โดยครูผู้สอนจะไม่ใช้การท่องจำ แต่จะเน้นให้นักเรียนเกิดการลงมือปฎิบัติจริง และจะกระตุ้นให้เกิดการคิดวิเคราะห์เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ในโลกแห่งการทำงานจริงเพื่อค้นหาคำตอบในแต่บทเรียน ถือเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จำเป็นอันได้แก่ การสื่อสาร (Communications) การทำงานเป็นทีม (Collaborations) การคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และยังเป็นการเรียนการสอนที่มีความเกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับการเรียนสะเต็มศึกษา ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนานักเรียนไทยให้สนใจ วิชาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ และประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเองเพื่อเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในอนาคต
หลังจากผ่านการฝึกอบรมครั้งแรกครูสุมณฑาก็กลับมาที่โรงเรียนด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ หากแต่ปัญหาสำคัญเมื่อเกิดการนำรูปแบบใหม่ๆมาทดลองใช้ให้นักเรียนคิดด้วยตนเองและฝึกทำงานร่วมกันเป็นทีมก็คือ นักเรียนในชั้นเรียนยังคุ้นเคยกับการสอนแบบเดิมที่มีครูคอยป้อนทุกอย่างให้ ทำให้นักเรียนหลายคนขอร้องให้ครูสุมณฑาบอกคำตอบสุดท้ายเพื่อจะคอยท่องจำอย่างเดียว
การจะปรับเปลี่ยนเรื่องอะไรก็ตามย่อมต้องใช้เวลาคุ้นชิน การเรียนการสอนที่เน้นการท่องจำก็คือรูปแบบการศึกษาที่ใช้กันมายาวนานในประเทศไทย ครูหลายคนในปัจจุบันก็ย่อมเคยผ่านการศึกษาลักษณะนี้มาก่อนเมื่อตอนเป็นนักเรียน
เมื่อรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องใช้เวลา โครงการพัฒนาวิชาชีพครูของคีนัน จึงไม่หยุดการฝึกอบรมไว้เพียงแค่ในห้องเรียน คีนันเล็งเห็นความสำคัญของการจัดตั้ง “ชุมชนแห่งการเรียนรู้” (PLC) เพื่อหลังจากที่ครูได้ผ่านการฝึกอบรมแล้ว จะยังคงสามารถได้รับคำแนะนำจากครูพี่เลี้ยงในเครือข่ายที่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาจากการท่องจำไปสู่การเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (inquiry-based learning)
ความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมและการได้รับคำปรึกษาจากครูพี่เลี้ยงในเครือข่ายทำให้ครูสุมณฑามีความมั่นใจในทักษะใหม่ที่ได้รับนี้มากยิ่งขึ้น และการได้รับอุปกรณ์การเรียนจากคีนันก็ช่วยให้ครูสุมณฑาสามารถถ่ายทอดเทคนิคการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ และช่วยให้นักเรียนได้เรียนด้วยการลงมือปฎิบัติจริง ได้ฝึกคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหา มีความมั่นใจคิดหาคำตอบด้วยตนเอง และนำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่ดีขึ้นสำหรับนักเรียนหลายคนในชั้นเรียน
“ก่อนหน้านี้ไม่เคยมั่นใจเลยว่าโครงการฯจะช่วยให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีจริง แต่เมื่อได้เห็นนักเรียนกระตือรือร้น ได้คิดวิเคราะห์และรักการเรียนวิทยาศาสตร์มากขึ้น คนเป็นครูก็ดีใจเป็นอย่างมาก”
ถึงตอนนี้นักเรียนหลายๆคนของครูสุมณฑา สนุกที่จะลงมือทดลองและพยายามหาคำตอบด้วยตนเองเป็นหลัก และถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่เราได้เห็นเยาวชนนักเรียนเหล่านี้รักการเรียนวิทยาศาสตร์และหมั่นฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และมีความพร้อมที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติได้ต่อไปในอนาคต
หากท่านประสงค์อ่านเนื้อหา“โครงการพัฒนาวิชาชีพครูของคีนัน” เพิ่มเติม ท่านสามารถเข้าไปอ่านได้ที่ www.kenan-asia.org/th/teacher-professional-development