Education

เกมและการเรียนรู้จะฝึกเด็กๆ ให้เรียนวิทยาศาสตร์ได้อย่างไร

ม.ค. 26,2023

“วิชาวิทยาศาสตร์ เป็นวิชาที่มีเนื้อหาหลายอย่างที่ต้องอาศัยการจดจำ หากสอนแบบเดิม ๆ ที่ให้นักเรียนไปท่องมาก็ออกจะน่าเบื่อเกินไป” คำกล่าวจาก ครูชมพูนุช ริมหนองเรือ ครูวิชาวิทยาศาสตร์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 จังหวัดบุรีรัมย์ ถือเป็นหนึ่งในโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลที่มุ่งเน้นการจัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสด้วยการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

ครูชมพูนุช เริ่มอาชีพครูมาได้ราวสามปีกว่า ซึ่งก็อาจกล่าวได้ว่า ครู ชมพูนุช ถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในยุคที่เทคโนโลยีได้พัฒนาและเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของมนุษย์  ครูชมพูนุชจึงต้องการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้ มาปรับใช้ในห้องเรียน ด้วยความเชื่อที่ว่าการเรียนรู้สามารถเป็นเรื่องที่สนุกสนานได้ หากแต่แนวคิดดังกล่าวก็ไม่อาจก่อร่างเป็นรูปธรรมได้ง่ายนัก เนื่องจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 51 ก็ยังขาดทรัพยากรในหลายด้านๆ ทำให้ขั้นตอนการดำเนินงานหลายจุดจึงยังเดินหน้าได้ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม เมื่อครูชมพูนุช ได้มีโอกาสมาเจอกับโครงการ “We Think Digital” ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย และได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท Facebook ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้เกิดกับบุคลากรทางการศึกษา และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล และการใช้สื่อโซเชี่ยลอย่างสร้างสรรค์  ครูชมพูนุช จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการฯ เพราะตรงตามความสนใจของคุณครูชมพูนุชพอดี

“ครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีเนื้อหาหลายอย่างที่ต้องอาศัยการจดจำ หากสอนแบบเดิม ๆ ที่ให้นักเรียนไปท่องมาก็ออกจะน่าเบื่อเกินไป ครูจึงลองนำคาฮูท (Kahoot) มาให้นักเรียนเล่น เมื่อเด็ก ๆ ได้เล่นเกมหรือทำอะไรที่ต่างออกไปจากกิจกรรมปกติในชั้นเรียน พวกเขาก็จะตื่นตัวเป็นพิเศษ เด็ก ๆ สามารถสนุกกับเกมและซึมซับเนื้อหาสาระในเวลาเดียวกันได้ หลังจากที่เล่นเกมเสร็จจะมีการสรุปเนื้อหา เพื่อให้นักเรียนสามารถทำความเข้าใจได้อย่างเป็นระบบยิ่งขึ้น”

นอกจากการนำแอพพลิเคชั่นใหม่ ๆ มาใช้แล้ว ทางโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ยังตั้งใจจะทำโครงการเรียนรู้ผ่านโครงงาน หรือ “Enhanced Project-based Learning” (EPBL) อีกด้วย แม้ว่าโครงงานดังกล่าวจะอยู่ในขั้นตอนการวางแผน แต่คุณครูชมพูนุชก็เล่ารายละเอียดให้เราฟังอย่างกระตือรือร้นว่า

“จากการได้เข้าร่วมโครงการฯ ครูมองว่าหากเรามีการเรียนด้วยการใช้โครงงานเป็นฐาน การเรียนรู้จะสามารถเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลองลงมือทำ และสามารถส่งเสริมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้ โรงเรียนกำลังวางแผนจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานในภาคการศึกษาหน้า เป็นวิชาคณิตศาสตร์ของชั้นประถมปีที่ 6 ซึ่งครูเองก็มีส่วนให้คำปรึกษาในการทำโครงงานนี้”

โครงงานมีชื่อว่า “เรขาคณิตพิชิตการพับผ้า” จุดประสงค์หลัก คือ การสอนให้นักเรียนรู้จักรูปทรงเรขาคณิต ก่อนอื่นครูจะสอนเลขาคณิตพื้นฐาน และสอนวิธีการพับผ้า หลังจากนั้นจะมอบโจทย์ให้นักเรียนลองพับผ้าเป็นรูปทรงเลขาคณิตแบบต่าง ๆ นักเรียนต้องฝึกคำนวน และวิเคราะห์หาวิธี เพื่อจะให้ผ้าใส่กระเป๋าได้พอดี

จุดประสงค์ของการเรียนลักษณะนี้คือ นักเรียนจะได้เห็นความสำคัญของเนื้อหาวิชาเรียนผ่านชีวิตประจำวัน และเกิดเป็นบรรยากาศการเรียนที่มีการใช้ทักษะ 4C  (การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การทำงานร่วมกัน และการสื่อสาร) อย่างเห็นได้ชัด เพราะครูจะเห็นเด็กๆสนุกกับการคิดร่วมกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเสนออย่างสร้างสรรค์ ชั้นเรียนก็จะไม่เหงาหงอย ที่มีแต่ครูพูดอยู่คนเดียว

“นอกจากนักเรียนจะได้รับความรู้ด้านวิชาการแล้ว ยังได้ฝึกทักษะที่ต้องใช้ในชีวิตจริง ด้วยการลงมือฝึกทำ เจอปัญหาก็ต้องช่วยกันคิดและแก้ไข ดังนั้นแล้วการนำเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียนรู้ผ่านโครงงาน หรือ “Enhanced Project-based Learning” (E-PBL) มาใช้ นอกจากทฤษฏีที่ต้องเรียนตามหลักสูตรแล้ว เด็ก ๆ ยังได้รับทั้งความสนุกสนาน และความรู้จากนอกตำราอีกด้วย” ครูชมพูนุช กล่าวปิดท้าย

Share this article

Latest.

People at Kenan: คุณจารุศรี จิรวิสิฐกุล

การศึกษาคือรากฐานสำคัญของ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ

“ชีวิตที่ถูกค้นเจอ” ผ่านโครงการ WE Inspire ประกายฝันปั้นหญิง

ไม่ใช่เรื่องง่ายในการคาดเ