คุณ วราลักษณ์ สีระคาม หรือครูอิค มีความชื่นชอบวิชาเคมีเป็นชีวิตจิตใจ ความหลงใหลในวิชาวิทยาศาสตร์นี่เองทำให้ครูอิครู้สึกอยากย้อนเวลากลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง เมื่อตอนยังเป็นนักเรียน
“ฉันชอบที่จะสังเกตและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ” ครูอิคกล่าว “ฉันชอบเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเล็กมาก และฉันก็มีความสุขที่ได้อธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ให้ผู้อื่นเห็นภาพและเข้าใจได้”
ครูอิคสอนวิชาเคมีที่โรงเรียนมัญจาศึกษา ในจังหวัดขอนแก่นมานานกว่า 11 ปี
แต่ห้องเรียนเคมีของครูอิคในวันนี้มีความแตกต่างออกไปจากเดิม มีเพื่อนครูเพิ่มมากขึ้นจากแต่ก่อนอีกกว่า 31 คน ครูอิคถือเป็น Master Teacher ซึ่งได้ผ่านการเข้าร่วมฝึกอบรมกับคีนัน ทำให้ครูอิคมีวิธีการจัดการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และยังได้ช่วยให้เพื่อนครูด้วยกันสามารถนำวิธีการสอนซึ่งเน้นผลลัพธ์ขั้นสูงนี้มาถ่ายทอดสู่นักเรียนด้วยการนำรูปแบบการเรียนรู้แบบสืบหาความรู้ (inquiry-based learning) ทำให้นักเรียนเกิดความกระตือรือร้นและเรียนรู้ด้วยการฝึกตั้งคำถามเพื่อวิเคราะห์ค้นหาคำตอบด้วยตนเอง
และเมื่อครูอิคได้มีโอกาสพบกันเพื่อนครูด้วยกันในฐานะครูและนักเรียน เพราะในครั้งนี้ครูอิคได้รับบทบาทเป็นครูผู้สอนวิชาเคมีในหัวข้อคุณสมบัติของสสาร โดยครูผู้เข้าอบรมทั้งหมดมาจากโรงเรียนของรัฐในจังหวัดระยอง ภายใต้การสนับสนุนโครงการโดยมูลนิธิไอวีแอลของบริษัทอินโดรามาเวนเจอร์สจำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ร่วมมือกับมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย จัดโครงการพัฒนาวิชาชีพครูขึ้นในจังหวัดระยอง เพื่อพัฒนาการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับครูไทยเกิดทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการปรับเปลี่ยนรูปแบบการศึกษาไทยต่อไป สำหรับกิจกรรมครั้งนี้ ครูจะแบ่งกลุ่มออกเป็นกลุ่มละ 4 หรือ 5 คน ทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์ร่วมกัน เพื่อทดลองใช้ความร้อนและสังเกตุดูการเลี่ยนแปลงของเหลวต่าง ๆ บนชุดบีกเกอร์ที่ให้มา
ครูอิคเล่าต่อว่าน้องสาวของครูอิคซึ่งก็เป็นครูเหมือนกัน เคยเข้าร่วมโครงการกับคีนันมาก่อนและมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทำให้ครูอิคเองก็อยากที่จะได้รับโอกาสเรียนรู้เช่นเดียวกัน
หลังจากครูอิคได้รับโอกาสเข้าร่วมฝึกอบรม สิ่งที่ครูอิคเกิดเป็นแรงบันดาลใจในวิชาชีพครูก็คือ วิธีการฝึกอบรมที่คีนันมอบให้เป็นวิธีที่แตกต่างออกไปจากเดิม การสร้างบรรยากาศการเรียนการสอนที่เน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียน และเปิดโอกาสให้นักเรียนฝึกคิดด้วยตนเองแทนที่จะนั่งฟังรอคำตอบเพื่อท่องจำไปสอบเหมือนแต่ก่อน ช่วยให้ผู้เรียนและผู้สอนมีความสนุกและเกิดเป็นความรู้สึกที่ดีในการเรียนร่วมกัน
“ฉันสังเกตเห็นว่านักเรียนมีความเชื่อมั่นในตัวเองเวลาออกมาพูดหรือนำเสนองานหน้าชั้นเรียนมากขึ้น นักเรียนแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกันและช่วยกันคิดวิเคราะห์หาคำตอบมากกว่าในอดีต”
โรงเรียนในประเทศไทยหลายๆโรงเรียน จะเน้นการสอนให้นักเรียนคุ้นเคยกับการท่องจำคำตอบเพื่อไปสอบ และด้วยวิธีการเรียนการสอนลักษณะนี้เอง ทำให้นักเรียนรู้สึกกลัวหากจำคำตอบไม่ถูกต้องและอายเพื่อนร่วมชั้นถ้าพูดอะไรผิดไปจากเดิม
“นักเรียนมักจะไม่กล้าที่จะตอบคำถามหรือพูดหน้าชั้นเรียน ทำให้กว่าครูจะรู้ว่านักเรียนไม่เข้าใจบทเรียนก็ต่อเมื่อนักเรียนเริ่มมีคำถามเท่านั้น บางทีถ้าเด็กไม่กล้าถามเลยครูก็ยิ่งไม่รู้ว่าสิ่งที่สอนไปไม่ถึงผู้เรียน”
ด้วยความมั่นใจในทักษะที่ได้รับจากการเข้าร่วมฝึกอบรม ครูอิคก็สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงห้องเรียนวิทยาศาสตร์ให้มีความสนุกและเกิดการมีส่วนร่วมในชั้นเรียน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งด้วยอุปกรณ์ใหม่ที่ครูอิคได้รับมาจากโครงการฯ ทำให้ ครูอิคสามารถออกแบบกิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ใหม่ๆได้ และเหมาะสมกับจำนวนผู้เรียนในแต่ละฐานกิจกรรม
“ถ้าเราแบ่งนักเรียนให้น้อยลงในแต่ละกลุ่มทุกคนก็จะสามารถใช้อุปกรณ์ได้ครบ ซึ่งถือเป็นเรื่องจำเป็นและมีผลต่อความเข้าใจในการเรียนอย่างมาก”
ด้วยการสนับสนุนของมูลนิธิไอวีแอล ทำให้ครูจากโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดระยองสามารถมีห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่เพรียบพร้อมด้วยอุปกรณ์หรือวัสดุที่ทันสมัย และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ ครูหลาย ๆ คนได้รับทักษะที่เกิดจากการทำงานร่วมกันและได้นำไปใช้เพื่อพัฒนาอาชีพของตนเองให้มีประสิทธิภาพในการสอนมากยิ่งขึ้น
“ฉันมีโอกาสได้พบกับครูหลาย ๆ ท่านที่มาจากโรงเรียนรัฐทั่วประเทศไทย ถ้าหากมีคนถามว่าเป็น Master Teacher แล้วได้อะไร สิ่งแรกเลยก็คือมิตรภาพร่วมกับครูวิทยากร และเจ้าหน้าที่จากคีนัน เรามีความใกล้ชิดกันมากเพราะเราพบกันบ่อยครั้งและทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยกันคิดและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน”
ครูอิคกล่าวปิดท้ายด้วยรอยยิ้มแห่งความสุขว่า
“เราต่างก็เป็นครูวิทยาศาสตร์ และเราก็คือครอบครัวเดียวกัน”