เราหลงรักการเรียนรู้เพราะอะไรกันนะ ใช่สัมผัสที่ได้ถือหลอดทดลองไหม หรือเพราะภาพที่สารละลายใสไร้สีค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีส้ม อะไรคือแรงผลักดันให้เราศึกษาและจดจำข้อมูลมากมายเพื่อร้อยเรียงออกมาเป็นบทเรียนที่นักเรียนอยากฟัง
คุณครู พิกุลทอง ศรีแสงอ่อน มีคำถามเหล่านี้อยู่ในใจมาตลอด เธอเชื่อว่าวิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ บนโลก ดังนั้น เธอจึงอยากถ่ายทอดเชื่อมโยงวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันให้กับนักเรียนในโรงเรียนบ้านโคกกะเทียม (ราษฎร์ดำริบำรุง) ซึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรม นอกจากนั้น ด้วยประสบการณ์สอนวิทยาศาสตร์กว่า 20 ปี และหัวใจที่เปิดกว้าง คุณพิกุลทองมักจะช่วยเหลือนักศึกษาครูรุ่นใหม่อย่างเต็มที่อยู่เสมอ
โครงการพัฒนาวิชาชีพครูที่จังหวัดลพบุรีเกิดจากการร่วมมือกันของมูลนิธิคีนันแห่งเอเซียและมูลนิธิไอวีแอล เมื่อครั้งที่คุณพิกุลทองเข้ารับการอบรมในโครงการฯ พร้อมกับบุคลากรทางการศึกษาอีก 29 ท่าน ตอนนั้นเป็นช่วงเดียวกับที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้เธออดกังวลไม่ได้ ยิ่งเธอต้องดูแลแม่ที่อายุมากแล้ว หากติดเชื้อขึ้นมาคงไม่ใช่เรื่องดีนัก คุณพิกุลทองถึงกับแอบถามผู้อำนวยการโรงเรียนแบบทีเล่นทีจริงว่า “ครูขอกลับบ้านตอนนี้เลยได้ไหมคะ”
เนื่องจากโรงเรียนบ้านโคกกะเทียม (ราษฎร์ดำริบำรุง) เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทุรกันดาร คุณพิกุลทองจึงอยากเปิดโลกให้กับนักเรียนและมอบโอกาสการเข้าถึงแหล่งข้อมูลและเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด เพราะปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนวิทยาศาสตร์อาจทำให้นักเรียนแยกห่างจากวิชานี้ไปเรื่อย ๆ และการนั่งดูคลิปการทดลองในยูทูปมีแต่จะทำให้เด็ก ๆ ขาดประสบการณ์ปฏิบัติจริง ก่อนจะกลายเป็นหมดความสนใจในวิทยาศาสตร์ไปในที่สุด
แต่ครูพิกุลทองก็ต้องประหลาดใจ เมื่อมูลนิธิไอวีแอลได้มอบอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ให้แก่โรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นหลอดทดลอง บีกเกอร์ ที่ตั้งสามขา ตะเกียงแอลกอฮอล์ รวมถึงสารเคมีที่โรงเรียนไม่สามารถจัดหาได้ง่าย แทบจะแกะกล่องพัสดุกันไม่หวาดไม่ไหวเลยทีเดียว ยิ่งจินตนาการว่าเด็ก ๆ จะตื่นเต้นขนาดไหนตอนเห็นอุปกรณ์เหล่านี้ คุณพิกุลทองก็หุบยิ้มไม่ลงแล้ว
การเรียนรู้ที่ยึดการสืบเสาะหาความรู้และลงมือปฏิบัติจริง เช่น การใช้เทอร์มอมิเตอร์วัดอุณหภูมิของน้ำผสมน้ำแข็งในบีกเกอร์ ที่มีตะเกียงแอลกอฮอล์จุดไว้ด้านล่าง กิจกรรมเหล่านี้ล้วนช่วยให้นักเรียนเกิดความสนใจและอยากเรียนรู้มากยิ่งขึ้น
ครูพิกุลทองมองว่า หากต้องการสร้างห้องเรียนที่มีบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ผู้สอนก็ต้องหมั่นพัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งความเชื่อนี้ตรงกับจุดประสงค์ของโครงการในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพครู บวกกับประสบการณ์การสอนหลายสิบปีทำให้คุณพิกุลทองรู้ว่าแนวการสอนแบบใดจะนำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ขั้นสูง เธอให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างทักษะใหม่ร่วมกับครูและผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น เธอจึงทุ่มเทให้กับโครงการฯ อย่างเต็มที่ สำหรับครูพิกุลทองแล้ว การได้รับโอกาสให้พัฒนาตัวเองและช่วยพัฒนาเพื่อนร่วมวิชาชีพมีส่วนสร้างพลังให้เธออย่างมาก เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “มีอีกหลายประเด็นที่เราอาจนึกไม่ถึงหรือเผลอมองข้ามไป [แต่เพื่อนครูคนอื่นมองเห็น] ซึ่งเราสามารถนำสิ่งเหล่านั้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในห้องเรียนได้”
โครงการพัฒนาวิชาชีพครูส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีในกลุ่มครูผู้สอน ซึ่งช่วยเสริมสร้างความมั่นคงในสถานศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่ครูและนักเรียน คุณพิกุลทองเป็นคนไม่ถือตัว ทำให้ครูรุ่นใหม่กล้าเข้าหา เห็นได้จากทัศนคติที่เปิดกว้างของเธอว่า “ไม่สำคัญว่าเราสอนหนังสือมานานแค่ไหน สิ่งที่สำคัญคือพวกเราต่างเป็นครูเหมือนกัน”
การที่ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่ตอบรับคำขอกลับบ้านของคุณพิกุลทองในวันนั้น อาจเป็นเพราะเล็งเห็นโอกาสเช่นนี้ก็เป็นได้ โดยคุณพิกุลทองยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้อีกว่า “ดีใจที่วันนั้นไม่กลับไปก่อน ไม่อย่างนั้นคงพลาดโอกาสไปแล้ว เสียดายที่เมื่อก่อนไม่มีโครงการดี ๆ แบบนี้ ไม่อย่างนั้นป่านนี้เราคงเป็นครูที่เก่งมากกว่านี้แน่ ๆ”
ในวันนี้มูลนิธิคีนันแห่งเอเซียได้จุดประกายความหวังครั้งใหม่ให้แก่ครูและนักเรียนไทย เพื่อพวกเขาจะสามารถร่วมกันพัฒนาประเทศไทยไปสู่อนาคตที่สดใส