Education

การเรียนรู้นอกห้องเรียนจะช่วยให้เด็กๆ สนุกกับการเรียนได้อย่างไร

ม.ค. 26,2023

“การออกนอกห้องเรียนและลงมือปฏิบัติจริงได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนำความรู้จากหลาย ๆ หมวดสาระและทักษะอื่น ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เด็ก ๆ จะรู้สึกตื่นเต้น และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น” คำกล่าวจาก คุณครูจิรวรรณ ณะชัย ครูวิชาคณิตศาสตร์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จังหวัดพิษณุโลก

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในความท้าทายของครูหลาย ๆ ท่านคือ การเพิ่มพูนความรู้และความสามารถของผู้เรียน เพื่อขัดเกลาและผลักดันเยาวชนให้เติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ และความท้าทายนี้ยิ่งทวีความยากขึ้นเมื่ออยู่ในบริบทของสถานศึกษาสำหรับเด็กขาดโอกาสอย่างโรงเรียนราชประชานุเคราะห์

ครูจิรวรรณได้กล่าวถึงอุปสรรคที่ต้องเผชิญในอาชีพครูของตนเองว่า “ครูจำเป็นต้องวิเคราะห์ตัวผู้เรียน เพราะเด็ก ๆ มีพื้นฐานและทักษะที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กที่ขาดโอกาส ทั้งด้านทรัพยากรและประสบการณ์จากการเรียนรู้จริงกับอุปกรณ์การเรียนที่มีคุณภาพ”

แม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่เพรียบพร้อมในด้านทรัพยากรมากนัก แต่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 ก็จะไม่หยุดพัฒนาศักยภาพของนักเรียนให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการคิดวิเคราะห์ที่เป็นเลิศ ปัจจุบันโรงเรียนกำลังดำเนินโครงการสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) ประจวบเหมาะกับช่วงที่มูลนิธิคีนันและบริษัท Facebook ได้ร่วมมือกันจัดตั้งโครงการ “We Think Digital” ขึ้น เพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ 4C (การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร) พร้อมเสนอแนะการใช้ดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

“ตอนนี้โรงเรียนกำลังทำโครงงานสมุนไพรไล่ยุง โครงการ“We Think Digital” มีส่วนช่วยโรงเรียนอย่างมาก เพราะโครงการทำให้ครูผู้เข้าร่วมอบรม มองเห็นความสำคัญของการคิดที่เป็นระบบ และการแก้ไขปัญหาอย่างมีชั้นเชิง ซึ่งเนื้อหาตรงนี้เองที่ครูจะนำมาปรับใช้ในการทำโครงงานร่วมกับนักเรียน

ครูจะวางแผนการทำโครงงานอย่างเป็นขั้นตอน โดยเริ่มแรกครูจะพานักเรียนออกไปสำรวจสมุนไพรในโรงเรียน ศึกษาชนิดและประโยชน์ของพืชในท้องถิ่น ก่อนจะสรุปออกมาเป็นองค์ความรู้ การออกนอกห้องเรียนและลงมือปฏิบัติจริงได้เปิดโอกาสให้นักเรียนนำความรู้จากหลาย ๆ หมวดสาระและทักษะอื่น ๆ มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เด็ก ๆ ก็รู้สึกตื่นเต้น และกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น”

การนำเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่าน โครงงาน หรือ “Enhanced Project-Based Learning” (E-PBL) มาปรับใช้ในการเรียนการสอน ทำให้นักเรียนมองเห็นความสำคัญของเนื้อหาวิชาเรียนผ่านชีวิตประจำวัน และเกิดเป็นบรรยากาศการเรียนที่มีการใช้ทักษะ 4C (การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร) อย่างเห็นได้ชัด เพราะครูจะเห็นเด็ก ๆ สนุกกับการคิดร่วมกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเสนออย่างสร้างสรรค์ ชั้นเรียนก็จะไม่เหงาหงอย และมีแต่ครูพูดอยู่คนเดียว จนนักเรียนนั่งเบื่อหรือนั่งหลับอีกต่อไป

นอกจากนี้ ครูจิรวรรณ กล่าวเสริมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลด้วยความประทับใจว่า “โครงการพูดถึงการใช้สื่อออนไลน์อย่างสร้างสรรค์และเป็นมิตรกับเยาวชน วิทยากรได้นำเสนอรายละเอียดปลีกย่อยที่บางครั้งเราอาจไม่ทันสังเกต เช่น การใช้คำพูดเชิงบวก ให้กำลังใจเพื่อน เพื่อสร้างบรรยากาศชุมชนออนไลน์ให้น่าอยู่และปลอดภัยกับผู้ใช้”

“อยากให้ครูท่านอื่น ๆ ได้มีโอกาสฝึกอบรมกับโครงการดี ๆ เช่นนี้ เพื่อให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ หรือ PLC ถ้าครูทุก ๆ ท่านได้รับโอกาสเหมือนกัน ก็จะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างครูด้วยกัน ประโยชน์ย่อมเกิดกับโรงเรียน และนักเรียนในรุ่นต่อไป ๆ ก็จะยิ่งได้เจอครูที่มีความรอบรู้ ทันสมัย นักเรียนย่อมมีความสุข และอยากจะเรียนมากยิ่งขึ้น” ครูจิรวรรณ กล่าวปิดท้าย

 

Share this article

Latest.

โครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง: เคล็ด (ไม่ลับ) เพื่อ “แม่หญิงเจ้าของธุรกิจ”เติมไฟแห่งความหวัง สู่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

เส้นทางการประกอบอาชีพของ

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ